Wednesday, November 23, 2011

ความอยุติธรรมตามกฎหมาย

http://www.prachatai.com/journal/2011/11/38003

นักปรัชญาชายขอบ: ความอยุติธรรมตามกฎหมาย

“สังคมที่มีความเจริญทางจิตใจสูงขึ้นมากว่าระดับพื้นๆ ของสัตว์เดรัจฉาน ไม่จำคุกคน 10-20 ปี เพียงเพราะ "คำ" ข้ออ้างที่ว่า เพราะ "คำ" เหล่านั้น ทำร้าย "ความรู้สึก" ของ "คนส่วนใหญ่" [?] ก็ต้องถามว่า "ความรู้สึก" ดังกล่าว จะมีคุณค่าอะไร ถ้าต้องใช้วิธีป่าเถื่อนเช่นนี้มาคอยปกป้องรักษาไว้?”

                                                                                    สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ที่มา: ประชาไท)

 
นั่นคือปฏิกิริยาหนึ่ง หลังจากทราบข่าวกรณีศาลพิพากษาคดีที่นายนายอำพล (สงวนนามกุล) อายุ 61 ปี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “อากง” ซึ่งถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ดัง “คำพิพากษา” ตอนหนึ่งว่า 

“โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาททำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้การส่งเอสเอ็มเอสจะต้องส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก่อนประมวลผลไปถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลายทาง ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ประกอบข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร 

จำเลยจึงมีความผิดตาม มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 มาตรา 14 (2) และ (3) การกระทำของจำเลยมีหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นโทษหนักสุด ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี ความผิด 4 กระทง รวมโทษจำคุกทั้งหมด 20 ปี” (ประชาไท, 23 พ.ย.54)

ผมเองไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมาย แต่ก็เข้าใจว่ากฎหมายคือเครื่องมือรักษา “ความยุติธรรม” ทว่าหลังจากศาลตัดสินจำคุก “อากง” 20 ปี และมานึกย้อนไปถึงกรณีจำคุก ดา ตอร์ปิโด 18 ปี เรื่อยมาถึงคดีเสื้อแดงระดับชาวบ้านธรรมดาๆ เผาศาลากลางจังหวัดที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว 20 ปี บ้าง 30 ปี บ้าง ผมชักไม่แน่ใจว่าบ้านเรามีกฎหมายเอาไว้เพื่อรักษา “ความยุติธรรม” จริงหรือไม่

“ความยุติธรรม” (justice) คืออะไร? แน่นอนว่าในทางทฤษฎีมันอาจจะเถียงกันได้มาก แต่ถ้าถามอย่างตรงไปตรงมา ทำไม “ความยุติธรรมตามกฎหมาย” ของประเทศนี้จึงขัดแย้งกับ “ความยุติธรรมตามสามัญสำนึกของมนุษย์” ได้ขนาดนี้? นั่นคือมันเป็นไปได้อย่างไรที่คนสั่งและคน “ใช้ปืนยิง” นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาคในความเป็นคน ความเป็นธรรม ประชาธิปไตย ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 พฤษภา 53 จึงไม่เคยติดคุกแม้แต่วินาทีเดียว แต่คนที่ใช้ “คำพูดหมิ่นประมาท” จึงต้องติดคุกถึง 20 ปี  

โดยเฉพาะชายชราอายุ 61 ปี ที่สุขภาพแย่ เป็นแค่ชาวบ้านตาสีตาสาคนหนึ่ง ถามจริงๆ เถอะในสังคมที่มีลำดับชนชั้นสูง-ต่ำอยู่จริงเช่นนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรักพระมหากษัตริย์และพระราชินีทุกวัน วันละหลายเวลาเช่นนี้  ”คำหมิ่นประมาท” ของชายชราผู้ต่ำต้อยติดดินขนาดนี้ จะส่งผลสะเทือนใดๆ ต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของพระมหากษัตริย์และพระราชินีได้จริงหรือ? จะก่อให้เกิดความเกลียดชังแก่ท่านทั้งสองได้จริงหรือ? จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อความมั่นคงของประเทศนี้ได้จริงหรือ?

ผมไม่ได้บอกว่า “คำหมิ่นประมาท” นั้นไม่ผิด แต่ผมเชื่อเกินล้านเปอร์เซ็นว่า สถานะอันศักดิ์สิทธิ์สูงส่งของพระมหากษัตริย์และพระราชินี และความมั่นคงของประเทศนี้ไม่ได้ “เปราะบาง” ขนาดนั้น แค่คำพูดของตาสีตาสาคนหนึ่งโดย “ความเป็นจริง” แล้ว ไม่มีทางที่มันจะทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์และพระราชินีต้องลดความศักดิ์สิทธิ์ลง หรือจะทำให้ประเทศนี้จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่มั่นคง จนประชาชนในสังคมนี้สมควรที่จะลงโทษเขาด้วยการจำคุกถึง 20 ปี (หากอำนาจตุลาการหมายถึงอำนาจ 1 ใน 3 ของประชาชน)

หากอำนาจตุลาการเป็นอำนาจหนึ่งของประชาชน และกฎหมายก็คือเครื่องมือรักษา “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนอย่างเสมอภาค และ “ดุลพินิจของศาล” ก็มีความหมายต่อการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความยุติธรรม แต่ปรากฏการณ์ของการตัดสินจำคุก “อากง” 20 ปี จำคุก ดา ตอร์ปิโด 18 ปี เรื่อยมาถึงคดีเสื้อแดงระดับชาวบ้านธรรมดาๆ เผาศาลากลางจังหวัดที่ถูกตัดสินจำคุกไปแล้ว 20 ปี บ้าง 30 ปี บ้าง ทำให้ผมนึกถึงข้อสังเกตของนักวิชาการบางคนว่า

ผู้พิพากษาและนักกฎหมายในบ้านเราอาจเก่งในเรื่องการตีความ “ตัวบท” และ “เทคนิค” ทางกฎหมายก็จริง แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจ “ความยุติธรรม” เพราะพวกเขาไม่ได้เรียนอย่างจริงจัง ไม่สนใจอ่านงานประเภทนิติปรัชญา ปรัชญาการเมือง ไม่สนใจเรื่องรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา หรือความเป็นมนุษย์ในมิติที่หลากหลาย ฉะนั้น พวกเขาจึงมองความยุติธรรมจากทัศนะที่คับแคบ ยึดความยุติธรรมตามตัวอักษร ตามอำนาจนำหรืออำนาจของฝ่ายชนะทางการเมืองเป็นหลัก

ฉะนั้น บางครั้งโดยการใช้กฎหมายแทนที่จะอำนวยความยุติธรรมกลับเป็นการอำนวย “ความอยุติธรรม” หรือสร้าง “ความอยุติธรรมตามกฎหมาย” ขึ้นมา เพราะความไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ บริบททางสังคมการเมืองที่หมุนไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันจะให้คุณค่ามากขึ้นแก่สิทธิมนุษยชน

ผมคิดว่าหากจะมีการปฏิรูประบบตุลาการในอนาคต ข้อสังเกตข้างต้นเป็นเรื่องที่น่านำมาพิจารณาอย่างยิ่ง แต่มันมีคำถามเฉพาะหน้าที่ผมคิดว่า หากเราช่วยกันคิดอย่างจริงจังแล้วจะช่วยให้สังคมเรามีความเป็นประชาธิปไตยและมีความยุติธรรมมากขึ้น คือ

1. สังคมเราจะเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นอารยะมากขึ้น ถ้าเราจริงจังกับการตั้งคำถามว่า “ทำไมคนสั่งและใช้ปืนยิงนักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาคในความเป็นคน ความเป็นธรรม ประชาธิปไตย จึงไม่เคยติดคุกแม้แต่วินาทีเดียว แต่คนที่ใช้คำพูดหมิ่นประมาทจึงต้องติดคุกถึง 20 ปี?”

หากสังคมเราไม่เห็นว่าปัญหาเช่นนี้เป็น “ปัญหาที่ซีเรียสที่สุด” ไม่ร่วมกันคิดหาทางออกจนได้ข้อสรุปร่วมกัน ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกจะไม่มีวันสิ้นสุด คำขวัญประเภท รู้รักสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ ฯลฯ ไม่มีทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นอยู่ และที่อาจมีต่อไปในอนาคตได้

2. อะไรคือเหตุผลรองรับว่า สถาบันกษัตริย์ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้?

ตามรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ไทยเป็น “พุทธมามกะ” แปลตรงตัวว่า “ผู้นับถือพระพุทธเจ้า” ซึ่งหมายความว่าพระพุทธเจ้ามีสถานะทางศีลธรรมสูงกว่าพระมหากษัตริย์ แต่ตามหลักพระธรรมวินัยและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ พระพุทธเจ้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ แม้กระทั่งมีคนด่าพระพุทธเจ้าต่อเนื่องกันถึง 7 วัน ก็ไม่ปรากฏว่าคนเหล่านั้นได้รับโทษทางกฎหมาย ถูกประณามว่าเป็นคนบาป หรือ “ถูกล่าแม่มด” แต่อย่างใด ฉะนั้น หากแม้แต่พระพุทธเจ้าที่พระมหากษัตริย์นับถือยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ เหตุใดพระมหากษัตริย์ซึ่งมีสถานะทางศีลธรรมต่ำกว่าพระพุทธเจ้าจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นหลักทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร หรือหลักธรรมใดๆ ในพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้ากษัตริย์มีคุณธรรมนั้นๆ แล้วจะได้รับความเคารพนับถือจากผู้ใต้ปกครอง ก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลยที่อาจใช้เป็นเหตุผลรองรับสถานะที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ ฉะนั้น สถานะศักดิ์สิทธิ์ที่ตรวจสอบไม่ได้จะต้องมีที่มาจากอุดมการณ์อื่น ไม่ใช่อุดมการณ์พุทธศาสนา

อุดมการณ์อื่นที่ว่านี้คือ “อุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์” นั่นเอง แต่จากคำบอกเล่าของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์(ถ้าคลาดเคลื่อน ท่านผู้รู้โปรดทักท้วงด้วย) ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์คดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี โทษจำคุก 15 ปี ตามมาตรา 112 เพิ่งถูกกำหนดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยรัฐบาลเผด็จการธานินทร์ กรัยวิเชียร ฉะนั้น คำถามที่เราต้องถามอย่างจริงจังก็คือ

“ทำไมในระบอบประชาธิปไตย คดีหมิ่นฯ จึงมีโทษสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทำไมเมื่อเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว สถาบันกษัตริย์จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้?”

นี่เป็นอีกปัญหาซีเรียสที่สังคมจำเป็นต้องหาคำตอบร่วมกันให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็หาความชัดเจนในความหมายของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ไม่พบ

3. หากคนส่วนใหญ่ (?) รักสถาบันกษัตริย์ ก็มีคำถามว่า ยุติธรรมหรือไม่ที่เราจะปกป้องสถาบันที่เรารักจาก “คำหมิ่นประมาท” ด้วยการจับคนขังคุก 10-20 ปี หรือยุติธรรมหรือไม่ที่เราจะอ้างเหตุผลว่าเพราะ “คำหมิ่นประมาท” ของใครก็ตามที่ “กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ (?)” เราจึงควรจับเขาขังคุก 10-20 ปี

“อากง” คือชายชราชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่เขาคือ “คน” ที่มีความเป็นคนเท่าเทียมกับความเป็นคนของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และเขาคือ “ประชาชน” ที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เจ้าของประเทศนี้เท่าเทียมกับประชาชนทุกคน สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

และหากวันนี้อากงถูกจำคุก 20 ปี หมายถึงเขาได้รับ “ความอยุติธรรม” เราต้องตระหนักอย่างชัดแจ้งว่า นั่นคือ “ความอยุติธรรมของเราทุกคน” ที่เป็นประชาชนคนธรรมดาเช่นเดียวกับอากง!

 

No comments:

Post a Comment