Thursday, December 1, 2011

ศักดิ์ศรีของรัฐบาล

http://www.democracy100percent.blogspot.com/


คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?

เรื่อง ศักดิ์ศรีของรัฐบาล

โดย กาหลิบ

   

บางครั้งในระหว่างการต่อสู้ เราเผลอไผลให้ความสำคัญกับฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป เราเก็บรายละเอียดหมดว่าเขาทำอะไร เคลื่อนไหวอย่างไร ใช้ใครทำงาน และนำมาวิเคราะห์ประเมินผลจนบางทีก็เกินควร เราจึงมองข้ามคนสำคัญที่เราสามารถควบคุมได้มากกว่าฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรู นั่นคือก็ตัวเราเอง

   

รู้กันทั่วแล้วว่าแผนรุกฆาตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกำลังก่อตัวขึ้น และเราก็ควรวิเคราะห์ฝ่ายเขาให้ชัด แต่คำถามที่สำคัญที่ลืมถามไม่ได้คือ แล้วตัวรัฐบาลเองเล่าทำอะไรได้บ้างระหว่างนี้?

    

ถึงรัฐบาลปัจจุบันจะประสบกับสภาพปัญหา รัฐซ้อนรัฐ” มีคนชักใยให้อำนาจหน่วยงานต่างๆ อยู่เบื้องหลังประหนึ่งว่าเป็นรัฐบาลตัวจริงของราชอาณาจักร แต่มิได้หมายความว่ารัฐบาลจะไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง ยังมีอำนาจหลายอย่างอยู่ในมือของรัฐบาลและรัฐบาลก็ยังควบคุมสถานการณ์ได้อยู่

   

จะขอพูดเฉพาะอำนาจที่รับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นของรัฐบาลและเว้นอำนาจอื่นๆ ที่คงไม่ต้องประกาศให้ฝ่ายตรงข้ามมาร่วมรับรู้

   

อันดับแรก รัฐบาลต้องตรวจกำลังพลในหน่วยงานต่างๆ ทั้งพลเรือนและทหารเสียแต่บัดนี้ว่า ใครที่สามารถพึ่งพาในยามวิกฤติได้บ้าง การทดสอบว่าไว้วางใจได้ขนาดไหนมีสูตรอยู่แล้ว ไม่ต้องมากล่าวย้ำซ้ำทวนในที่นี้ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี จนที่ปรึกษาลอยของผู้มีอำนาจต่างๆ ในรัฐบาล สามารถเริ่มทำงานนี้ได้ในทันที งานที่ควรนำมาทดสอบก็เป็นงานที่ต้อง เลือกข้าง” ให้ชัดเจน อย่าเปิดโอกาสให้นกสองหัวหรือคนหลายหน้ามีชีวิตที่เป็นสุขนัก

  

ใครที่มอบงานไปหรือทดสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องโยกย้ายเปลี่ยนแปลงเสียในทันที ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้แนวร่วมเพิ่มเพราะโกรธเกลียดฝ่ายเรา ถือเป็นศิลปะส่วนตัวของแต่ละคน อายุปูนนี้กันแล้วคงไม่ต้องมานั่งเขียนบทให้กัน

   

อันดับสอง รัฐบาลต้องไม่ยอมให้หน่วยงานใต้สังกัดทำตัวเสมือนรัฐอิสระ ในกรณีน้ำท่วมนี่ก็เห็นชัดจากกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการบางจังหวัด และกรุงเทพมหานคร กองทัพบก เป็นอาทิ วิธีการหนึ่งคือเรียกผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานนั้นๆ มาประจำการอยู่กับศูนย์อำนาจของรัฐบาลโดยไม่ให้คลาดสายตา หากหมายเลขหนึ่งของหน่วยงานใดทำท่าอิดเอื้อนหรือปฏิเสธ คล้ายๆ กรณีอธิบดีกรมชลประทานที่ส่งรองอธิบดีมาแทน ก็เปลี่ยนอธิบดีนั้นเสีย ใครจะโทรศัพท์มาขู่ว่าใครเป็นคนของใครก็อย่าได้นำพา ถือโอกาสว่าเป็นภัยพิบัติของบ้านเมือง แล้วก็เดินหน้าต่อไป

   

รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ที่จะวางกำลังพลให้ตนทำงานตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ถึงข้าราชการมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อตุลาการศาลปกครองได้หากรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งก็จงเดินหน้าต่อไป ระหว่างบริหารรัฐบาลต้องใช้คนที่ใช้ได้ ปัญหาในอนาคตเอาไว้แก้ไขในอนาคต อย่านำมาผสมกันจนก้าวขาไม่ออก

   

ระลึกไว้เสมอว่านี่เป็นรัฐบาลของประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลของระบบราชการ หรือรัฐบาลของคนที่คอยควบคุมรัฐบาลอยู่หลังม่าน ข้าราชการมีคนที่จะขึ้นมาแทนกันได้เสมอ ไม่มีใครดีวิเศษขนาดหาผู้ใดแทนที่มิได้

   

อย่าลืมเช่นกันว่า ในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจโยกย้ายเปลี่ยนแปลงบุคลากรได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงชงเรื่องขึ้นมาก่อน

   

ปัญหาเรื่องนี้จะมีก็เพราะความไม่กล้า เพราะกลัวทะเลาะกับคนใหญ่ที่หนุนบุคคลนั้นๆ จากหลังม่าน หรือไม่ก็เก็บข้าราชการเลวไว้ทำประโยชน์ส่วนตัวให้ ทั้งหมดนี้ต้องขจัดให้หมดไปและประชาชนสามารถมีบทบาทในการจี้ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำเช่นนั้นได้เสมอ

   

อันดับสามและสุดท้ายในเวลานี้ รัฐบาลมีอำนาจเต็มที่ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบประมาณแผ่นดิน จะยอมให้สำนักงบประมาณหรือใครหน้าไหนมาอ้างระเบียบเล็กน้อยเพื่อขัดขวางการทำงานในยามฉุกเฉินมิได้

   

แน่นอนว่าการทำงานในระบบงบประมาณ ต้องมีการคานและถ่วงดุลในรัฐสภาเพื่อมิให้รัฐบาลกระทำผิด แต่ขั้นตอนเหล่านั้นต้องไม่ทำให้รัฐบาลไร้อำนาจหรือมีอำนาจไม่เพียงพอที่จะทำงานรับใช้ประชาชนด้วย

   

ศักดิ์ศรีของรัฐบาลเลือกตั้งได้มาจากประชาชน ต้องทำตัวให้สม.

No comments:

Post a Comment