Wednesday, December 9, 2009

พันศักดิ์ วิญญรัตน์: ยุทธศาสตร์ Reversed Cross สำหรับประเทศไทยในทศวรรษหน้า

 
http://www.siamintelligence.com/pansak-reversed-cross/

พันศักดิ์ วิญญรัตน์: ยุทธศาสตร์ Reversed Cross สำหรับประเทศไทยในทศวรรษหน้า

December 10, 2009

ใน งานสัมมนา Thailand in transition: a historic challenge and what’s next? เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน, ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

IMG_0068
บรรยากาศการเสวนา

ในบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เท่านั้น สำหรับรายละเอียดการบรรยายของวิทยากรท่านอื่นๆ สามารถอ่านได้จาก ประชาไท

พันศักดิ์

นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เปิดช่วงเสวนาของเขาด้วยคลิปวิดีโอช่วงเริ่มต้นของภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์คลาสสิกเรื่อง 2001: A Space Odyssey ซึ่งดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อก้องของอาเธอร์ ซี. คลาร์ค และกำกับโดยผู้กำกับชั้นบรมครู สแตนลีย์ คูบริก


คลิปภาพยนต์ 2001: A Space Odyssey ที่นายพันศักดิ์เปิดในงาน

ช่วงเริ่มต้นของภาพยนตร์จับเอาประวัติศาสตร์โลกในยุคที่มนุษย์ยังเป็น วานร ยังไม่มีอารยธรรม แต่มนุษย์วานรกลุ่มหนึ่งกลับได้พบกับ “แท่งหินสีดำ” ซึ่งเป็นอารยธรรมจากมนุษย์ต่างดาว และความรู้จากแท่งหินนี้ส่งผลให้มนุษย์วานรพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้ในที่สุด

หลังจากเล่นคลิปเสร็จ นายพันศักดิ์ตั้งคำถามกับผู้ฟังว่า “ถ้าเปรียบคนไทยเป็นมนุษย์วานร เมื่อเราเจอ ‘แท่งหินสีดำ’ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความก้าวหน้าเหมือนกับในหนัง เราจะทำอย่างไร?”

แท่งหินสีดำ

ในภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey นั้น มนุษยชาติได้พบกับ ‘แท่งหินสีดำ’ จำนวน 3 แท่งในดาวเคราะห์ 3 ดวง คือ แท่งหินสีดำที่โลก ซึ่งช่วยให้มนุษย์ถือกำเนิดขึ้น, แท่งหินชิ้นที่สองที่ค้นพบโดยยานสำรวจดวงจันทร์ และแท่งหินชิ้นสุดท้ายบนดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ (ดาวพฤหัสในฉบับภาพยนตร์)

พันศักดิ์ได้เปรียบเทียบ ‘โอกาสของประเทศไทย’ ว่ามีจำนวน 3 อย่างเทียบเท่ากับจำนวนของแท่งหินสีดำ

โอกาสอย่างแรกที่เทียบได้กับ ‘แท่งหินบนโลก’ คือ คิดค้นโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรม สามารถนำพาประเทศเติบโตได้โดยไม่พึ่งการส่งออกเหมือนอย่างที่เป็นอยู่

แนวคิดนี้นายพันศักดิ์ได้นำเสนอในนโยบาย ‘ดูอัลแทร็ก’ ของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเน้นการบริโภคใช้จ่ายภายในประเทศควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้าไปยังต่าง ประเทศ

Black Slab on Earth

โอกาสอย่างที่สอง เทียบได้กับ ‘แท่งหินบนดวงจันทร์’ นายพันศักดิ์ได้ชูประเด็นของ “value creation” ซึ่งถือเป็นภาพที่ใหญ่กว่าของ creative economy

The black slab on the moon

นายพันศักดิ์ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของแนวคิด creative economy และ “การเพิ่มมูลค่า” ในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยเขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ TCDC เพื่อช่วยสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการออกแบบ ก่อนจะลาออกไปในช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

(หมายเหตุ: อ่านพันศักดิ์ให้สัมภาษณ์เรื่อง creative economy และ value creation ได้จาก ประชาไท สัมภาษณ์พิเศษ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” : คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?)

สำหรับแท่งหินแท่งสุดท้ายบนดวงจันทร์ของดาวเสาร์ นายพันศักดิ์ชี้ว่ามันคือ “จีนและญี่ปุ่น”

The black slab on Lapetus

โอกาสที่ว่าคืออาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางการระบายสินค้าจากประเทศจีนและ ญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นมหาอำนาจของเอเชียในทศวรรษหน้า โดยทั้งจีนและญี่ปุ่นกำลังมองถึงการสร้างโครงข่ายการคมนาคมในอาเซียน ซึ่งมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

ประเทศจีนนั้นมีโครงการสร้างทางรถไฟจากคุนหมิง ผ่านพม่าและลาวลงมาออกทะเลที่ประเทศไทย เป็นเส้นทางแนวดิ่ง เหนือ-ใต้ ส่วนญี่ปุ่นต้องการสร้างถนนตัดขวางจากเวียดนามไปยังพม่า เพื่อให้สินค้าของญี่ปุ่นลงเรือมาขึ้นฝั่งที่ดานังหรือโฮจิมิห์นซิตี้ แล้วไปออกทะเลฝั่งมหาสมุทรอินเดียที่เมืองทวายของพม่า และส่งขึ้นเรือข้ามไปยังเมืองเชนไนของอินเดียต่อไป

Reversed Cross Strategy

เมื่อลากถนนและทางรถไฟทั้งสองเส้นบนแผนที่ จะได้ภาพ “กางเขนหัวคว่ำ” หรือ reversed cross ซึ่งมีจุดตัดอยู่ที่ภาคกลางของประเทศไทย

นายพันศักดิ์ตั้งคำถามว่า ทางการญี่ปุ่นและจีนมีความตั้งใจในการสร้างเส้นทางทั้งสองนี้สูงมาก ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เรามีความพร้อมในการเจรจาและเตรียมตัวมากแค่ไหน

นอกจากประเด็นเรื่อง ‘แท่งหินสีดำ’ ทั้งสามแล้ว นายพันศักดิ์ยังพูดถึงความจำเป็นของประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ว่าปัจจุบันประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านที่โดนไฟไหม้ แต่บนพื้นดินน้ำก็ท่วม และรถดับเพลิงก็ไม่สามารถเข้ามาช่วยดับไฟได้

Talk About Thailand in Transition

พันศักดิ์บอกว่าในสายตาของชาวต่างชาติที่เขาคุยด้วย ต้องการให้ประเทศไทยมี “เสถียรภาพทางประชาธิปไตย” ซึ่งกว้างกว่าและครอบคลุมมากกว่า “เสถียรภาพทางการเมือง”

เสถียรภาพทางประชาธิปไตยที่นายพันศักดิ์หมายถึงคือ ทหารยืนยันไม่ทำการรัฐประหาร มีการเลือกตั้งตามปกติ ผลการเลือกตั้งได้รับการยอมรับ และองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญทำตามหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม

Democratic stability


ข้อมูลเพิ่มเติม: ประวัติของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ จาก Thailand Political Base

No comments:

Post a Comment