Tuesday, January 5, 2010

ดอกทองตัวแม่ : รักและชังของการเมืองปี 2009

http://arayachon.org/article/20100102/1572

ดอกทองตัวแม่ : รักและชังของการเมืองปี 2009

tags:

ได้รับเทียบเชิญจากนิตยสารหัวนอกฉบับหนึ่ง ที่เพิ่งจะเปิดตัวในเมืองไทยขอให้เขียนสรุปภาพการเมืองไทยในลักษณะ " ชอบ-ไม่ชอบ "อันเป็นประเพณีที่มักทำกันในช่วงท้ายปี ไม่แต่การเมือง ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ แฟชั่นและอื่น ๆ

ฉันนั่งอ่านต้นฉบับของคนอื่น อย่างเรื่องแฟชั่นสนุกสนานมาก มีการลิสต์ว่า อะไรจะเกิด อะไรจะดับ แฟชั่นของดีไซน์เนอร์คนไหนเลิศ คนไหนล้า คนไหนรุ่ง คนไหนพลาด จิกกัดอย่างไม่ไว้หน้า

อ่านสำเริงสำราญสมองมาก จนฉันต้องขยับคีย์บอร์ดอย่างคึกคัก อยากจะร่ายลิสต์ชอบและชังในการเมืองไทยปีนี้ ให้สนุกสนานอย่างแฟชั่นเขาบ้าง

ยังไม่ทันจะได้เริ่มเขียนบรรทัดที่หนึ่ง กอง บก.ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลส่วนที่ฉันเขียน ก็โทรศัพท์บอกว่า

" เจ้านายสั่งมาว่า เรื่องการเมืองหนะห้ามเขียนเรื่องทักษิณ นะพี่ "

ฟังแล้วร้อง "อ้าว" ฉันควรจะถอนตัวเสียตั้งแต่ตอนนั้น เพราะใครเล่าจะเขียนเกี่ยวกับการเมืองไทย โดยไม่พูดถึงทักษิณ

กระนั้น ฉันก็ยังอ้อมแอ้มบอกไปว่า จะพยายาม ซึ่งผลของการพยายามออกมา ดังนี้

เป็นเรื่องยากที่จะระบุ รักและชังของการเมืองปี 2009 เพราะกรอบของเวลา 1 ปี เป็นเหมือนการ crop เฉพาะเหตุการณ์ เหลือเพียงห้วงปีเดียว ราวกับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปีที่แล้ว และปีที่ผ่าน ๆ มา

ทำราวกับว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2009 นั้นถูกตัดขาดออกจาก list และการจัดระบบเหตุการณ์และความคิดของเรา ผ่านภาษาที่เราใช้อย่างจำกัด ผ่านกรอบของเวลาตามปฏิทินที่เรียงกันลงมาตามลำดับ

เสี่ยงต่อการลดทอนรายละเอียดและขับเน้นเหตุการณ์ใด เหตุการณ์หนึ่ง และลดทอนน้ำหนักของเหตุการณ์อื่น ๆ ลง ทั้ง ๆ ที่ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน

ฉันกำลังบอกว่า การอ่านลิสต์ ควรอ่านด้วยความระแวดระวัง และสำนึกเสมอว่า ธรรมชาติของ list คือความหยาบ

ขอเริ่มต้นที่ความเกลียดชังก่อน

1. ชังที่สุด ชัง Forever คือคำว่า ประชาธิปไตยแบบไทย เผด็จการทั่วโลกมักจะอ้างว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่เหมาะสำหรับวัฒนธรรม (อันดีงามและมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร) ของตน

สำหรับเมืองไทยนั้น กลุ่มอำนาจเก่าพยายามจะปกป้องระบอบเก่า ด้วยการอธิบายว่า การเอาเมล็ดพันธ์จากต่างแดนมาปลูกในดินเมืองไทย มันย่อมแคระแกร็น ไม่เติบโต

ซึ่งมันเป็นเพียงวาทกรรมที่กักขัง มิให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพเบื้องต้นที่ตนพึงมี ที่สำคัญมันทำลายสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐาน ที่เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน

2. ชังข้อนี้ มีลักษณะต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้วนั่ นคือชังคำว่า ลักษณะเฉพาะของสังคมไทย เราช่างเป็นสังคมที่มีความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร พุทธศาสนาเราดีเลิศ น่ายกย่องไม่เหมือนใคร

สถาปัตยกรรมเราอ่อนช้อย ไม่มีใครเหมือน อาหารเราอร่อยเกินกว่าใคร ภูมิปัญญาชาวบ้านของเรา ช่างดีกว่าใคร ทะเลเราสวย ไม่มีใครเทียบ น้ำใจแบบไทย ยิ้มของไทย ความอ่อนโยนใจดีของคนไทย

เอกลักษณ์เหล่านี้ ล้วนแต่เลิศประเสริฐศรี unique เป็นเอกลักษณ์ไทย ไม่มีใครเหมือน

ดังนั้น อย่าได้เอาประเทศของเรา ไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อย่าเอาวัฒนธรรมของที่อื่น มาตัดสินวัฒนธรรมของเรา ถ้าอยู่เมืองไทย แล้วไม่เห็นความดีงามของเมืองไทย ก็ไปอยู่ที่อื่นไป๊ ไอ้พวกขายชาติ

3. ชังอันดับต่อมา Moderate Society moderate แปลว่า พอประมาณ หรือจะแปลว่า ไม่ทะเยอทะยาน

Moderate Society แปลแล้วน่าจะมีความหมายว่า สังคมที่รู้อยู่ รู้เจียมตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม ไม่ทะยานอยาก เป็นโน่นเป็นนี่ ไม่อยากได้โน่น ได้นี่ เกินเอื้อม เขาให้มาเท่าไหร่ ก็รับไว้เท่านั้น และรับมาอย่างสุขใจ ไม่ดิ้นรน ไม่ต่อสู้

ทว่า ในความหมายอย่างเป็นทางการของมันคือ โครงการคิดอย่างยั่งยืน ก็ชวน งง ว่าคำว่ายั่งยืน ในภาษาอังกฤษน่าจะใช้คำว่า endure หรือขี้หมูขี้หมาคือ Last long

แต่ก็นั่นแหละ ในการแปลความหมาย ย่อมมีการเมือง แปลอีกทีว่า หากประชาชน รู้จักสงบปากสงบคำ ไม่พูด ไม่เถียง ไม่เรียกร้อง (อารมณ์เป็นเมียหลวง รอผัวกลับมาตายรัง) ทำได้ดังนั้น สังคมไทยเราจะเป็นสังคมยั่งยืน

เอาว๊ะ ยั่งยืน ก็ยั่งยืน ( และฝืนทน )

สังคม Moderate ในการรณรงค์ครั้งนี้ ชวนให้นึกถึงนิทานร้อยบรรทัด แต่งโดยหลวงสำเร็จวรรณกิจ สองวรรคสุดท้ายที่ว่า เป็นหิ่งห้อยอย่าท้าแข่งแสงตะวัน ประชาธิปไตยที่ไฝ่ฝัน ไม่บรรลุ

4. ชังพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระสันอยากเป็นรัฐบาลเสีย จนยอมเป็นลูกไล่ของทั้งทหารและพันธมิตร

5. ชังคนที่จุดชนวนเรื่องเขาพระวิหารและเขมร เพื่อหวังผลทางการเมือง เอ๊ะ จำได้หรือเปล่าน๊า...ว่า ใครเป็นคนจุดเรื่องนี้ ขึ้นมาก่อน ?

6. ชังการสมยอมของสังคมไทย ต่อการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการพูด การเขียน การเซนเซอร์ทุกรูปแบบ

7. ชังป้ายบนถนน ตั้งแต่ป้ายขายพระเครื่อง ป้ายรูปนายตำรวจออกมาประกาศปราบปรามยาเสพติด ป้ายโฆษณาคำขวัญมหาวิทยาลัย ป้ายสรรเสริญเยินยอกิจการ กิจกรรมของหน่วยราชการ

ไม่เข้าใจว่า ทำไมหน่วยราชการไทย ชอบประกาศผลงานกันด้วยป้าย อีกทั้งการแขวนป้ายประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อให้รัก ชวนเชื่อให้ชอบ ให้ชื่นชม ให้สำนึกบุญคุญของชาติบ้านเมือง อันส่อให้เห็นว่า ความรักของประชาชนต่อบ้านเมืองมันช่างเปราะบาง

และวิธีเดียวที่จะกอบกู้มันขึ้นมาได้คือ การเขียนป้าย ตอกย้ำกันทุก ๆ 100 เมตรบนถนน ทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง เรียกว่าประกบกันสี่ทิศ เห็นแล้วนึกถึงเพลง Love me or I will kill you

8. ชังการบังคับให้ร้องเพลงชาติและยืนเคารพธงชาติพร่ำเพรื่อ เข้าใจกันบ้างไหมว่า อะไรที่มันมากเกินไป มันไม่ศักดิ์สิทธิ

9. ชังเพลงทุกเพลงที่แต่งขึ้นมา เพื่อมอมเมาประชาชน

10. ชังทักษิณที่ให้สัมภาษณ์ไทม์ แต่ดันออกมาบอกว่า ไทม์บิดเบือนคำพูดของตน ตลกตายชัก

11.ชังกฎหมายห้ามซื้อขายเหล้า ตั้งแต่สิบเอ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น มันบ้องตื้นและไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น และให้ตายเถอะ ประเทศไทยมีกฎหมายทำนองนี้ เยอะมาก คิดแล้วเครียด เว้นแต่จะคิดว่า อืม......เทียบกับซาอุแล้วประเทศเรา ยังมีเสรีภาพมากกว่าเยอะ

12.ชังเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอาเวลาไปไล่จับปฏิทินขายเหล้า อยากถามว่าว่างมาก ? หรือไม่มีอะไรจะทำ ? แล้วไปกล่าวหาปฏิทินนั้นว่า เป็นปฏิทินลามกเสียด้วย

นางแบบมายืนโพสท่าวาบหวาม ไปตามไวยากรณ์ของการทำปฏิทินวาบหวิว ไว้ดูวี๊ดวิ้วพอได้ เป่าปากเฟี้ยวฟ้าวกระชุ่มกระชวยหัวใจ ห่างไกลจากคำว่าลามกมาก เว้นแต่คนพูดจะจิตใจต่ำ คิดได้แต่เรื่องลามกอุบาทว์ จึงเห็นความวาบหวิว ในแง่มุมที่ต่ำช้าอย่างนั้น

13. ชังการอ้างชาติ ศาสนา สถาบัน มาเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง

ชังมากไปแล้ว อาจเขียนได้ถึงร้อยข้อพันข้อ และลงท้ายด้วยการถูกเนรเทศ

มาถึงสิ่งที่ชอบบ้าง

1. บนสัมภาษณ์ทักษิณในไทม์ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า ทักษิณพูดรู้เรื่อง พูดจาชัดเจน

2. ชอบบทบาทของบิ๊กจิ๋วในปีนี้อย่างไม่มีเหตุผล ป่วนได้หนุกหนานดี

3. ชอบที่มีสีเหลืองสีแดง เป็นครั้งแรกที่เราเห็นประชาชนชนไทย แสดงจุดยืนและความต้องการทางการเมืองของตนเอง และฟันธงไปเลยว่า จะเลือกข้างไหน ประชาธิปไตยหรืออำมาตย์

และทำให้เกิดการแพร่กระจายของศัพท์แสงทางการเมือง ลงสู่บทสนทนาในชีวิตประจำวันอย่างมีชีวิคชีวา เช่น สองมาตรฐาน การแทรกแซงระบบตุลาการ ระบบอำมตย์ ไม่นับศัพท์แสลงทางการเมือง (โปรคเติมคำในช่องว่างเอาเอง เพราะเขียนไม่ได้)

4. ชอบอินเตอร์เนท เพราะทำให้การเซนเซอร์นั้น เซ่อไปเลย และรัฐหรือผู้มีอำนาจ อย่าได้หวังว่ามอมเมาประชาชนได้ง่าย เหมือนกับสมัยก่อน

5.ชอบบทความของ The Economist และนิวยอร์คไทม์ เกี่ยวกับการเมืองไทยปีนี้ ทุกชิ้น

6.ชอบนิตยสารฟ้าเดียวกัน ฉบับข้อมูลใหม่ อยากรู้เพราะอะไร ไปหาอ่านเองเอง

7. ชอบบทกวีการเมืองของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที

8.ชอบ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ทำให้เรายังมีความหวังกับนักกฎหมาย

9. ชอบสกู๊ปสัมภาษณ์ลูกหลานคณะราษฏร ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

10.ชอบเนวิน ชิดชอบ ที่สลับขั้วไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลได้หน้าตาเฉย และชอบภาพที่กอดกับอภิสิทธิ ย้ำว่า ชอบมาก

11.ชอบแนวคิดที่ว่าด้วย การพึ่งตนเองของชุมชนสันติอโศก เพราะเป็นชุมชนอุดมคติ ที่ทำได้จริง อยู่จริง กินจริง ใช้จริง เอ๊ะ เกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่าเนี่ย.................

ยังไม่กล่าวถึงเมษาเลือด ไม่พูดถึงยึดสนามบิน หรืออื่น ๆ ในทางการเมืองที่จัดว่า Critical เพราะเห็นว่า พูดกันมาก ด่ากันมามากพอแล้ว คงไม่ต้องฉายหนังซ้ำ และบางประเด็นเช่นเรื่อง ม.112 จึงจำต้องละไว้

เอาเป็นว่า ฝากลิสต์ชอบและชัง ให้อ่านกันพอเพลิน ๆ และพอประมาณสมกับเป็น Moderate Society จ้า

เขียนส่งไปประมาณนี้ ส่งปุ๊บ วันรุ่งขึ้น ได้รับแจ้งจากทางกอง บก.ว่า มิอาจตีพิมพ์ได้ เจ้านายไม่ปลื้มอย่างแรง

แถมคนที่ติดต่อมาให้ฉันเขียน ยังโดนสั่งสอนมาว่า วันหลังอย่าได้เอาอะไรทำนองนี้ มาแปดเปื้อนหน้ากระดาษของชั้น

รู้ไหม การทำนิตยสาร เราจำต้องรักษาทุก Connections ทุกเครือข่ายความสัมพันธ์ เราไม่อาจเป็นศตรูกับใคร จะเพื่อไทยขึ้น จะประชาธิปัตย์ขึ้น ทักษิณจะกลับมา บิ๊กจิ๋วจะเป็นนายก จะเกิดอะไรขึ้น เราต้องรอด เราต้องไม่เป็นศตรูกับใคร

เข้าใจป่าว ?

การเมืองสำหรับพวกเรา คงอยากให้เขียนเรื่องนโยบายของรัฐ ที่จะช่วยลดโลกร้อน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การปราบปรามยาเสพติด การส่งเสริมศีลธรรม การประกวดเรียงความ การงดเหล้าเข้าพรรษา ฯลฯ หรืออะไรที่ฉันก็ไม่อาจหยั่งรู้

แต่ย้อนไปที่ข้อความชังข้อที่ 6. ว่าด้วยการสมยอมของสังคม ต่อการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพในการพูด คิด เขียน อีกทั้งกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนการปิดปาก ปิดหู ปิดตา ให้แก่กันและกันในสังคมไทย

ส่วนฉันเขียนแล้ว ไม่มีใครอ่านก็คงจะอัดใจตาย จึงขอนำมาประกาศไว้ให้ทราบโดยทั่วถึงกัน ณ ที่นี้

จากคอลัมน์ของคำผกา มติชนสุดสัปดาห์ เล่มล่าสุด

ที่มา บอร์ดชุมชนฟ้าเดียวกัน

http://www.prachataiwebboard.com/webboard/id/12830
 

No comments:

Post a Comment