ว่าด้วย “ที่ดินเขายายเที่ยง” และ “การทุจริตไทยเข้มแข็ง”
January 7, 2010
อย่าได้แปลกใจหากเห็น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ออกมาอัด คำนูณ สิทธิสมาน สว. ระบบสรรหา ที่มาออกรับแทน พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะคืนที่ดินเขายายเที่ยงให้กับรัฐในเร็วๆนี้ ว่าทำตัวเป็นข้ารับใช้ระบอบอำมาตย์
เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงชักธงรบกับ ‘อำมาตย์’ มาตลอดตั้งแต่หลังวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยไล่มาแต่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์
เพราะตรรกะของ คำนูณ มองว่า “คนเสื้อแดง” จ้องล้มองคมนตรีทั้งคณะ! การพิทักษ์สถาบันองคมนตรี จึงเทียบเท่ากับการรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจ
การพิทักษ์สถาบันองคมนตรี มีความหมายเทียบเท่าการป้องกันการแตะต้อง “บุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งในสถาบันองคมนตรี ด้วยเหตุผลที่องคมนตรีไม่ยุ่งเกี่ยวกับ “เรื่องการเมือง”
พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์
อย่าลืมว่าในช่วงที่ พล.อ. สุรยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น แกนนำพันธมิตร และกลุ่มผู้จัดการก็วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ. สุรยุทธ์ แบบไม่ไว้หน้า เพราะถือว่าไม่ใช่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งในสถาบันองคมนตรี ต่อเมื่อ พล.อ. สุรยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปดำรงตำแหน่งองคมนตรี แล้วเท่านั้น กลุ่มพันธมิตร และกลุ่มผู้จัดการก็ละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ตามตรรกะข้างบนนี้
ดูเหมือนสมเหตุสมผล! ดูเหมือนถูกต้อง!
แต่ปัญหาก็คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไม่ได้มีข้อห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ ‘องคมนตรี’
เสียงแฟนคลับพันธมิตรในเว็บผู้จัดการเอง ก็แสดงความเห็นแย้งอย่างชัดเจน ต่อท่าทีการปกป้องอย่างออกนอกหน้าของ คำนูณ!
บางเสียงในความคิดเห็นท้ายข่าวถึงกับ แนะนำให้ พล.อ. สุรยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี เพื่อปกป้องสถาบันองคมนตรีเอาไว้
บางเสียงในความคิดเห็นท้ายข่าวก็มองว่า การซื้อมาเป็นทอดที่ 3 ก็ดี, การต้องรอฟังข้อวินิจฉัยทางกฎหมายก็ดี ดูเหมือนมิได้เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะดังที่ผู้มีบทบาทสูงใน ตำแหน่งองคมนตรี ดังที่ควรจะเป็น
บางเสี้ยวของความเห็นอาจเพิกเฉยความเคลื่อนไหวเหล่านี้ โดยมองว่าเป็นการ ‘เสี้ยม’ ของคนเสื้อแดง
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ สังคมไทยก้าวเดินไปข้างหน้ามากแล้ว สังคมไทยเปลี่ยนไปมากแล้ว อย่างมิอาจย้อนถอยหลังกลับไปได้อีก
ความก้าวหน้าของสังคมไทยที่รวมพลังของคนเป็นสองขั้ว แท้จริงคือการแสดงออกของสังคมไทย
ด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน
อีกด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบ และถูกเอาผิดได้ ในขณะที่ต้องปฎิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะ
เมื่อนายวิทยา แก้วภราดัยได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตโครงการลงทุนภายใต้แผน ปฏิบัติการ “ไทยเข้มแข็ง 2555” ที่มี นพ. บรรลุ ศิริพาณิช เป็นประธาน สรุปผลสอบว่ารมว. และรมช . สาธารณสุข ส่อเจตนาไม่สุจริตในการอนุมัติโครงการ
นายมานิต ก็กำลังถูกกดดันอย่างหนัก แม้จะมีแรงหนุนอย่างเหนียวแน่นมาจากซีกวังน้ำยมในภูมิใจไทย
การลาออกของนายวิทยา แม้ว่าจะยังไม่มีข้อความเห็นทางกฎหมาย เพียงแต่ผลสอบออกมาว่าส่อเจตนาไม่สุจริตในการอนุมัติโครงการ ย่อมถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการปฎิบัติหน้าที่สาธารณะ
เห็นแล้วหรือยังว่า สังคมไทยก้าวหน้าไปมากแล้ว
หากยังจับกระแสก้าวหน้าสองกระแสนี้ไม่ได้ “การได้มาในที่ดินเขายายเที่ยงโดยมิชอบ” อาจมีความเสี่ยงสูงกว่า “การทุจริตไทยเข้มแข็ง”
No comments:
Post a Comment