Thursday, March 4, 2010

ใจ อึ๊งภากรณ์ : วิจารณ์บทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ 'วิกฤตหลัง 26 กุมภาฯ'

http://www.prachatai.com/journal/2010/03/27968

ใจ อึ๊งภากรณ์ : วิจารณ์บทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ ‘วิกฤตหลัง 26 กุมภาฯ’

บทวิจารณ์บทสัมภาษณ์ เกษียร เตชะพีระ ใน ‘มติชน’ ฉบับวันที่ 1 มีนาคม 2553 หลังคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 26 กุมภาฯ

บทสัมภาษณ์อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ใน ‘มติชน’ มีข้อดีหลายประการคือ อธิบายว่า คำตัดสินของศาลในคดีทักษิณเป็นเรื่องที่แยกออกไม่ได้จากการทำรัฐประหาร 19 กันยา คือเป็นการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารดังกล่าว อ.เกษียรพูดว่า “ถ้าไม่ยึดเลย เท่ากับทำลายความชอบธรรม ว่าที่ทำมาตลอด 4-5 ปี มันขี้หมาทั้งหมด หลอกทั้งเพ” ชัดเจนมาก และมีการอธิบายต่อไปว่า การทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รับชั่น ไม่ใช่แนวทางที่ถูก และเสี่ยงกับการนำไปสู่การทำลายความชอบธรรมทั้งปวงของระบบศาล อย่างที่เราเห็นในเรื่องสองมาตรฐานเกี่ยวกับการยึดสนามบินของฝ่ายพันธมิตรฯ ฯลฯ

ที่จริงแล้ว ถ้าจะว่าการทำรัฐประหาร 19 กันยา ‘เสี่ยง’ กับการทำลายความชอบธรรมของศาล ผมว่ามันทำลายไปนานแล้ว และศาลไทยไม่เคยมีความชอบธรรมในสายตาพลเมืองที่เป็นกรรมาชีพและคนจนเลย เพียงแต่ว่าคนไทย รวมถึง อ.เกษียรเอง ไม่มีเสรีภาพที่จะวิจารณ์ศาลอย่างที่เขาทำได้ในประเทศประชาธิปไตย เพราะศาลมีกฎหมายหมิ่นฯไว้บังคับความจงรักภักดี เหมือนกฎหมายหมิ่นกษัตริย์

อ. เกษียรพูดถูกเมื่อเสนอว่า เรา “ไม่สามารถพูดได้เต็ม 100% เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของรัฐบาลคุณทักษิณ” ใช่เลยและผมก็เป็นหนึ่งในหลายคนที่วิจารณ์นโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ และสงครามยาเสพติดสมัยนั้น และเราปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาล ไทยรักไทย เคยพยายามครอบงำสื่อ

แต่ในขณะเดียวกัน การเสนอโดย อ.เกษียร ว่า รัฐบาลทักษิณ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมากของประชาชน เป็น ‘ทรราชย์’ ไม่สมเหตุสมผล การที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่ใช่เพราะรัฐบาลนั้นไม่ได้โหดร้ายทารุณ เพราะมีความโหดร้ายทารุณในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่มันไม่สมเหตุสมผล เพราะรัฐบาลเอาออกได้ ผ่านการเลือกตั้งในกระบวนการประชาธิปไตย และเราเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลได้อีกด้วย เพราะไม่ได้มีการห้ามการประท้วง เซ็นเซอร์สื่อ หรือใช้กองกำลังปราบปรามพร้อมกฎหมายเผด็จการหลายชุด อย่างที่เราเห็นในกรณีรัฐบาล คมช. หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ปัจจุบัน

ปัญหาของการวิเคราะห์ของ อ.เกษียรมาจากกรอบมุมมองประเภท ‘ชนชั้นนำ’ และกรอบมุมมองแบบ ‘พคท.’ (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่เสนอว่าการปฏิวัติทุนนิยมในไทยยังไม่สมบูรณ์

แนวคิดแบบชนชั้นนำ เป็นกระแสหลักในวิชาการไทยมานาน ตั้งแต่สมัยที่มีการเสนอเรื่อง ‘รัฐข้าราชการ’ ที่เน้นแต่บทบาททางสังคมของคนชั้นสูง โดยไม่พิจารณาบทบาทของคนส่วนใหญ่ในสังคมเลย สำนักคิดนี้ในไทยเติบโตมาจากงานของ Fred Riggs[1] ในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ที่เสนอว่าไทยเป็นรัฐข้าราชการ และคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่สนใจและไม่มีบทบาททางการเมือง งาน ‘สองนคราประชาธิปไตยไทย’ ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็คล้อยตามแนวนี้พอสมควร เพราะมองว่าคนจนในชนบทคิดเองไม่เป็น

อ.เกษียร เป็นส่วนหนึ่งของปัญญาชนไทยที่มีจุดยืนทำนอง “ผมไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารโดยหลักการ แต่ ไม่รู้จะจัดการกับ ‘ทรราชย์ทักษิณ’ อย่างไรนอกจากการทำรัฐประหาร 19 กันยา” มันเป็นการสนับสนุนรัฐประหารในรูปธรรมเพราะมองไม่ออกว่ามีทางเลือกอื่น และ อ.เกษียรก็ไม่เสนอทางเลือกอื่นเลย แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นการฟอกตัวให้ดูขาวสะอาด

การเชื่อว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา” มาจากความเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือก ไทยรักไทย ‘เข้าไม่ถึงข้อมูล’ (โง่) ‘ถูกครอบงำจนต้องพึ่งพาทักษิณ’ (ไม่มีวุฒิภาวะ) และ ‘ไม่ได้เลือก ไทยรักไทย อย่างเสรี’ (คิดเองไม่เป็น) แต่ความจริงมันตรงข้าม มีการพิสูจน์แล้วพิสูจน์อีกในการเลือกตั้งหลายรอบ และพิสูจน์ต่อในลักษณะการจัดตั้งและเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหว เองเพื่อประชาธิปไตย โดยไม่ได้อาศัยการจ้างมาโดยเงินทักษิณ แต่พวกเสื้อเหลืองก็พูดเหมือนนกแก้วว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่เครื่องมือของ ทักษิณ และนักวิชาการจำนวนมากมองว่าตนเองมีวุฒิภาวะมากกว่าประชาชน

การที่คนอย่าง อ.เกษียรไม่เชื่อว่าเราสามารถเอารัฐบาลทักษิณออกด้วยวิธีประชาธิปไตย ก็เพราะหมดความศรัทธาในการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนชั้นล่างหลังการล่ม สลายของ พคท. ซึ่งความคิดแบบนี้เป็นกระแสเดียวกับการเปลี่ยนจากการเชื่อมั่นในมวลชนคนชั้น ล่าง และหันไปตั้งความหวังใน ‘ผู้ใหญ่’ ซึ่งเกิดขึ้นในขบวนการ เอ็นจีโอ และทั้งๆ ที่ อ.เกษียรไม่สบายใจกับการตั้งความหวังกับผู้ใหญ่และมองว่ามันมีปัญหา แต่เขาไม่มีข้อเสนอว่าจะแก้ไขสถานการณ์แบบนี้อย่างไรเป็นรูปธรรม นอกจากการโทษคนไทยด้วยกัน ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้เราต้องทำงานจัดตั้งและทำงานเคลื่อนไหวพร้อมๆ กับการเป็นนักวิชาการ ซึ่งไม่ง่านและอาจเห็นผลช้า แต่เป็นเรื่องจำเป็น

การที่คนเสื้อแดงจำนวนมาก ‘รักทักษิณ’ หรือ ‘สู้เพื่อปกป้องทักษิณ’ เพราะเห็นชอบกับนโยบาย ไทยรักไทย ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็น ‘ลูกน้องทักษิณ’ และ ‘สู้ตามคำสั่งและเงินของทักษิณ’ แต่อย่างใด และมันไม่ได้หมายความว่าเขา ‘แค่สู้เพื่อทักษิณ’ เพราะเราจะเห็นว่าคนเสื้อแดงสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตยแท้’ และ ‘ต้านอำมาตย์’ ด้วย เป็นเรื่องดีที่ อ.เกษียรไม่ได้มองแบบตื้นเขินและกลไกเหมือนพวกเสื้อเหลือง เพราะเขาเสนอว่า “ถึงที่สุด ผมไม่เชื่อว่า ทักษิณคุมเสื้อแดง” แต่ในขณะเดียวกัน อ.เกษียรยังให้ความสำคัญไม่พอกับ ‘ลักษณะการเป็นประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตย’ ของคนเสื้อแดง เขาไม่พูดถึงข้อแตกต่างที่เสื้อแดงมีกับพันธมิตรฯ ซึ่งในกรณีพันธมิตรอาจนำตนเองบ้างแต่ประเด็นสำคัญคือสู้เพื่อเผด็จการและ ระบบอำมาตย์ เสื้อแดงกับเสื้อเหลืองไม่ใช่พลังประชาชนที่แค่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เพราะฝ่ายหนึ่งสู้เพื่อประชาธิปไตยและอีกฝ่ายสู้เพื่ออำมาตย์ ทั้งๆที่เสื้อแดงก็ไม่ใช่เทวดา เป็นแต่ประชาชนธรรมดาที่อาจผิดพลาดกันได้

การวิเคราะห์ของนักวิชาการที่อาศัยกรอบแนว ‘สตาลิน-เหมา’ ของ พคท. เสนอว่า ไทยเป็น ‘กึ่งศักดินา’ เพราะการปฏิวัตินายทุนยังไม่สมบูรณ์ อ.เกษียรและคนอื่นมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร ๑๙ กันยาว่าเป็นความขัดแย้งระหว่าง ‘นายทุนโลกาภิวัตน์สมัยใหม่’(ทักษิณ) กับ ‘ทุนเก่าจากระบบกึ่งศักดินาของอำมาตย์’[2] มันเป็นมุมมองที่เสนอการปฏิวัติ นายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก เป็นการสวมประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 18 ในยุโรปทับสถานการณ์บ้านเมืองในไทยปัจจุบัน มีการพยายามแสวงหาการปฏิวัติในไทยที่มีรูปแบบเหมือนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 และเมื่อหาไม่เจอ ก็สรุปว่ายังไม่ได้เกิดขึ้นหรือยังไม่สำเร็จโดยสมบูรณ์ ยิ่งกว่านั้นมันเสี่ยงกับการสร้างนิยายว่านายทุนบริสุทธิ์สมัยใหม่หรือแนว เสรีนิยมส่งเสริมประชาธิปไตย

หลัง ค.ศ. 1848 ชนชั้นนายทุนในยุโรปได้ประนีประนอมกับอำนาจขุนนางเก่า ซึ่งอ่อนแอลงเนื่องจากการขยายตัวของทุนนิยม ดังนั้นชนชั้นนายทุนสามารถครองอำนาจได้โดยไม่ต้องปฏิวัติแบบเก่าอีก และที่สำคัญคือการปฏิวัติแบบ 1789 ในฝรั่งเศสเสี่ยงต่อการที่ชนชั้นล่าง โดยเฉพาะกรรมาชีพในเมือง จะตื่นตัวร่วมปฏิวัติและจะเดินหน้าโค่นล้มนายทุนไปด้วย อย่างที่เกิดในรัสเซียในปี 1917 นี่คือสาเหตุที่ คาร์ล มาร์คซ์ มองว่านายทุนหลัง 1848 เป็นชนชั้นที่ขี้ขลาดไม่กล้านำการปฏิวัติ ในประเทศด้อยพัฒนา(ในยุคนั้น)อย่าง เยอรมัน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ไทย ชนชั้นปกครองเก่าทำการปฏิวัติเอง เพื่อเปิดทางให้ทุนนิยมพัฒนาเต็มที่ และแปลงตัวเป็นนายทุน สิ่งนี้เกิดในไทยในช่วงรัชกาลที่ ๕ และศักดินาก็หมดไป

สำนักคิด สตาลิน-เหมา ที่ พคท. ใช้ในการวิเคราะห์สังคมไทย เป็นแนวคิดที่มองว่าประเทศด้อยพัฒนายังเป็น ‘กึ่งศักดินา-กึ่งเมืองขึ้น’ อยู่ ทั้งนี้เพื่อเสนอว่าการต่อสู้ขั้นตอนต่อไปในประเทศเหล่านี้ต้องเป็นขั้นตอน ‘ประชาชาติประชาธิปไตย’ หรือขั้นตอน ‘สถาปนาทุนนิยม’ นั้นเอง มันเป็นทฤษฏีที่สร้างความชอบธรรมกับการทำแนวร่วมระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับ ชนชั้นนายทุนรักชาติ ซึ่งในภายหลังมีการตีความต่อไปว่าควรทำแนวร่วมกับทักษิณ ‘เพื่อต่อต้านศักดินา’

อย่างไรก็ตาม ทักษิณ ยืนยันอยู่ตลอดว่าเขารักและจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เหมือนกับที่กลุ่มทุนใหญ่ในยุโรปก็อ้างความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของเขา ไม่ว่าจะอังกฤษหรือฮอลแลนด์ ฯลฯ ประเด็นคือสถาบันกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความชอบธรรม’ ในการอนุรักษ์ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่ ‘มอบลงมาจากพระเจ้า’ หรือ ‘เป็นลักษณะดั้งเดิมของไทย’ ที่ฝ่าฝืนไม่ได้

อ.เกษียร พูดว่า “หัวใจของทุนนิยมคือกรรมสิทธิ์ แต่คำตัดสินวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้พาดเข้าไปกลางหัวใจทุนนิยม กล่าวคือ เมื่อถึงจุดหนึ่ง รัฐสามารถเข้าไปยึดทรัพย์สินของเอกชนได้ เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู” แต่อำมาตย์เป็นนายทุนเหมือนทักษิณ และไม่มีวันต้องการทำลายระบบทุนนิยมและกรรมสิทธิ์ปัจเจก

แนวคิดแบบนี้มองข้ามลักษณะการเป็นนายทุนสมัยใหม่ของเครือข่ายอำมาตย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพฯ บริษัทซีพี ฯลฯ ซึ่งอยู่ในเครือข่ายอำมาตย์ เป็นทุนโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ และเป็นทุนไทยข้ามชาติมาก่อนที่ทุนทักษิณจะเจริญเติบโตอีกด้วย แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองของอำมาตย์ โดยเฉพาะของรัฐบาลทหารตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน คือแนวเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว เขาปล่อยวางไม่ยอมใช้รัฐพัฒนาสังคมอย่างเป็นระบบ ไทยจึงเหลื่อมล้ำสูงและกรุงเทพฯจึงมีปัญหาจราจรที่ไม่ยอมแก้ พรรคประชาธิปัตย์และนักวิชาการเสื้อเหลืองโจมตีการใช้งบประมาณของรัฐสมัย ทักษิณ เพราะ ‘ขัดกับวินัยทางการคลัง’ และ ‘สร้างระบบอุปถัมภ์’ ศัพท์เสรีนิยมทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญปี 50 ของ คมช. เพิ่มการเน้นนโยบายกลไกตลาดเสรี และพิสูจน์ให้เห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไปได้สวยกับทิศทางกลไกตลาดเสรี ในขณะเดียวกัน รัฐบาลทักษิณใช้ทั้งเสรีนิยมกลไกตลาด และรัฐพัฒนาเศรษฐกิจ (แนวเคนส์รากหญ้า) ซึ่งเรียกกันว่าแนวเศรษฐกิจ ‘คู่ขนาน’

แนวความคิดเรื่อง ‘ทุนใหม่’ กับ ‘ทุนเก่า’ ที่สืบรากมาจากการวิเคราะห์ของ พคท. แต่ถูกใช้โดยคนที่ปฏิเสธ พคท. นั้นไม่ตรงกับข้อมูลในโลกจริง เป็นมุมมองของคนที่ขี้เกียจมองออกไปข้างนอก

ความขัดแย้งหลักระหว่างอำมาตย์กับทักษิณจึงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่าง ‘ทุนเก่า’ ในลักษณะกึ่งศักดินา กับ ‘ทุนใหม่’ ในลักษณะทุนสมบูรณ์แบบโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ แต่ความขัดแย้งเกิดจากแนวร่วมระหว่างนักการเมืองทุนนิยมในรูปแบบทักษิณ กับ พลเมืองจำนวนมากที่ยากจน

ปัญหาคือ อ.เกษียร มองว่าแนวร่วมนี้มีลักษณะ ‘ทักษิณจูงคนจน’ มากกว่าการเป็นแนวร่วมระหว่างกลุ่มพลังสองกลุ่ม ถ้ามันเป็นแค่ทักษิณจูงคนจนมันจะไม่เป็นแนวร่วมเลย แต่ อ.เกษียรพูดว่า ‘นโยบายเอื้ออาทรก็อุ้มคนเหล่านี้’ เหมือนอุ้มเด็กทารกที่สู้เองไม่ได้

ข้อขัดแย้งกับอำมาตย์คือแนวร่วมนี้มีพลังจากทักษิณและรากหญ้าพร้อมกัน คู่แข่งที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่าหรือคนที่เคยครองอำนาจการเมืองมานาน ไม่สามารถแข่งกับอำนาจทางการเมืองแบบนี้ได้ เพราะทักษิณสามารถปลุกใจพลเมืองไทยรากหญ้าให้กล้ามีสิทธิ์มีเสียง ในขณะที่กลุ่มอำนาจเก่าเคยชินกับการปกครองสั่งลงมาอย่างเดียว และสาเหตุที่ทักษิณสมารถนำการต่อสู้ของคนชั้นล่างในรูปแบบผิดเพี้ยนแบบนี้ ได้ ก็เพราะความอ่อนแอของฝ่ายซ้ายตั้งแต่การล่มสลายของ พคท. ถ้าคุณไม่วิเคราะห์แบบชนชั้นและไม่ให้ความสำคัญกับมวลชนรากหญ้าเพียงพอ คุณจะมองไม่เห็นภาพนี้ และคุณจะอัมพาตทางการเมือง เลือกข้างประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยไม่ได้


No comments:

Post a Comment