ใจ อึ๊งภากรณ์
เมื่อถึงจุดนี้แล้ว คนเสื้อแดงคงทราบดีว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ของเราไม่ใช่เรื่องเล่น มันเป็นการต่อสู้ที่ต้องจบลงด้วยการล้มอำมาตย์ทั้งระบบ ถ้าไม่เช่นนั้นอำมาตย์จะกีดกันเสียงประชาชนต่อไป ไม่ว่าจะมีการยุบสภาหรือการเลือกตั้งใหม่ สิ่งเหล่านี้เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ถึงปัจจุบัน จนเราสามารถสรุปได้ว่าการครองที่นั่งในรัฐสภา ไม่เหมือนการครองอำนาจรัฐ การมีประชาธิปไตยแท้ต้องไม่มีสูงไม่มีต่ำ พลเมืองต้องเท่าเทียมกัน
การเคลื่อนไหวล้มเผด็จการอำมาตย์ ต้องอาศัยสงครามทางความคิดในสังคมเพื่อครองใจประชาชน และต้องอาศัยการเพิ่มอำนาจของฝ่ายเราเพื่อเอาชนะอำนาจอำมาตย์ในด้านทหาร ศาล และกฎหมาย การชุมนุมตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การจัดตั้งและให้การศึกษาทางการเมืองกับมวลชนของฝ่ายเราสำคัญมาก แต่ในที่สุดการช่วงชิงอำนาจจากอำมาตย์จะต้องเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และเราควรเตรียมพร้อม เราควรศึกษากรณีการปฏิวัติล้มเผด็จการจากไทยและทั่วโลก
การเตรียมพร้อมนี้มีประโยชน์ตลอด ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังไม่สุกงอม เพราะฝ่ายอำมาตย์พร้อมจะใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนกับเรา และเราไม่ควรเป็นเหยื่อที่ไม่รู้ทันอำมาตย์ ที่แล้วมาบางคนเชื่อว่าถ้าถือธง รูปภาพ และร้องเพลงของอำมาตย์ เขาจะไม่ยิงเรา ไม่จริง! พฤษภา ๓๕ พิสูจน์ไปแล้ว เราต้องสามารถโต้ตอบและปกป้องตนเองให้ได้ แต่เราจะต้องไม่ริเริ่มความรุนแรงเด็ดขาด เพราะนั้นจะเป็นข้ออ้างในการปราบเรา
บทเรียนในไทยที่สำคัญคือกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ พฤษภา ๒๕๓๕ ส่วนบทเรียนจากต่างประเทศที่สำคัญคือการปฏิวัติรัสเซีย 1917 การปฏิวัติปอร์ตุเกส 1975 การปฏิวัติอิหร่าน1979 การลุกสู้ในจัตุรัสเทียนอันเหมินที่จีน 1989 การปฏิวัติล้มเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบสตาลินที่โรเมเนีย 1989 และการพยายามปฏิวัติในฮังการี่ 1956 ตัวอย่างอื่นๆ มีอีกมากมาย
เนื่องจากสมรภูมิหลักคือเมือง เราต้องมีมวลชนในเมือง ซึ่งคงจะถูกสมทบด้วยคนจากต่างจังหวัด อย่าหลงคิดว่าคนในกรุงเทพฯและจังหวัดรอบๆ เป็นคนชั้นกลางหมด คนส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน เป็นกรรมาชีพในโรงงาน ในรัฐวิสาหกิจ และในบริษัทเอกชน ดังนั้นเราต้องขยายเครือข่ายเสื้อแดงไปสู่คนเหล่านี้ โดยเฉพาะคนที่จัดตั้งอยู่แล้วในสหภาพแรงงาน อย่าปล่อยให้เสื้อเหลืองทำฝ่ายเดียว และอย่าลืมว่ากรรมาชีพเป็นคนจนที่น่าจะสนับสนุนเสื้อแดงและประชาธิปไตยอยู่แล้ว นอกจากนี้การที่เราขยายอิทธิพลสู่สหภาพแรงงานจะทำให้เรากดดันอำมาตย์ทางเศรษฐกิจได้ คือหยุดระบบการผลิต การขนส่ง และการบริการ การต่อสู้ทางเศรษฐกิจแบบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมการชุมนุมกลางถนน และจะทำให้อำมาตย์ยอมจำนนเร็วขึ้น นี่คือบทเรียนจากชัยชนะในรัสเซีย และอิหร่าน และความพ่ายแพ้ในจีน เราต้องเริ่มทำงานตรงนี้ทันที
มวลชนชี้ขาด
การยึดอำนาจของประชาชนต้องอาศัยมวลชนเป็นแสนเป็นล้าน นี่คือบทเรียนจากไทย จากรัสเซีย จากอิหร่าน จากปอร์ตุเกส และที่อื่นๆ เรายิ่งมีมวลชนมากเท่าไร ฝ่ายทหารของอำมาตย์จะเริ่มกบฏต่อผู้บังคับบัญชา และอำมาตย์จะทราบว่าเขาไม่สามารถฆ่าเราหมด ดังนั้นถ้าจะลดการนองเลือดต้องมีมวลชนจำนวนมาก ในการปฏิวัติทุกครั้งที่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นปอร์ตุเกส อิหร่าน รัสเซีย หรือ โรเมเนีย ทหารธรรมดาจะเปลี่ยนข้างถ้ามวลชนมีเพียงพอ
อย่าไปเชื่อคำพูดแบบ “เอามัน” ว่าควรมีการวางระเบิดหรือสร้างกองกำลังพิเศษ เพราะนั้นคือถนนสู่ความตาย อำมาตย์ปราบคนกลุ่มน้อยที่ใช้วิธีก่อการร้ายได้ง่ายมาก และในกรณีพิเศษที่กองกำลังจำนวนน้อยยึดรัฐบาลได้ เพราะทุกคนหมดความศรัทธาในรัฐบาล ประชาธิปไตยจะไม่เกิด จะเป็นแค่การเปลี่ยนมือเผด็จการเท่านั้น เพราะประชาชนขาดการมีส่วน ร่วมบทเรียนนี้ชัดเจนจากคิวบา
การปฏิวัติ
การปฏิวัติเป็นขั้นตอนเด็ดขาด ถ้าไม่ปฏิวัติเราล้มอำมาตย์ไม่ได้ แต่ถ้าเราตัดสินใจปฏิวัติแบบสองจิตสองใจ แล้วถอย เราตายแน่นอน ดังนั้นเราต้องประเมินสถานการณ์ตลอด และต้องติดดินเพื่อฟังเสียงมวลชน บ่อยครั้งท่ามกลางการต่อสู้ที่ร้อนแรง จะมีการเปลี่ยนแกนนำ ถ้าแกนนำเก่าใจไม่ถึง แกนนำจริงในการต่อสู้ในพฤษภา ๓๕ เปลี่ยนสองครั้ง แกนนำจะต้องไม่ถ่วงการต่อสู้ แต่ในอีกด้านต้องไม่บ้านำคนไปฆ่าตัวตาย แกนนำต้องเป็นตัวแทนของมวลชนที่ก้าวหน้าที่สุด
ในการปฏิวัติ เราต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นและเราต้องเตรียมพร้อมที่จะยึดอำนาจ ไม่ใช่ล้มอำมาตย์แล้วปล่อยให้ชนชั้นนำส่วนอื่นฉวยโอกาสขึ้นมามีอำนาจแทน เช่นกรณี ๑๔ ตุลา กรณีปอร์ตุเกส หรือกรณีอิหร่าน เราต้องรู้ว่าเราจะมีนโยบายหลักๆ แบบไหน อย่าลืมว่าในการปฏิวัติจะมีการล้มอำนาจเก่าและสัญลักษณ์ต่างๆ ของอำนาจเก่าจะถูกดึงลงมา ลองไปดูภาพที่อิหร่านหรือในยุโรปตะวันออกปี 1989 ก็ได้
การผูกมิตรกับทหารชั้นล่าง และยึดอาวุธ ยึดรถถังถ้าเขากำลังฆ่าเรา
เวลาอำมาตย์สั่งให้ทหารฆ่าเรา เราต้องสามารถคุยกับทหารได้ ต้องคุยล่วงหน้าด้วยซ้ำ และต้องสร้างอุปสรรคต่างๆ กั้นถนน ฯลฯ ไม่ให้รถถังมาปราบเราได้ ในอดีตในไทย เมคซิโก และจีน รถเมล์และสิ่งอื่นๆ ถูกใช้เพื่อปิดถนน ชะลอการขนทหารและรถถัง ซื้อเวลาเพื่อคุยกับทหารธรรมดา ในประเทศอื่นๆเมื่อประชาชนยึดรถถังและอาวุธ เขาจะหันมันใส่ทหารของอำมาตย์ที่ยังพยายามฆ่าประชาชนอยู่ เพื่อให้เขาหยุด ในหลายประเทศเมื่อรถถังถูกปิดกั้น ระเบิดขวดสามารถจัดการกับรถถังได้
นอกจากนี้การยึดสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และสถานที่สำคัญ โดยมวลชนผู้รักประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราต้องทำ “สงครามข่าว” และห้ามปรามการประสานงานของอำมาตย์ นี่คืออีกสาเหตุที่เราต้องมีแนวร่วมในหมู่คนทำงานในสถานที่เหล่านั้น
การยึดสถานที่สำคัญๆ โดยมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอำนาจคู่ขนานขึ้นมาเพื่อท้าทายอำนาจรัฐของอำมาตย์ และเราควรฝึกฝนการท้าทายอำนาจรัฐอำมาตย์ในชุมชนของเราล่วงหน้า เช่นการเข้าไปมีอิทธิพลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในสถานพยาบาล สื่อ โรงเรียน ระบบยุติธรรม และระบบการรักษาความปลอดภัย ฯลฯ
การห้ามปรามเหตุการณ์นองเลือดจากอำมาตย์เป็นอาวุธสำคัญของประชาชนในการลดอำนาจอำมาตย์โดยที่เราไม่ต้องรุนแรงกลับไปเสมอ แต่นี่ไม่ใช่ข้อเสนอให้ใช้สันติวิธี
การเมืองต้องนำทหารเสมอ
ถ้าเราจะชนะอำมาตย์เราต้องใช้การเมืองนำทหารเสมอ ไม่ใช่เน้นการทหาร การใช้อาวุธ หรือการวางระเบิด เพราะในต้านการทหารอำมาตย์แข็งกว่าเรา แต่ในด้านการเมืองเขาอ่อนเพราะเขาครองใจประชาชนไม่ได้ ที่สำคัญคือ ในการต่อสู้เราต้องเสนอเป้าหมายที่เป็นประโยชน์สำหรับพลเมืองจำนวนมากที่ยากจนหรือเป็นคนธรรมดา เราต้องมีเป้าหมายในเรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียม การสร้างงานเพื่อพัฒนาสังคม และการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อให้คนจำนวนมากมองว่ามันคุ้มที่จะล้มอำมาตย์
--
ใจ อึ๊งภากรณ์
http://siamrd.blog.co.uk/
http://redsiam.wordpress.com/
http://wdpress.blog.co.uk/
No comments:
Post a Comment