Sunday, January 2, 2011

นักวิชาการชี้ ปี 54 เป็นปีแห่งสงครามสิทธิเสรีภาพ

http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/150623.html



นักวิชาการชี้ ปี 54 เป็นปีแห่งสงครามสิทธิเสรีภาพ


วันอาทิตย์ ที่ 02 ม.ค. 2554
  Bookmark and Share

จุฬาฯ 2 ม.ค.- นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ประเทศไทยยังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะกลับเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่การเลือกตั้งมีบทบาทสำคัญ ระบุปี 54 จะเป็นปีแห่งสงครามสิทธิเสรีภาพ หากรัฐบาลยังคง พ.ร.บ.ความมั่นคง มีความเป็นไปได้สูง ที่สื่อเสื้อแดงจะกลับมา 

นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ประชาธิปไตย ในปี 2554 ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่มีระบบการเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญ และเราคงไปถึงจุดนั้นช้า ตราบเท่าที่ยังมีอำนาจที่อยู่นอกรัฐสภา และเห็นว่า การคงไว้ซึ่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เรายังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้ามองในแง่ดี การยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ข้อถกเถียงในทางประชาธิปไตยคืบหน้าขึ้น โดยปี 2554 แม้ตัวประชาธิปไตย ในแง่ของกระบวนการ อาจไม่สมบรูณ์ แต่การถกเถียงในประเด็นประชาธิปไตยจะดีมากขึ้น โดยจะถกเถียงกันในเรื่องที่เป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ 

“ผมเชื่อว่า ในปี 2554 สิ่งที่ต้องเผชิญ คือ การถกเถียงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เมื่อสังคมถูกปกปิด ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ภายใต้กฎหมายความมั่นคง โอกาสที่สื่อเสื้อแดงจะกลับมาจะมีสูง ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว การที่รัฐบาลจะอยู่ได้ รัฐบาลต้องโปร่งใส และยืนหยัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ โดยยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งหมด สื่อกระแสหลักบทบาทจะน้อยลง สื่ออื่น โดยเฉพาะโซเชียล มีเดีย ที่จะมีบทบาทมาก ปี 2554 จะเป็นปีแห่งสงครามสิทธิเสรีภาพ” นายพิชญ์ กล่าว และว่า รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการ รัฐบาลต้องอยู่ได้ ต้องทำงานต่อ รัฐบาลต้องเคลียร์ตัวเองหลายเรื่อง ขณะที่ สื่อจะต้องทำงานหนักต่อไป 

เมื่อถามว่า จะบอกกับคนไทยให้อยู่กับประชาธิปไตย แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร นายพิชญ์ กล่าวว่า คนไทยต้องรู้เท่าทันสื่อ ฟังสื่อมาก ตรวจสอบได้ เชื่อเป็น หมดยุคการดูทีวีช่องเดียว ให้คำตอบได้หมด ต้องดูทีวีหลายช่อง แล้วดูว่าเขามีจุดยืนอย่างไร เรามีจุดยืนอย่างไร มุมมองเช่นนี้จะเป็นเรื่องสำคัญ .- สำนักข่าวไทย  
 

No comments:

Post a Comment