ดังนั้น ในปี 2554 ภารกิจหลักของ "กองทัพ" ภายใต้การนำของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.คนใหม่ คือ การสานต่อนโยบายที่ไม่น่าแตกต่างจากยุคของ "พล.อ.อนุพงษ์"
แต่ภายใต้บุคลิกและท่าทีการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ.คนใหม่ โดยเฉพาะสโลแกนเด็ด "ประเทศมี 2 กลุ่ม คนดีและคนไม่ดี" จึงทำให้ฝ่ายหลายมองว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ดูค่อนข้างแข็งกร้าว
ดังนั้น "กองทัพ" ในปี 2554 ถูกจับตามองเป็นพิเศษ
เพราะอย่าลืมว่าปี 2554 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง
บทบาทของกองทัพย่อมมีความสำคัญต่อผลแพ้ชนะและการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง
"มติชน" มองเห็นบทบาทของกองทัพ และมีโอกาสนั่งสนทนากับ "สุรชาติ บำรุงสุข" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านกองทัพกับการเมือง ถือเป็นการสะท้อนบทบาทของกองทัพในปี 2554 เพื่อสร้างความเข้าใจในบริบทของกองทัพและการเมืองมากยิ่งขึ้น
@ มองบทบาทกองทัพกับการเมืองไทยในปี 2554 อย่างไร
แนวโน้มสถานการณ์การเมืองปี 2554 ล้วนเป็นดัชนีที่ไม่ส่งสัญญาณเชิงบวก ที่ผ่านมาเราเห็นสัญญาณเชิงลบ ซึ่งทหารคงไม่ถอยตัวออกจากการเมืองในระยะสั้น คำถาม ถ้าทหารไม่ถอนตัวออกจากการเมืองในระยะสั้น บทบาทของทหารจะสูงมากกว่าปี 2553 หรือไม่ ถ้าสูงมากขึ้นสังคมโดยรวมรับได้หรือไม่ แม้จะมีการเลือกตั้งแต่อำนาจที่แท้จริงยังถูกตัดสินอยู่ในกรม กอง ของทหาร จะนำพาสังคมการเมืองไทยไปอย่างไร
ผมเชื่อว่าประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครอง ซึ่งไม่ว่าทหารจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง ถูกมองว่าเป็นประเทศที่ไม่น่าจะเข้ามาลงทุน และปัจจัยอย่างนี้ไม่เป็นจุดขายทางการเมืองระหว่างประเทศ จุดขายของการเมืองปัจจุบันต้องทำให้การเลือกตั้งเกิด ต้องทำให้ระบบการเลือกตั้งมีเสถียรภาพ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องยุติความคิดที่เชื่อว่าอำนาจนอกระบบเป็นเครื่องมือเดียวในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง
@ ยังเชื่อว่าหากพรรคการเมืองที่กองทัพสนับสนุนแพ้การเลือกตั้ง กองทัพจะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง
ผมเชื่อว่าถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะ เขาจะมีวิธีทำให้พรรคฝ่ายค้านจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้ามีการเลือกตั้งในปี 2554 ปัญหาจะไม่แตกต่างจากเดิม สำหรับผมจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่น่าตื่นเต้น เพราะมีกลไกเครื่องมือทำให้เป็นหวยล็อค
@ หากกองทัพส่งขั้วการเมืองที่สนับสนุนอยู่กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง มองว่ากองทัพจะถอยกลับหรือไม่
ผมไม่เชื่อว่ากองทัพจะถอยในระยะสั้น เนื่องจากเข้าพัวพันกับการเมืองสูง จนไม่แน่ใจว่ารถยนต์คนนี้มีเกียร์ถอยหลังหรือไม่ ผมกลัวว่ายิ่งเดินหน้ามากเท่าไรจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น การเอากองทัพมาอุ้มรัฐบาลอาจจะดูง่าย แต่ในระยะยาวจะดูดีหรือไม่ ไม่แน่ใจ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลโดยผู้นำกองทัพ รัฐบาลจึงไม่ต่างจากตัวแทนของกองทัพ
@ หากพรรคการเมืองที่สนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ กองทัพจะปฏิวัติหรือไม่
ผมยังเชื่อแต่ไม่ฟันธง ว่าการรัฐประหารโดยการลากรถถังไม่ง่าย เพราะถ้าลากรถถังออกมาอีกครั้ง ผมเชื่อว่ากระแสกดดันจากการเมืองภายในและภายนอกประเทศจะรุนแรงขึ้น และเราอาจจะเห็นการต่อต้านที่พาการเมืองไทยไปสู่จุดบางจุด อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ส่วนจะให้ทหารที่ออกมาปฏิวัติแล้วกลับเข้ากรม กอง เหมือนในต่างประเทศ ผมไม่ค่อยเห็นแรงกดดันจากสถาบันทหารเอง เพราะแรงขับเคลื่อนภายในกองทัพมีไม่มาก การปฏิรูปกองทัพของหลายประเทศ มีคณะทหารฝ่ายปฏิรูปเกิดขึ้นภายใน แต่กองทัพไทยอยู่ในลักษณะรวมศูนย์ ทำให้ไม่ค่อยเห็นแรงขับเคลื่อนภายใน อำนาจทั้งหมดอยู่ที่ 5 เสือ แต่ตอนนี้กำลังสงสัยว่าอำนาจทั้งหมดอยู่ที่เสือตัวเดียว คือ ผบ.เหล่าทัพ
ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังให้ทหารปรับตัวกับการเมือง จะเกิดไม่ได้เลย ถ้าหนึ่งเดียวคนนั้น ไม่เกิดวิธีคิด ไม่เกิดการปรับตัว สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มิติการปรับตัวทางการเมือง การปรับตัวทางการทหาร แขวนไว้กันผู้นำกองทัพเพียงไม่กี่คน บูรพาจะพยัคฆ์หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ เพราะสุดท้ายอำนาจทั้งหมดแขวนไว้ที่ ผบ.เหล่าทัพเท่านั้นเอง
@ มองท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. อย่างไร
ผมคิดว่าเป็นผู้นำทหารที่ไม่มีทักษะทางการเมือง ผมไม่แน่ใจว่าผู้นำทหารที่เติบโตขึ้นง่ายและเร็ว ภายใต้กลไกอำนาจหลังรัฐประหารปี 2549 ความเข้าใจทางการเมืองมีแค่ไหน ถ้าเราดูทุกอย่างด้วยสติ สิ่งที่ต้องทำคือการวิเคราะห์ว่าการกระทำหลายอย่างนำพาประเทศไปสู่กับดักหรือออกจากวิกฤต วันหนึ่งหากสังคมไทยเดินไปสู่ความแตกแยกทางความคิดขนาดใหญ่ และไม่มีจุดสิ้นสุด ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะหากความคิดของผู้คนสุกงอมไม่เอารัฐบาล ไม่เอากองทัพ นั่นคือโจทย์ที่น่ากลัวที่สุด
@ มองกลไกการทำงานของศูนย์ติดตามสถานการณ์ (ศตส.) อย่างไร
เรื่องนี้เป็นตัวอย่าง พอเราเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็หันมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง แสดงว่าการเมืองไทยยังไม่พ้นวิกฤต และยังถอยตัวออกจากปมวิกฤตไม่ได้ จะใช้กฎหมายอะไรก็แล้วแต่ แต่สะท้อนว่าการเมืองไทยยังต้องอาศัยกลไกนอกระบบในการแก้ปัญหา
ถ้าเราดูข่าวต่างประเทศมีการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศ คนออกมาตีกับตำรวจ แต่ก็ไม่เห็นมีข้อเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ ไม่มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ภาพสะท้อนปรากฏการณ์บอกว่าระบบการเลือกตั้งในต่างประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น จนสามารถอาศัยกลไกการเมืองปกติแก้ปัญหาได้ วันนี้เราถอยจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ผมกลัวว่าจะเป็นโฆษกหน้าเดิม
ทั้งหมดมันบ่งบอกว่าการเมืองยังจมปลักอยู่ที่เดิม ชอบมีคนเรียกร้องให้การเมืองนิ่ง แต่ที่จริงการเมืองในระบบประชาธิปไตยไม่นิ่ง ความนิ่งของระบบประชาธิปไตยอยู่ที่ว่าเราแก้ปัญหาการเมือง ด้วยกลไกภายในระบบ และเชื่อว่าถ้าเราใช้ระบบประชาธิปไตยแก้ปัญหา เราไม่ต้องใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา
@ การที่บอกว่ายังมีกลุ่มคนเสื้อแดงยังเคลื่อนไหวใช้กำลังมีเหตุผลใด
ผมมีความรู้สึกว่ามีการสร้างผีขึ้นมาตัวหนึ่ง แต่ก่อนผีคอมมิวนิสต์ถูกสร้างขึ้นมาให้คนกลัว วันนี้เสื้อแดงคงถูกใช้ในอาการคล้ายๆ กัน อาการปลุกผีไม่แตกต่างกัน ซึ่งมันเป็นวิธีการเก่า วันนี้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การเคลื่อนไหวอย่างไรล่ะที่เรารับไม่ได้ ผมอยากถามว่าชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยกลัวอะไรกับการตื่นตัวของประชาชนส่วนใหญ่ หรือกลัวว่าท่านทั้งหลายคุมเขาไม่ได้เหมือนเดิม
@ อยากเห็นกองทัพอยู่ในสถานะใด
ผมอยากเห็นกองทัพไทยมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทั้งทางการเมืองและการทหาร ทั้งเวทีในประเทศและเวทีโลก
@ มองการปกครองของไทยในระยะหลังอย่างไร
ระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมยังฝังรากในสังคมไทย ผมไม่แน่ใจว่าการเมืองในกรุงเทพฯกับเมืองเนปิดอร์ (ประเทศพม่า) อันไหนดีกว่ากัน รัฐบาลทหารพม่าพยายามหาตัวแบบ สร้างกลไกนำสถาบันทหารออกจากเวทีต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้โง่ว่าเกิดอะไรขึ้นในเวทีโลก ระยะหลังผมจึงไม่อยากวิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า เพราะหากผมวิจารณ์ ผมไม่รู้ว่าจะตอบคำถามเรื่องทหารในบ้านตัวเองอย่างไร ผมไม่รู้สึกว่าการเมืองในประเทศของผมดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้อินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาท ทำให้โลกเดินไปสู่อนาคตมากขึ้น วันนี้ถ้าผู้นำรัฐบาลและทหาร ยังเชื่อว่าชัยชนะสามารถผ่านการเซ็นเซอร์สื่อ แต่เชื่อเถอะว่าสังคมสมัยใหม่เคลื่อนย้ายไปยังสื่ออินเตอร์เน็ต เพราะแม้จะไล่ปิดแต่ก็ปิดได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้วิธีคิดที่ว่าอำนาจกำลังรบเป็นเครื่องมือชี้ขาดอำนาจทางการเมือง มันอาจตอบได้ในยุทธการบางอย่าง แต่ถ้าถึงวันหนึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เอา
วันนี้ถ้าคนชนบทเขาจัดตั้งรัฐบาล แล้วไม่ยอมให้คนในเมืองล้มรัฐบาล และเรียกร้องขออยากมีรัฐบาลที่เขาเป็นคนเลือก ผมคิดว่าปัญหาชนชั้นกลาง ต้องเลิกวิธีคิดที่ว่าคนชนบทโง่ คนชนบทถูกซื้อเสียง และพวกเขาอ่อนด้อยทางปัญญา อ่อนด้อยทักษะการเมืองกว่าอาจาย์ สื่อ คนในเมือง วิธีคิดดังกล่าวไม่ตอบโจทย์อะไรทั้งสิ้น เพราะจะทำให้การเลือกตั้งเกิดอย่างไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นหวยล็อคอย่างที่อยากได้กัน
วันนี้ความตื่นตัวทางการเมืองเกิดขึ้นในชนบท ซึ่งเราต้องตระหนักว่านั้นเป็นเรื่องดี สังคมไทยกำลังเห็นโรงเรียนการเมืองที่ใหญ่ที่สุด แต่อย่าคิดว่าเป็นโรงเรียนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสีอะไร ประชาชนในทุกสีกำลังถูกหล่อหลอมทางการเมือง ภายใต้เงื่อนไขชุดใหม่
ถ้าเราเชื่อว่าการเลือกตั้งอาศัยการตัดสินของคนส่วนใหญ่เป็นคำตอบ วันนั้นต้องยอมรับว่าประเทศไทยจะสร้างรัฐบาล ที่เป็นรัฐบาลของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอย่างน้อยก่อให้เกิดความผูกพันว่าเป็นรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของ โดยไม่ใช่เฉพาะคนในเมือง ไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่สื่อบางส่วนชี้หน้าว่าคนเสียงส่วนใหญ่เหล่านั้นโง่ ถูกซื้อ ไม่มีความรู้พอ ถ้าเป็นอย่างนั้นประเทศไทยควรสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ไม่ให้คนจน คนชนบท ออกเสียง
"ผมคิดว่าวันนี้เราต้องเปลี่ยน ผมกำลังกลัวว่าดีไม่ดีคนชนบทที่มีความตื่นตัวทางการเมือง มีความรู้ความเข้าใจมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคน"
No comments:
Post a Comment