Monday, January 3, 2011

จาก "ประชาวิวัฒน์" ถึง "การขึ้นเงินเดือน" เท่ากับ "ดูถูกประชาชน" !!!

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1294029450&grpid=01&catid=&subcatid=

จาก "ประชาวิวัฒน์" ถึง "การขึ้นเงินเดือน" เท่ากับ "ดูถูกประชาชน" !!!

วันที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 07:01:03 น.

แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share




โดย ศ. ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ 

บทบรรณาธิการ เว็บไซต์  www.pub-law.net ที่เขียนโดย  ศ. ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ   ฉบับต้อนรับปีใหม่ 2554  ว่าด้วยเรื่อง "ประชาวิวัฒน์" ถึง "การขึ้นเงินเดือน"  มีประเด็นน่าสนใจ   "มติชนออนไลน์" ขออนุญาตนำมาเสนอต่อท่านผู้อ่าน ดังนี้


สวัสดีปีใหม่ 2554 ครับ หวังว่าปีใหม่นี้คงมีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาสู่ชีวิตเราทุกคน และก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยคงรอดพ้นจากเรื่องร้าย ๆ ทั้งหลายทั้งปวงเสียทีครับ !!!
                 

 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลนำเสนอคำว่า “ประชาวิวัฒน์” ต่อสังคมไทยซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคืออะไร จะเหมือนหรือต่างจากนโยบาย “ประชานิยม” ที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร กับรัฐบาลของคุณสมัคร  สุนทรเวช เคยทำมาแล้วและถูกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งตอนนั้นเป็นฝ่ายค้านโจมตีเรื่องดังกล่าวอย่างมาก รวมไปถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารคือรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์ พลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ ก็ออกมาต่อต้านนโยบายประชานิยมอย่างมากด้วยเช่นกัน แต่ไม่ว่าจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม คงหนีไม่พ้นการแจก แจก และแจกของที่แจกได้ให้กับประชาชน เช่น น้ำฟรี ไฟฟรี ขนส่งมวลชนฟรี เช็คช่วยชาติ ฯลฯ

 

หนีไม่พ้น “เงา” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร

 

การแจกแบบนี้ไม่ว่าจะทำโดยรัฐบาลใดก็ตามก็คงหนีไม่พ้น “เงา” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ไปได้ เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลนี้ทำไปและกำลังจะทำ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร และรัฐบาลของคุณสมัคร  สุนทรเวช ยิ่งแจกมากเท่าไร ยิ่งให้มากเท่าไร คนก็ยิ่งพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร มากขึ้นเท่านั้น ลำบากนะครับเพราะในขณะที่บางคนในรัฐบาลพยายามทำให้ประชาชนลืม พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร แต่กลับมีบางคนที่พยายามโดยไม่รู้ตัวทำให้ชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร โผล่ขึ้นมาตลอดเวลา และในบางครั้งก็โผล่ขึ้นมาในลักษณะที่เป็น “ผลร้าย” ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยครับ
                  
 ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงไม่นำเรื่อง “ประชาวิวัฒน์” มาวิพากษ์วิจารณ์เพราะทำไปก็เสียเวลาเปล่า จริง ๆ แล้วในรัฐบาลก็มีหลายคนที่ดูท่าทางแล้วน่าจะ “มีความรู้” พอจะคิดอะไรที่ “เป็นระบบ” ได้ แต่ทำไมไม่ทราบถึงได้คิดแต่จะ “แจก” แต่เพียงอย่างเดียว ผมเคยตั้งคำถามไปหลายหนแล้วว่า เราจะเอาเงินจำนวนมากมายมหาศาลจากไหนมา “แจก” ประชาชนในลักษณะต่าง ๆ เคยถามมาแล้วตั้งแต่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน


ในตอนต้นของรัฐบาลนี้เคยมีข่าวว่าจะมีการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและควรทำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีนโยบายด้านสวัสดิการ แต่ทำไมปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวกลับเงียบหายไป ภาษีที่ควรจะเก็บก็ไม่เก็บ การหารายได้เพิ่มขึ้นมาจากที่ทำได้ก็ไม่มี เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ดี ค่าเงินบาทแข็ง แล้วเราจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อทำโครงการ “ประชาวิวัฒน์” ครับ เพราะจะหารายได้เพิ่มก็คงลำบากเต็มทน จะตัดงบประมาณกองทัพที่เกินความจำเป็นออกไปก็ไม่กล้า สงสัยก็คงต้อง “บากหน้า” ไปกู้เขามาอีกตามเคย ทิ้งภาระหนี้สินก้อนโตไว้ให้กับลูกหลานไทยในวันข้างหน้าเช่นเดียวกับรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา  น่าอายนะครับที่หนีเท่าไหร่ก็หนีไม่พ้น แถมยังต้องเดินตามรอยเท้าเขาอีก !!!

 

"ซื้อใจ" กันครบวงจร

 

 

นอกเหนือจาก “ประชาวิวัฒน์” ที่รัฐบาลนำเสนอเพื่อ “ซื้อใจ” ประชาชนแล้ว ก็ยังมีเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้กับบุคลากรภาครัฐอีกจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย เรียกว่า “ซื้อใจ” กันครบวงจรเลยทีเดียว สงสัยคงใกล้เลือกตั้งแล้วนะครับ !!!
                  
 การขึ้นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐเป็นสิ่งที่ผมรู้สึก “แย่” เป็นอย่างมากแม้ผมเองจะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรภาครัฐที่ได้รับผลดีจากการขึ้นเงินเดือนก็ตาม  แต่อย่างไรก็ดี หากไม่มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นหลักก็จะพบว่า การขึ้นเงินเดือนบุคลากรภาครัฐครั้งนี้น่าจะมีแต่ “เสีย” มากกว่าได้นะครับ ลองมาดูกันดีกว่า
                   
เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 9 ฉบับ เกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู จำนวน 5 % โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 และใกล้ ๆ กันก็มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีเสนอให้ปรับเงินเดือนให้แก่องค์กรอิสระและนักการเมือง 14.9% ต่อมาก็มีข่าวว่าจะมีการปรับเงินเดือนให้กับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลในวันที่ 1 มกราคม 2554 และล่าสุด มีข่าวออกมาอีกเช่นกันว่า จะมีการปรับเงินค่าตอบแทนพนักงานสอบสวนย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ไม่ทราบว่าผมตกหล่นเรื่องอะไรไปบ้างหรือเปล่า แต่เท่าที่ได้เสนอให้ดูไปข้างต้นคงเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์ได้ในบทบรรณาธิการครั้งนี้แล้วนะครับ
             
เหตุเกิดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ   

 

โดยส่วนตัวก่อน ผมคิดอยู่เสมอมาตลอดว่า เงินกับผลงานเป็นสิ่งที่คู่กัน ทำงานมากก็ควรต้องได้เงินมาก เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เหตุเกิดที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นี่เองครับ ในช่วงเวลานั้นมีการพูดกันมากว่า เงินค่าตอบแทนของอาจารย์สอนกฎหมายน้อยกว่าผู้ที่ทำงานด้านกฎหมาย เช่น ผู้พิพากษา อัยการ หากเงินเดือนน้อย อาจารย์ก็จะหนีไปอยู่ที่อื่นและก็จะหาคนมาเป็นอาจารย์ได้ยาก ถ้าผมจำไม่ผิด ในตอนนั้นมีการคิดกันว่าจะหาเงินมาจ่ายเพิ่มให้กับอาจารย์ที่แสดงความประสงค์จะขอรับ โดยผู้แสดงความประสงค์จะต้องผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น สอนหนังสือไม่น้อยกว่ากี่หน่วยกิตต่อสัปดาห์ เป็นต้น

 

 

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่มีโอกาสได้คัดค้านอย่างเป็นทางการเพราะผมไม่มีตำแหน่งใด ๆ เลยในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เลยไม่มี “เวที” ที่จะไปพูดคัดค้าน ที่ทำได้ก็คือบ่นกับอาจารย์ผู้ใหญ่บางคนด้วยความเสียใจว่า จริง ๆ แล้ว คนที่จะได้เงินเพิ่มควรต้องทำงาน “พิเศษ” ให้มากกว่างานปกติ เช่นอาจารย์ที่มีหน้าที่สอนหนังสือหากอยากได้เงินเพิ่มก็ควรเขียนหนังสือด้วย เป็นต้น


เพราะในปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมากไม่ค่อยเขียนหนังสือกัน ผมดูเฉพาะด้านนิติศาสตร์แล้วก็พบว่า มีอาจารย์เขียนหนังสือกันน้อยมาก บางคนอยู่จนแก่ยังไม่เคยมีหนังสือที่เป็นตำราทางวิชาการที่สามารถนำมาใช้สอนในวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบได้ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ “น่าอาย” เป็นอย่างยิ่งอีกเช่นกันเพราะภารกิจหลักของอาจารย์คือการสอน เวลาว่างที่มีก็ต้องเตรียมสอน คนที่เป็นอาจารย์มาหลายปีก็หมายความว่าต้องมีเวลาว่างที่ใช้สำหรับเตรียมการสอนมาหลายปีเช่นกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่แปลกเพราะมีอาจารย์จำนวนมากที่ไม่มีตำราเป็นของตัวเองเลยสักเล่ม จึงเป็นเรื่องที่ผิดปกติวิสัยของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง


 เพราะฉะนั้น หากเราตั้งธงว่าจะต้องเพิ่มเงินเดือนก็ควรจะต้องเพิ่มให้กับคนที่มีผลงานพิเศษนอกเหนือไปจากการสอน ก็คือ การเขียนตำรา หากต้องหาเงินมาเพิ่มให้กับอาจารย์ประเภทที่ไม่เคยเขียนตำราเพราะกลัวสมองไหล ผมว่าสมองแบบนั้นปล่อยให้ไหลไปดีกว่าครับ เป็นอาจารย์ต้องทำงานด้วยใจ ไม่ใช่คอยดูว่าผู้พิพากษาหรืออัยการได้เงินมากกว่าเราแล้วเราต้องได้ด้วย ถ้าไม่พอใจอาชีพอาจารย์เพราะเงินน้อยก็ไปสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการก็ได้ ถ้าสอบได้นะครับ !!!


 เรื่องดังกล่าวผมไม่ทราบว่าลงเอยอย่างไร ในที่สุดแล้วมีการเพิ่มเงินให้กับอาจารย์หรือไม่ก็ไม่ทราบเพราะผมไม่ได้แสดงความประสงค์ในการขอรับเงินเพิ่มเนื่องจากคิดว่าเหมาะสมแล้วและเกณฑ์ในการขอเงินเพิ่มก็ไม่ได้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเลยกับสังคมและกับนิสิตครับ
                   
ที่เล่ามาก็เพื่อให้เห็นว่า ทุกอาชีพสนใจที่จะได้เงินเพิ่มกันทั้งนั้น คิดอะไรไม่ออกก็หาเงินเพิ่มให้กับตัวเอง ไม่ต้องดูอื่นไกลนะครับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 หลายองค์กรก็ล้วนแล้วแต่เจอ “วิบากกรรม” กับการหาช่องทางที่ทำให้ตัวเองได้เงินเพิ่มกันมาแล้วหลายองค์กรด้วยกันครับ
                   
กลับมาเรื่องการขึ้นเงินเดือนของบุคลากรภาครัฐในปัจจุบัน ไม่มีเสียงคัดค้านการขึ้นเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ครู หรือถ้ามีก็คงน้อยมากเพราะทราบกันอยู่แล้วว่า ข้าราชการทุกประเภททำงานเต็มเวลา และค่าครองชีพก็สูงขึ้นทุกวัน ๆ แต่ที่มีเสียงคัดค้านกันมากก็คือ การขึ้นเงินเดือนสมาชิกรัฐสภากับองค์การบริหารส่วนตำบลในหลาย ๆ เหตุผลด้วยกัน  ลองมาดูความเหมาะสมของการขึ้นเงินเดือนให้กับสมาชิกรัฐสภากันก่อน เป็นที่ทราบกันดีว่าหน้าที่หลักของรัฐสภาคือการผลิตกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาของประเทศและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคม

 

 

แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสมัยนิติบัญญัติที่ผ่านมา รัฐสภาเห็นชอบร่างกฎหมายไปเพียง 20 ฉบับ แต่ยังมีร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกเป็นร้อยฉบับ ในจำนวนนั้นมีร่างกฎหมายที่ประชาชนใช้สิทธิในการเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญอยู่ 18 ฉบับ ส่วนในวุฒิสภาก็มีร่างกฎหมายที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เช่นเดียวกันแต่ก็ไม่มาก
                  
 ผมคงไม่ต้องพูดถึงเรื่อง“สภาล่ม” ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก และคงไม่ต้องพูดถึง “จำนวน” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง เพราะมีผู้นำเอาข้อมูลเหล่านั้นออกมาเผยแพร่ไปบ้างแล้ว เช่น มี ส.ส.ที่มาลงคะแนนครบทุกคนครั้งจำนวนเพียง 58 คนจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 474 คน (12.24%) ซึ่งก็เป็นจำนวนที่น้อยมากและอาจจะเรียกได้ว่าน้อยอย่างไม่น่าเป็นไปได้เมื่อเทียบกับ “สถานะ” ขององค์กรที่มีหน้าที่สำคัญที่สุดในประเทศครับ
                   
ปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ค่าตอบแทนมากอยู่แล้ว แถมยังมีเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาล ไปดูงานต่างประเทศก็บ่อย มีผู้ช่วยได้อีกตั้งหลายคน สรุปแล้ว ส.ส. คนหนึ่งประเทศชาติต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนต่อคนต่อเดือนร่วมสองแสนบาท


คำถามก็คือ ยังน้อยอยู่อีกหรือเมื่อเทียบกับทหารหรือตำรวจที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ถูกกดดันจากทุก ๆ ทาง หรือกรรมกรที่ทำงานหนักเพื่อแลกกับเงินวันละ 200 กว่าบาท เรื่องนี้ผมคงตอบไม่ได้นอกจากจะนำแนวคิดเดิมที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นเกี่ยวกับการให้เงินตอบแทนพิเศษกับอาจารย์สอนกฎหมายก็คือ ต้องดูผลงานเป็นหลัก อยากได้เงินเพิ่มก็ต้องทำงานเพิ่ม ซึ่งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้นบอกตรง ๆ เสียดายเงินภาษีอากรมาก  สภาล่มบ่อยครั้ง ส.ส. ขาดประชุมจำนวนมาก กฎหมายออกไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก  สำหรับผม แค่ 3 กรณีนี้ก็เป็นเหตุผลที่พอเพียงแล้วที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่บังเอิญไม่ใช่ผม วันนี้ ส.ส. ก็เลยมีโอกาสที่จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีก 14.9% มากกว่าเงินเดือนที่เพิ่มให้กับข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และครู เกือบ 10% เลยทีเดียวครับ
                
 

 ผมสงสัยว่า การขึ้นเงินเดือนให้กับ ส.ส. จำนวน 14.9% มีที่มาจากฐานใด เพราะจากสถิติที่นำเสนอไปแล้วคือ ขาดงานบ่อย ผลงานไม่มี ถ้าเป็นลูกจ้างภาคเอกชนคงถูกไล่ออกไปนานแล้วครับ ที่ถูก น่าจะลองดูวิธีการจ่ายเงินค่าตอบแทนคนพวกนี้ใหม่ เช่น เงินเดือนของแต่ละคนขึ้นอยู่กับการทำงานและผลงานที่ออกมา มาประชุมครบ มีการพูดอภิปราย แปรญัตติที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เป็นต้น ก็ลองเสนอเล่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้วครับ
                

  ส่วนการขึ้นเงินเดือนให้กับ อบต. นั้น ก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า อบต. เป็นฐานเสียงของนักการเมืองระดับชาติ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ระบบการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์  แต่ในทางปฏิบัติ 10 กว่าปีที่ผ่านมาการกระจายอำนาจของเราก็ยังคงล้าหลังอยู่และไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิมเท่าไรนักทั้ง ๆ ที่เรามีกฎหมายจำนวนมากออกมา “เอื้อ” กับการกระจายอำนาจ และก็เป็นที่น่าแปลกใจที่นับตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศไม่เคยดำเนินการใด ๆ ที่จะทำให้การกระจายอำนาจไปถึงและบรรลุวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่อยู่ดีๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การสมยอมของคณะรัฐมนตรี กลับขึ้นเงินเดือนให้กับ อบต. ที่ต่างคนก็ต่างมีอาชีพของตัวเองอยู่แล้ว 


และนอกจากนี้ ก็ยังมีข่าวของการทุจริตคอร์รัปชันระดับท้องถิ่นอยู่มากและก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อีกเช่นกัน ผมคิดว่าก่อนที่จะคิดขึ้นเงินเดือนควรจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ประชาชนในท้องถิ่นได้อะไรบ้างจากการกระจายอำนาจแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ครับ หากสมประโยชน์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการกระจายอำนาจ อยากจะขึ้นเงินเดือนเท่าไหร่ก็คงไม่มีใครว่า ไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนเพราะนี่คือ “ฐานเสียง” ทางการเมืองครับ นอกจากนี้แล้ว ไม่คิดบ้างหรือไรว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ คือ อบจ. เทศบาล กทม. และเมืองพัทยาก็ควรมีสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนด้วยเช่นเดียวกับ อบต. ครับ !!!
                 
 เสียดายเงินภาษีอากรของประชาชนนะครับที่ต้องเสียไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องและกับคนที่ไม่ได้เรื่องด้วย บ้านเราวันนี้เป็นแบบนี้กันไปหมด คนดี ๆ คนเก่ง ๆ หายไปจากสังคม ปล่อยให้ใครก็ไม่ทราบออกมา “ลอยหน้าลอยตา” กันอยู่เต็มไปหมด แล้วก็ “เรียกร้อง” สิ่งต่าง ๆ จากเรา ทวงบุญทวงคุณว่าเข้ามาทำงานให้ ปัญหาใหญ่ในบ้านเราวันนี้จึงน่าจะอยู่ที่ระบบของการคัดคนเข้ามาทำงานนะครับ ที่ถูกต้องก็คือใครจะเข้ามาทำงานอะไรก็ต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาผลิตกฎหมายให้กับประเทศชาติก็ต้องเป็นผู้มีความรู้ทางวิชาการ ตั้งใจทำงาน ประโยชน์ตอบแทนก็ต้องพอใจรับตามสมควรเช่นเดียวกับผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาทำงานในตำแหน่งอื่นๆด้วยที่ควรที่จะต้อง “รู้” ถึงคุณสมบัติเฉพาะของผู้ที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้น ไม่ใช่มาประชุมแล้วก็ไม่รู้เรื่อง พูดอะไรก็ไม่เข้าใจ ก็เลยไม่เข้าประชุมดีกว่า หนีไปนั่งอยู่ในห้องกาแฟหรือไม่ก็ไปนั่งอยู่ตามหน้าห้องรัฐมนตรียังจะดูมี “อำนาจ” มากกว่า เป็นอย่างนี้สภาถึงได้ล่มบ่อยครั้งครับ
  
 หมอฟันเป็นผู้ผ่าตัดหัวใจ               
 
จริง ๆ อยากจะเขียนเรื่องแนวคิดของการขึ้นเงินเดือนให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระด้วย แต่เนื่องจากเนื้อที่ไม่พอก็เลยต้องขอติดค้างเอาไว้ก่อน จะขอกล่าวถึงแต่เพียงว่า คุณสมบัติของบุคคลที่เข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติเป็นสิ่งที่เราคงต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและมากที่สุดสำหรับทุกตำแหน่ง หลาย ๆ คนอาจมองไม่เห็นภาพ ลองพิจารณาดูแพทย์แต่ละประเภทดูก็ได้ครับ เราคงไม่ขอให้หมอฟันเป็นผู้ผ่าตัดหัวใจเป็นแน่ทั้ง ๆ ที่หมอฟันก็เป็นหมอเช่นกัน ฉันใดก็ฉันนั้น นักกฎหมายก็มีหลายสาขา แต่ทุกวันนี้ นักกฎหมายที่มาจากสาขาเอกชนกลับเข้ามายึดงานที่ควรจะเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายสาขามหาชนไปหมดไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้กระทั่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเองที่ต้องเป็นผู้มีความจัดเจนในด้านกฎหมายมหาชน แต่ในปัจจุบันก็อย่างที่เห็นๆกันอยู่ว่ามีบางส่วนไม่ใช่นักกฎหมายมหาชนครับ !!!


คงต้องหาสาเหตุกันอย่างจริงจังแล้วว่า มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบการคัดเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่ง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ใช่ว่าใครก็ตามจะเข้ามาทำได้ นักกฎหมายที่เป็นนักกฎหมายเอกชนมาแต่อ้อนแต่ออก จะมาเปลี่ยนเป็นนักกฎหมายมหาชนในทันทีทันใดคงเป็นไปไม่ได้ แนวคิดต่าง ๆ และความเชี่ยวชาญในการทำงานไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ ครับ
                  
 ก็ต้องขอจบเรื่องการขึ้นเงินเดือนเอาไว้แต่เพียงแค่นี้ เพราะเขียนต่อไปก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น เนื่องจากวิธีการมองต่างกัน  อยากจะขอให้หยุดการขึ้นเงินเดือนที่ว่าเอาไว้ก่อนแล้วพิจารณาใหม่ทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนก็ไม่กล้า เพราะฉะนั้น ก็เลยขอ "ยุส่ง" ไปเลยว่า ถ้าจะให้ครบวงจรและสนุกมากไปกว่านี้ เมื่อรัฐบาลเสนอขึ้นเงินเดือนให้กับนักการเมืองจำนวน 14.9% ก็ควรที่จะเสนอขึ้นเงินเดือนให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญด้วยเพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาปฏิบัติหน้าที่ได้เด็ดขาดและดีเยี่ยมเหลือเกินครับ
             
  ประชาชนก็จะกลายเป็นคนโง่ที่ถูกรัฐบาลหลอกมา  

 

“ประชาวิวัฒน์” กับ “การขึ้นเงินเดือน” คงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงสำหรับการเป็น “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เป็นแน่ และก็คงไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงสำหรับถ้อยคำที่ว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” เช่นเดียวกัน รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การดำเนินการทั้งหมดซึ่งใช้เงินภาษีอากรของประชาชนนั้นไม่ได้หวังผลเพื่อ “การเมือง” ในทางที่เป็นคุณกับตนเอง เพราะหากพิสูจน์ไม่ได้ก็หมายความว่า ประชาชนก็จะกลายเป็นคนโง่ที่ถูกรัฐบาลหลอกมาไม่รู้กี่รัฐบาล ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสียภาษีไปเท่าไหร่ก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมามากมายนักเพราะถูกนักการเมืองเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองโดยมีประชาชนเป็นข้ออ้าง
                
  ปีใหม่แล้ว ของขวัญที่ประชาชนคนไทยควรได้รับน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์จริงจังกับประชาชนมากกว่าได้แค่ผลพลอยได้ เพราะผลพลอยได้หมายความว่า ต้องมีคนได้ก่อนแล้วประชาชนจึงได้สิ่งที่ตามมาทั้ง ๆ ที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของเงิน ทำกันแบบนี้แล้วจะไม่ให้คิดมากได้อย่างไรครับ !! แทนที่ประชาชนจะได้ของขวัญปีใหม่ที่ดี แทนที่ประเทศชาติจะหลุดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลกลับคิดได้แค่เสนอขึ้นเงินเดือนให้กับ “คนที่ทำงานไม่คุ้มเงินเดือน”
               
    แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมตั้งชื่อบทบรรณาธิการครั้งนี้ว่า “ดูถูกประชาชน” ได้อย่างไรครับ !!!

No comments:

Post a Comment