เสวนา: จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ 'พื้นที่' สังคมไทย (ตอนที่ 2)
Wed, 2011-03-16 15:21
พฤกษ์พูดถึงความเพิกเฉยต่อสถานการณ์วิกฤติทางการเมืองที่ทำให้มีคนตาย 90 กว่าคน การพูดถึง 'รัฐ' แต่ในเชิงนามธรรม การไม่มีผลประโยชน์ยึดโยงอะไรกับประชาชน วินัย บุญลือ เล่าเรื่องเปรียบเปรยว่านักศึกษาอาจยังเข้าไม่ถึงแก่นของอาจารย์
ภาพโดย http://www.rentvine.com/
วันที่ 13 มี.ค. 2554 ในงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "ท้าทายสังคมศาสตร์ไทย: ความรู้ท่วมหัว เอาตัว(สังคม)ไม่รอด" ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง “จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ ‘พื้นที่’สังคมไทย” นำเสวนา โดย พฤกษ์ เถาถวิล, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร, วินัย บุญลือ ดำเนินรายการโดย อัจฉรา รักยุติธรรม
ก่อนการเสวนา ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาว่าในฐานะที่ยังคงวนเวียนอยู่กับ วงการสังคมศาสตร์เช่นนี้ มี "ความคาดหวัง" จากห้องเรียนสังคมศาสตร์อย่างไร มี "ความหวัง" จากห้องเรียนสังคมศาสตร์หรือไม่ โดยกล่าวถึงชื่องานเสวนา "ความรู้ท่วมหัวเอาตัว(สังคม)ไม่รอด" ว่าการเรียนสังคมศาสตร์สามารถสร้างความรู้เพื่อจะเป็นคำตอบของสังคมไทยได้ หรือไม่ ห้องเรียนสังคมศาสตร์ช่วยสร้างสังคมทีดีขึ้นได้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังมากเกินไปหรือเปล่า
หลังจากตอนที่ 1 ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของวิทยากร 2 ท่านคือ ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ไปแล้ว ในตอนที่ 2 จะเป็นการนำเสนอข้อคิดเห็นของวิทยากรที่เหลืออีก 2 ท่านคือ ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล และ นายวินัย บุญลือ
พฤกษ์: ความนิ่งเฉยอย่างน่าผิดหวังของปัญญาชน
พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตีความหัวข้อนี้เป็นประเด็นเรื่อง "ปัญญาชนสังคมศาสตร์กับกระบวนการทางสังคม" โดยให้นิยามคำว่า 'ปัญญาชน' ว่าเป็นครู-อาจารย์ นักศึกษา อาจรวมถึงนักกิจกรรมที่ผ่านการเรียนรู้ในทางสังคมศาสตร์
พฤกษ์กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาปัญญาชนเป็นกลุ่มที่คอยชี้นำ เป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ด้อยอำนาจได้เป็นอย่างดี ดูจากการวิจัยการเรียนการสอน การเข้าร่วมกิจกรรมกับบุคคลเหล่านั้น การเชื่อมโยงระหว่างปัญญาชนกับชาวบ้านคือเรื่องประเด็นปัญหาที่พวกเขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิฯ ของคนกลุ่มต่างๆ เรื่องคนชายขอบ เรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการร่วมกับชาวบ้านที่มีปัญหาเดือดร้อนต่างๆ
พฤกษ์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองที่มีนัยสำคัญสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญญาชนทางสังคมศาสตร์กลับมีบทบาทที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา ส่วนใหญ่นิ่งเฉย แม้กระทั่งบางส่วนก็มีบทบาทที่สวนทางอย่างน่าผิดหวัง
พฤกษ์ขยายความว่า ปรากฏการณ์สำคัญทางสังคมและการเมืองดังกล่าวคือ "การชุมนุมขนานใหญ่ของประชาชนเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น"
"เพียงแต่คนเหล่านี้นิยมทักษิณ และใส่เสื้อสีแดง" พฤกษ์กล่าว
พฤกษ์กล่าวต่อว่า ปรากฏการณ์ต่อมาคือ "การสังหารโหดกลางเมือง 90 กว่าชีวิต" ท่ามกลางการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารผู้ที่เข้าอินเทอร์เน็ตได้ก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกลางเมืองหลวง แต่รัฐบาลที่ควรจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ก็ยังคงมีอำนาจต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นผู้กระทำหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้
"แต่โดยบรรทัดฐานของสังคมอารยะทั่วไป รัฐบาลอยู่ไม่ได้ เราไม่สมควรให้รัฐบาลอยู่" พฤกษ์กล่าว
ประเด็นต่อมาพฤกษ์กล่าวถึงการพยายามเสนอการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล การใช้สองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม และการใช้กฏหมายอาญามาตรา 112 ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจที่ปัญญาชนส่วนใหญ่กลับเงียบเฉยต่อปรากฏการณ์เหล่านี้
โดยส่วนตัวพฤกษ์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตการณ์ แม้บางคนอาจจะไม่นิยมเสื้อแดง แต่เหตุที่มีคนเสียชีวิตก็ควรถือว่าพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นสามัญสำนึกขั้นต่ำมากๆ ที่คนไม่จำเป็นต้องเป็นปัญญาชนควรจะมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์
"คนที่ยอมให้มันเกิดอย่างนี้ได้ ผมมองว่ามันน่าตกใจ" พฤกษ์กล่าว
พฤกษ์กล่าวว่า แม้เรื่องเหล่านี้อาจต้องใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในการทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเป็นนักสังคมศาสตร์ นักสันติวิธี หรือนักสิทธิมนุษยชนชั้นแนวหน้า ก็เข้าใจได้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา เป็นเรื่องที่ข้ามพ้นจากเรื่องสีเสื้อ
"เป็นเรื่องที่เราไม่ควรละเว้น ถ้าเราละเว้นคำถามก็คือ เราจะมีปัญญาชนไว้ทำไม" พฤกษ์กล่าวและว่า "ผมอุปมาว่าเรากำลังนั่งคุยกันตามประสานักสังคมศาสตร์ กำลังคุยว่าเราจะทำให้สังคมมันดีขึ้นยังไง อยู่ๆ มีคนโยนศพลงมาหน้าห้องประชุม เราไม่ชอบหน้าคนนี้หรอก แต่มันตายอย่างมีเงื่อนงำ แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อสถานการณ์นี้"
"เราจะละเว้นไม่สนใจได้หรือ ดังที่ปัญญาชนส่วนใหญ่บอกว่าเอาไว้ก่อนนะ เราไม่ถนัด เราขอเดินอ้อมไปก่อน ขอเดินข้ามไปก่อนเพราะเรามีภารกิจที่สำคัญรออยู่ข้างหน้า" พฤกษ์กล่าว และบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นการตั้งประเด็นไว้ให้ถกเถียงกันต่อไป
ปัญหาการพูดถึง ‘รัฐ’ แต่ในเชิงนามธรรม
พฤกษ์กล่าวในอีกประเด็นหนึ่งว่า เหตุใดปัญญาชนสังคมศาสตร์ไทยถึงเพิกเฉยหรือเซ็นเซอร์ตัวเองต่อวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา
พฤกษ์ให้ความเห็นว่า ประการแรกคือปัญหาเรื่องท่าทีต่อรัฐของปัญญาชน อาจารย์บางท่านอาจมองว่าปัญญาชนไทยไม่มีจินตภาพเรื่อง 'รัฐ' แต่พฤกษ์เห็นว่าคำว่า 'รัฐ' ที่ปัญญาชนไทยมองไม่ใช่รัฐโดยภาพรวม นักสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า 'รัฐ' คือสถาบันหลักที่กำกับความสัมพันธ์ในสังคม มีการวิจารณ์เรื่อง 'รัฐ' กันอย่างซับซ้อนแหลมคม แต่คำว่า 'รัฐ' ที่ปัญญาชนวิจารณ์ก็เป็นเพียงรัฐในเชิงนามธรรม
"ปัญหาคือเวลาเราพูดเรื่องรัฐ เราพูดมันอยู่ในโลกวิชาการ เราพูดถึงรัฐที่เป็นนามธรรม เราวิจารณ์ในเชิงหลักการ เป็นรัฐที่เป็นอกาลิโก เหนือกาล เหนือสถานที่" พฤกษ์กล่าวและว่า "เวลาเราพูดเรื่องรัฐมันเหมือนเราพูดถึงนรก-สวรรค์"
พฤกษ์กล่าวต่อว่า แต่เมื่อรัฐในความเป็นจริงสำแดงอำนาจออกมา แม้จะ "ป่าเถื่อน" "ต่ำต้อยกว่ามาตรฐานของสังคมอารยะ" เพียงใดก็ตามก็กลับละเว้นที่จะวิจารณ์ เมื่อใดก็ตามที่เราต้องวิจารณ์ผู้มีอำนาจตัวจริงในสังคม ก็จะเว้นไว้ก่อนหรือมีการแก้ต่างให้
"ดังนั้น พวกเราถึงวิจารณ์รัฐในทุกเรื่อง แต่ไม่วิจารณ์เรื่องกระบวนการยุติธรรม เราไม่วิจารณ์กองทัพ ไม่วิจารณ์องคมนตรี ไม่พูดถึงกฏหมายบางมาตรา แม้มันจะผิด หรือจะเป็นห่วงคล้องคอเราอยู่ก็ตาม" พฤกษ์กล่าวและบอกอีกว่า สิ่งเหล่านี้กลายเป็นท่าที เป็นวัฒนธรรมในวงปัญญาชน เป็นปัญหาสองมาตรฐานในวงวิชาการ
หนีไม่พ้น ระบบอุปถัมภ์-ระบบราชการ
พฤกษ์กล่าวถึงประเด็นที่สองว่า เป็นปัญหาเรื่องสถานภาพทางสังคมของพวกเขา ปัญญาชนบางคนมีสถานภาพเชื่อมโยงผลประโยชน์กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องอันใดกับประชาชน ซึ่งรวมถึงการที่ต้องขึ้นอยู่กับระบบราชการไม่มีความยึดโยงกับประชาชน
"เศรษฐกิจจะแย่ คนจะตกงาน พรรคใดจะเป็นรัฐบาล ไข่จะชั่งกิโลขาย จะหาซื้อน้ำมันปาล์มไม่ได้ ประเทศไหนจะแผ่นดินไหว หรือรวมถึงการเคลื่อนไหวในแอฟริกา-โลกอาหรับด้วยก็ได้ มันก็ไม่เกี่ยวกับเรา" พฤกษ์กล่าวถึงท่าทีของปัญญาชนบางส่วน "สิ้นเดือนเราก็จะได้รับเงินเดือน และเงินเดือนก็จะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เราทำงาน เพราะเจ้านายของเราคือระบบราชการ"
พฤกษ์กล่าวถึงประการสุดท้ายคือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าในระบบราชการ การได้เลื่อนขั้นทางวิชาการ การจะได้ตำแหน่งบริหาร การจะได้ทุนไปต่างประเทศขึ้นอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นเรื่องเส้นสายระบบอุปถัมภ์เกี่ยวข้องกับเรื่องสำคัญของพวกเขา คือเรื่องการได้รับทุนวิจัย ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่มีอิทธิพลดูได้จากงบประมาณที่ได้รับแต่ละปี
"แต่ก็คงเป็นการมักง่ายเกินไปที่จะบอกว่าแหล่งทุนวิจัยเหล่านั้นทำหน้าที่สนองความมั่นคงของรัฐอย่างทื่อๆ แต่ก็คงไม่ผิดที่จะบอกว่าทุนวิจัยมีวาระ (agenda) บางอย่าง และมีผู้มีอิทธิพลจำนวนหนึ่งในการเลือกสรรโครงการวิจัย" พฤกษ์กล่าว
"สำหรับนักวิชาการอาวุโส การที่จะได้เป็นนักวิชาการโครงการขนาดใหญ่ วงเงินหลายๆ ล้าน การมีความสามารถทางวิชาการอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแหล่งทุนด้วย สำหรับนักวิชาการย่อยๆ ลงมาการจะได้ร่วมชุดวิจัยกับโครงการใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักวิชาการรุ่นใหญ่หรือไม่" พฤกษ์กล่าว
พฤกษ์ให้ความเห็นต่อว่า ระบบอุปถัมภ์ทำให้เกิดการ "ว่าอะไรก็ว่าตามกัน" เช่นการที่ปัญญาชนบางกลุ่มเข้าร่วมเป็นเสื้อสีหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอะไรซับซ้อนไปกว่าผู้หลักผู้ใหญ่อาจารย์ของตนเข้าร่วมกับเสื้อสีนั้น หรือปัญญาชนที่เข้าร่วมคณะปฏิรูปเพราะมีผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพชักชวนเข้าไป
หรือปัญญาชนยึดโยงกับ ‘อำมาตย์’ มากกว่าประชาชน?
"ทั้งสามประเด็นแสดงให้เห็นว่า ปัญญาชนไม่ได้มีบทบาทยึดโยงกับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะในแง่ผลประโยชน์ หรือความสัมพันธ์ในแง่มุมใด แต่ปัญญาชนอย่างพวกเรายึดโยงอย่างแน่นแฟ้นกับระบบราชการ ซึ่งในระบบราชการก็โยงขึ้นไปสู่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ-การเมืองไทย" พฤกษ์กล่าวสรุป
"คงจะไม่ผิดที่จะเรียกส่วนที่เรายึดโยง โดยอาศัยวาทะยอดนิยมทางการเมืองว่า 'อำมาตย์' และคงจะไม่ผิดเกินไปหากเราบอกว่านักวิชาการก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบอำมาตย์" พฤกษ์กล่าวและบอกว่าสิ่งเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงเซ็นเซอร์ตัวเอง เฉยชาต่อเหตุการณ์ ไม่กล้าพูดในสิ่งที่จะกระทบต่อสถานภาพ วิจารณ์ 'รัฐ' แบบที่เป็นนามธรรม เลือกสัมพันธ์กับชาวบ้านเพียงบางกลุ่มตามรสนิยมที่มี
พฤกษ์เสนอทางออกต่อปัญหานี้ว่า ต้องทำให้ปัญญาชนมีความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกับประชาชน แทนที่จะยึดโยงกับระบบราชการหรือ "อำมาตย์" พฤกษ์ออกตัวว่าทางออกเชิงรูปธรรมที่เสนอนี้ยังเป็นท่าทีแบบทีเล่นทีจริง คือเสนอให้เงินเดือนแบบลอยตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีก็เงินเดือนขึ้น เศรษฐกิจแย่ก็เงินเดือนตก ส่วนเรื่องการทำประเมินต่างๆ เรื่องคุณภาพหลักสูตรหรือการขอทุนวิจัย ก็ต้องเปลี่ยนโดยการเอา สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ออกไป แล้วลองให้ อบต. เป็นผู้ประเมินดูบ้าง
วินัย: เรื่องตลกของนักเทศน์เครายาว
วินัย บุญลือ นักศึกษาปริญญาเอก ม.เชียงใหม่ เริ่มต้นการเสวนาด้วยการเล่า "เรื่องตลก" ว่า
"มีนักเทศน์ชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง หนวดดกดำ พร่ำสอนในดินแดนหมื่นลี้พันวา พร่ำสอนเทศน์เกี่ยวกับทฤษฎี เช่น ความซับซ้อนของทฤษฎีไข่มดแดง ว่าชาวบ้านเขามีทฤษฎีไข่มดแดงหรือความซับซ้อนของสิทธิ หรือไม่เช่นนั้นก็คือต้นเหตุมรณะของมหาวิทยาลัยคอนแนล ที่คอนแนลปลูกแต่ต้นเอล์มอย่างเดียว พอมันตายก็ตายหมด แล้วเขาก็สรุปได้ว่าเพราะฉะนั้นทางออกก็คือ สรุปได้ว่าน่าจะเป็น 'บักแคว่นและต้นต๋าว' ที่จังหวัดน่าน" วินัยเล่า
"ขณะที่พร่ำสอนอยู่นั้น ก็จะมีนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ปกติเขาจะนั่งอยู่บนแท่นธรรมมาสแทนโพเดียม ก็มีคนนั่งฟังอยู่แล้วมีคนหนึ่งก็เริ่มร้องไห้ เริ่มเศร้า เพราะนักเทศน์คนนี้ก็ตีหน้าเศร้าเล่าความจริงเขาฟัง แล้วก็เสริมซึมซับเอาความเศร้าเหล่านี้เข้ามาในจิตใจของตนเอง ยิ่งทำให้นักเทศน์คนนี้ฮึกเหิมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดสามารถดึงเอาอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังเหล่านี้ได้ ด้วยความฮึกเหิมหลังจากพูดเสร็จก็ลงไปถามว่า 'คุณป้าครับขอบคุณมากนะครับที่มาฟังผมพร่ำสอน รู้สึกดีใจมากที่มีอารมณ์ร่วม แต่ว่ามีความเศร้าอะไรหรือ' ป้าก็ตอบว่า 'ตอนที่ท่านเทศน์สอนอยู่นี้ หนวดยาวๆ ของท่านทำให้ดิฉันคิดถึงแพะของฉัน ที่เพิ่งตายไปเมื่อไม่นานมานี้ทำให้เกิดความเศร้า' " วินัยเล่าต่อ
วินัยบอกว่าสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอจากเรื่องเล่านี้โยงกับประเด็นเรื่องห้องเรียนสังคมศาสตร์ต่อสังคมไทย โดยเริ่มชวนตั้งคำถามว่า 'สังคมไทย' มีจริงหรือไม่ เมื่อในดินแดนแถบนี้ไม่มี 'คนไทย' เลย มีแต่คนที่มีภาษาต่างกัน อยู่กระจัดกระจายกันที่นี่ ฉะนั้นความเป็นตัวตนของตนเองก็มีแบบที่ต่างกัน
วินัยมองว่าการที่ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ยังไม่มีบทบาทในปัจจุบันมากนัก และยังไม่เห็นผู้นำทางปัญญาคนรุ่นใหม่ ถือเป็นเรื่องท้าทาย สังคมไทยตอนนี้ยังไม่มีคนที่เด่นขึ้นมาจริงๆ
และสิ่งที่วินัยต้องการยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าดังกล่าวคือ นักศึกษาคนรุ่นใหม่อาจจะมัวมอง 'หนวด' ของอาจารย์โดยที่ไม่มองเนื้อหา ก็เลยเศร้าตามหนวด ฟังอีกอย่างหนึ่งคิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้เข้าถึงแก่นที่เขาพยายามจะสอน เลยอาจไม่มีอะไรเด่นขึ้นมาก็ได้
‘นักวิชาการบ้านเช่า’
วินัยมองว่าแม้นักวิชาการจะมีความรู้ความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ หน้าที่ของปัญญาชนคือการสร้างปัญญาให้กับมวลชน ขณะเดียวกันก็วิจารณ์ว่านักวิชาการในสังคมไทยมีความเป็น 'นักวิชาการบ้านเช่า' คือการไป 'เช่า' ปัญญาของคนอื่นเฉยๆ ไม่ได้เป็นบ้านของตนเอง แต่ไปเช่าวิชาการจากยุโรป จากกรีก ที่กลายมาเป็นตัวครอบงำวิธีคิดของศาสตร์สมัยใหม่
"ศาสตร์สมัยใหม่ไม่เคยเป็นพื้นที่การสรรค์สร้างของมนุษย์ ศิลป์ต่างหากที่เป็นตัวสร้างมนุษย์ ฉะนั้นเราควรเป็นสังคมศาสตร์ให้เป็นสังคมศิลป์ เป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ที่ดีในอนาคต" วินัยกล่าว
No comments:
Post a Comment