http://thaienews.blogspot.com/2011/03/3_29.html
คลิปที่นี่ความจริงจาก3อาจารย์สาว:กมธ.สิทธิมนุษยชน รัฐสภาเยอรมันมองสังหารหมู่เสื้อแดงเป็นรองแค่ลิเบีย เล็งคุมขายอาวุธสงครามให้ทหารไทย
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา DNN-Asia Update TV
รายการที่นี่ความจริง ทางโทรทัศน์ Asia Update-DNN ประจำวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม ดำเนินรายการโดย 3 นักวิชาการสาว ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาจารย์หวาน) ,รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อาจารย์ตุ้ม) และ ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก อาจารย์พิเศษคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์จา)...
สำหรับตอนนี้มี ๒ ประเด็นสำคัญ
ประเด็นแรก: อ.จา บอกเล่าการเข้าได้รับเชิญให้เข้าพบกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ของรัฐสภาเยอรมัน ไปให้ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสังหารหมู่เสื้อแดงที่มาเรียกร้องประชาธิปไตย โดยผลของการรับฟังของเยอรมัน ประเด็นเสื้อแดงจะเป็นวาระสำคัญในที่ประชุมกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน และจะมีการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ประชาชนเสื้อแดง
นอกจากนี้ ความเห็นของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน รัฐสภาเยอรมันยังเห็นว่า ประเทศไทยอาจเข้าข่ายต้องถูกควบคุมการซื้อขายอาวุธสงครามตามสนธิสัญญาการซื้อขายอาวุธระหว่างประเทศ (Arms Trade Treaty หรือ ATT)
เมื่อเปรียบเทียบการใช้กำลังอาวุธของรัฐต่อประชาชนในประเทศไทย พบว่าประเทศไทยมีความรุนแรงน้อยกว่าลิเบียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เพราะใช้ทั้งกำลังทหารพร้อมอาวุธร้ายแรง สไนเปอร์ เฮลิคอปเตอร์ การวางเพลิง เพื่อทำร้ายประชาชน
ประเด็นที่สอง: 3 อาจารย์พูดคุยประเด็นที่น่าสนใจจากงานเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามกลุ่มนิติราษฎร์ ประเด็นหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนคือ คนในกระบวนการยุติธรรมไทย มีอุดมการณ์ “ราชานิยม” หรือ “กษัตริย์นิยม” ไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้น แม้จะมีกฎหมายเดียวกันนี้ในประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว การตัดสินคดีก็จะไม่รุนแรงเหมือนในประเทศไทย
นอกจากนี้ มีข้อมูลชี้ชัดว่า ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นได้มีการดำเนินคดีมาตรานี้อย่างมากมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเอาผิดฝ่ายตรงข้าม
ทั้งนี้กลุ่มนิติราษฎร์ได้มีการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการให้แก้ไขมาตรา 112 นี้ในหลายประเด็น ที่น่าสนใจคือ ประเด็น ที่ 6 และ 7 ที่ เสนอให้กฎหมายเพิ่มบทบัญญัติเหตุยกเว้นโทษความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ เช่น กรณีถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า “ข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” และให้ผู้มีอำนาจกล่าวโทษเปลี่ยนจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ
3 อาจารย์ย้ำบทบาทของนักวิชาการคือตีแผ่ความจริง และต้องได้รับการปกป้องเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาวิจัยของคณาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์นี้ มาพร้อมข้อเสนอและร่างกฎหมายถือเป็นการทำงานในบทบาทของนักวิชาการที่จำเป็นโดยเฉพาะในสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
No comments:
Post a Comment