ก้าวต่อไปของชาวเสื้อแดง
ทั้ง นปช (หมอเหวง) และ แดงสยาม (สุรชัย) ต่างก็เสนอว่า ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบญี่ปุ่น และยุโรปนี่แหละคือทางออกซึ่งหากไทยจะเอาอย่างเขาก็แค่เพียง หนึ่งให้ยกเลิกคณะองคมนตรีเสีย สองให้นำธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 กลับมาใช้ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบอ้างพระราชอำนาจมาใช้ทางการเมืองกันอีกต่อไป
ซึ่งแน่ละมีคำถามตามมาแน่ว่าจะกระทบกับพระราชอำนาจหรือไม่ คำตอบก็คือ ความพยายามของ พรรคการเมืองใหม่ที่จะจำกัดอำนาจประชาชน และถวายคืนพระราชอำนาจล่ะ ทำไมทำได้? ทำเปิดเผย และไม่มีเห็นมีใครพูดอะไรสักคำ
โดย Pegasus
หลังจากผ่านบรรยากาศการชุมนุมของชาวเสื้อแดงในการนำของ นปช. แดงสยาม แกนนอน ฯลฯ โดยที่มวลชนคนเสื้อแดงไปร่วมชุมนุมกับทุกกลุ่มไม่แบ่งแยกแม้ว่า จะมีข่าวการกระทบกระทั่งกันของฝ่ายแกนนำอยู่บ้าง มวลชนส่วนใหญ่ก็ให้อภัย ปัญหาคือแล้วจะเอายังไงกันต่อไป
ดูทิศทางกันคร่าวๆแล้ว ฝ่าย นปช. มุ่งที่จะชิงอำนาจรัฐด้วยการเลือกตั้งและจะเอารัฐธรรมนูญปี 40 คืนมา การหาเสียงก็คือได้ ดร.ทักษิณฯกลับมาบริหารประเทศ
จากนั้นขยับต่อเป็นขั้นๆตามที่แกนนำได้ปราศรัยซึ่งก็ยังไม่ชัดว่าคืออะไร
ฝ่ายแดงสยามมุ่งที่จะเปลี่ยนโครงสร้างอย่างสันติ สองกลุ่มนี้ดูจะขัดแย้งกันเองตลอดมา เข้าทำนองรวมกันสู้ยังแพ้ แต่ตีกันเองนี่ไม่รู้จะส่ายหัวอย่างไร
ถ้ามองจากความเห็นของมวลชนด้วยการพูดคุยพบว่า มวลชนมีความก้าวหน้ากว่า นปช.ไปไกลมากแล้ว เพียงแต่ให้เกียรติว่าเป็นแกนนำและรวมกลุ่มคนได้มาก เหมาะในการพบปะกัน
ส่วนทางแดงสยามก็ใช้ระยะเวลายาวนานเกินไป และแกนนำดูเหมือนจะไม่มีโอกาสออกมานำได้แน่นอน
แนวทางแกนนอนของคุณหนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) ก็ถูกกลบจนหายไปด้วย นปช.เดิมเสียแล้ว แม้ว่าจะเป็นแนวทางที่ฝ่ายศักดินาเกรงกลัวที่สุดก็ตาม เพราะปล่อยให้มวลชนแสดงออกกันเองได้เต็มที่กว่ากลุ่มอื่นๆ
มาดูที่ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ขณะนี้ นปช.กำหนดทิศทางแน่นอนว่า จะเข้าสู่แนวทางการเลือกตั้ง มวลชนจำนวนมากสงสัยว่าจะจบเพียงการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. กันแค่นั้นหรือ แล้วประชาชนที่เสียชีวิตไป มิเสียเปล่าล่ะหรือ ทำให้รวนกันไปเหมือนกัน ทั้งๆที่ทางแกนนำก็รับปากแล้วว่า ไม่ใช่การเกี๊ยะเซียะกับฝ่ายเผด็จการอย่างเด็ดขาด ก็ตาม
บ้างก็หันไปทางแดงสยาม บ้างก็ถอดใจหันไปเก็บตัว หรือไปเลือกพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลในท้องถิ่น เข้าทำนองหวังทางเพื่อไทยไม่ได้ก็หวังพรรคที่อาจเป็นรัฐบาลคราวต่อไปจะดีกว่า
ซึ่งก็เข้าทางฝ่ายศักดินาเสียอีก
สิ่งที่มวลชนไม่เชื่อว่า แนวทางการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็เพราะแน่ใจว่า ฝ่ายเผด็จการจะไม่ยอมแน่นอน
เนื่องจากหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะเกิดการให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งประการแรกนั้นกระทบต่อรากฐานอำนาจอย่างรุนแรง ถึงขนาดตอนนี้ต้องการกำจัดรัฐบาลเด็กดื้อหรือยึดอำนาจ ตัดตอนเพื่อความอยู่รอดด้วยซ้ำไป
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรอบของเผด็จการ แม้ว่าจะให้ได้รัฐธรรมนูญปี 40 คืนมาก็ตาม ก็ยังไม่มีประโยชน์เพราะถ้ารัฐธรรมนูญปี 40 ดีจริง การรัฐประหารต้องไม่เกิด
ครั้นจะหวังต่างประเทศช่วยก็ยาก หากยังไม่เกิดการต่อสู้ยืดเยื้อแบบอียิปต์หรือลิเบีย ซึ่งแกนนำทุกฝ่ายต่างก็ไม่มีความพร้อมและความรู้ในเรื่องนี้ และมวลชนเองก็เข้าใจดีว่า เป็นการยากที่จะได้อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีการถูกโกงด้วยการเลือกตั้งล่วงหน้า การให้ใบแดงแบบมีใบสั่ง ไปจนถึงการยุบพรรค หรือรีบปลดรัฐบาลหากได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจริง ทั้งยังเป็นการทำให้ต่างประเทศเข้าใจว่าเข้าสู่ภาวะปกติด้วยการเลือกตั้งแล้ว
กระแสประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงในอัฟริกาเหนืออย่างรุนแรง และการที่มวลชนมาชุมนุมกันโดยไม่มีแกนนำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายศักดินาจำเป็นต้องปล่อยแกนนำนปช.ออกมา เนื่องจากเกรงการบานปลายในความคิดของประชาชนที่รุนแรงและมุ่งตรงกับปัญหามากขึ้นทุกที
การมีแกนนำ นปช.ที่ค่อนข้างประนีประนอม จึงดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ประกอบกับการออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมเป็นไม้ตายอย่างหนึ่งที่ฝ่ายศักดินาต้องการซื้อเวลาจากเหตุการณ์กระแสประชาธิปไตยในโลกกับภายในประเทศ รอเวลาหันมากลับลำเผด็จศึกเมื่อทุกอย่างสงบเงียบลงสักระยะหนึ่งแล้ว
เมื่อมาฟังการปราศรัยในการชุมนุมของ นปช. ก็พบว่า มีความขัดแย้งกันของความคิด และการกระทำที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ บนเวทีพูดชัดเจนว่า ไม่ยอมแพ้ และต้องการประชาธิปไตย แต่ก็มีการประกาศว่า ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ(ชนชั้น) ไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเรื่องความยุติธรรมต่างหากที่เป็นปัญหา
ทั้งๆที่การต่อสู้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้นพบว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยฝ่ายประชาชนต้องได้อำนาจรัฐก่อนเสมอ แล้วจึงร่างกฎหมายที่เป็นธรรมขึ้น ดุจคำพูดที่ว่าประชาธิปไตยไม่เคยได้มาด้วยการขอ
แต่เอาล่ะขอผ่านประเด็นนี้ไป สมมติว่ามติของ นปช.นั้นถูกต้อง คือต้องได้กฎหมายที่เป็นธรรมก่อน หรือได้ผู้คุมกฎหมายที่เป็นธรรม คำถามก็กลับมาอีกว่า จะได้มาอย่างไร ด้วยการร้องขอชีวิต และการยอมสยบใช่หรือไม่ จึงจะได้ความเป็นธรรมในกรอบที่ฝ่ายเผด็จการมอบให้
นอกจากนั้นในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่พอใจในการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 (ซึ่งแน่ล่ะเป็นฝ่ายแดงสยามที่รับผลกระทบไม่ใช่ฝ่าย นปช.) แต่ก็ปรากฏการจับมวลชนส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของนปช. ดูคล้ายๆกับรัฐบาลที่พยายามยัดข้อหาประชาชน ไม่มีอะไรที่แตกต่างกันเลย
และที่ตลกคือเป็นฝ่ายตำรวจเองที่ไม่แจ้งข้อหาดำเนินคดีด้วยเห็นว่า เอกสารต่างๆเหล่านั้นไม่ผิดกฎหมาย เรื่องโอละพ่อนี้ สรุปได้สองประเด็น
คือประการแรก นปช.ไร้เดียงสาทางการเมือง กลัวและยอมสยบต่อฝ่ายเผด็จการมากเสียจนเกินงาม
หรือว่า ประการที่สองคือ ขาดความรู้ในทางกฎหมายและประวัติศาสตร์ซึ่งผู้เขียนมองโลกในแง่ดีว่า เป็นประการหลังมากกว่า
แต่เพราะความคิด การปราศรัยและการกระทำขัดกันดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้ในที่สุดแล้วมวลชนอาจตีจากได้ จริงอยู่ไม่มากอย่างกรณีเสื้อเหลือง แต่ก็น่าจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอย่างช่วยเหลืออะไรไม่ได้ และทำให้เสียโอกาสในภาพรวมไปเสียด้วยท่าทีแบบนี้ของฝ่ายนำนั้นเอง
สิ่งที่ผู้เขียนและมวลชนคอยฟังอยู่คือ ประชาธิปไตยที่จะให้ได้มานั้นทำอย่างไร หวังว่าคงไม่ใช่การได้รัฐธรรมนูญ 40 มาเท่านั้น เพราะนั่นไม่ใช่หลักประกันของประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการรัฐประหาร เพราะทุกอย่างเกิดมาหมดแล้ว แล้ว นปช. จะทำอย่างไรให้ได้ประชาธิปไตย
ข้อเสนอนี้ต้องมีเพื่อประกอบการหาเสียงเลือกตั้งมิฉะนั้น มวลชนที่เสียชีวิตไปจะมีคำตอบให้เขาว่าอย่างไร ต้องมีการเสียชีวิตซ้ำซากเช่นนี้ต่อไปอีกใช่หรือไม่ ถ้าต่อสู้มา 5 ปีเพียงเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ก็สู้คอยให้หมดวาระไปจะไม่ดีกว่าหรือ ด้วยมีค่าเท่ากัน หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง
สิ่งที่ผู้เขียนอยากที่จะเสนอให้กับแกนนำซึ่งไม่จำกัดอยู่ที่ นปช.หรือแดงสยาม เพราะแกนนำอาจเกิดขึ้นเองในอนาคตคือ การเสนอก้าวต่อไปของชาวเสื้อแดงหรือฝ่ายประชาธิปไตยคือ การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงมา ถ้าจะมีการเลือกตั้ง (ซึ่งผู้เขียนก็ยังงงว่า ทำไมมีแต่พรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ที่ตีฆ้อง ร้องป่าวเรื่องนี้ ในขณะที่กลุ่ม 3 พี ซึ่งเป็นกลุ่มตัวจริง เสียงจริงจึงเงียบสงบอย่างยิ่ง)
ก็ต้องเสนอทางออกที่จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นปัญหาสำคัญของประชาธิปไตย ก็คือในหมวดพระมหากษัตริย์นั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอื่นๆ
การเสนอเช่นนี้ไม่ใช่แต่เพียงฝ่ายพรรคเพื่อไทย(ซึ่งแน่ละมีฝ่ายเหลืองปนเปอยู่ด้วยจำนวนมาก) พรรคการเมืองใหม่ก็สามารถเสนอแนวทางของตัวเองได้เช่นกัน เพราะไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างสำคัญของรัฐธรรมนูญแต่ประการใด อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจและประชาชนก็มีสิทธิที่จะแก้ไขไม่ใช่คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนดี มีคุณธรรมหรือมีอาวุโสมากแค่ไหนก็ตามเพราะกฎหมายเป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่เนติบริกรหน้าไหนทั้งสิ้น
ถ้าหากพรรคเพื่อไทยและนปช. ต่อสู้ รณรงค์ในการเลือกตั้งด้วยหมวดนี้จริง จึงจะหมายความว่า จะนำมวลชนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วยระบอบรัฐสภา ไม่ได้มีการพูดจาก้าวร้าวผิดต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ประการใด เพราะไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เป็นองค์ประกอบความผิดทางกฎหมาย เป็นเงื่อนไขปัญหาของประเทศไทยมาช้านาน
ตั้งแต่การยึดอำนาจ นำโดยพรรคการเมืองเก่าแก่ ทหารและสื่อมวลชนในสมัย 2490 ถ้ายังเกรงกลัวคำครหาของพวกเหลืองว่า นี่จะมาลิดรอนพระราชอำนาจอีกแล้ว ก็ต้องหันมาอย่างน้อยเล่าเรื่องความสืบเนื่องของการสูญเสียอำนาจของประชาชนไปตั้งแต่ รัฐธรรมนูญฉบับแรกคือ 10 ธันวาคม 2475 และเสียอำนาจอย่างถาวรตั้งแต่ พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมาทำให้ประเทศไทยอยู่ในอำนาจของฝ่ายฟาสซิสต์ตลอดมาอย่างไร นั่นแหละคือจะเป็นการแสดงเจตนาในการจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
เพื่อเป็นการสรุปยอดว่า ควรจะมีการแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง ก็จะขอนำรัฐธรรมนูญของสวีเดน และญี่ปุ่นที่พูดกันนักหนาทั้ง นปช.(โดยนายแพทย์เหวงฯ) และ แดงสยามโดย อ.สุรชัยฯ ว่านี่แหละคือทางออกประเทศไทย
แต่เอาจริงเข้ากลับไม่มีใครกล้าพูดถึงทั้งๆที่เป็นสิทธิโดยชอบของประชาชน และไม่ได้ก้าวล่วงพระราชอำนาจแต่ประการใด เพราะเป็นอำนาจของประชาชนต่างหาก สิ่งที่ถูกล้างสมองไว้จึงควรจะลบออกจากความทรงจำได้แล้วจึงจะถูกต้อง
รัฐธรรมนูญสวีเดนเฉพาะประเด็นที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
สวีเดนตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1974 (เกือบสี่สิบปีมาแล้ว และเชื่อว่าคนไทยปัจจุบันมีความรู้ทางการเมืองมากกว่าคนสวีเดนเมื่อสี่สิบปีที่แล้วมาก)
สาระสำคัญมากอย่างหนึ่งคือการยกเลิกเทคนิคการลงพระปรมาภิไธยและการสนองพระบรมราชโองการ
กล่าวโดยสรุปคือทรงเป็นประมุขในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น กรณีนี้ต่างจากประเทศในยุโรปอื่นๆ
แต่เห็นว่า นายแพทย์เหวงฯและ อ.สุรชัยฯกล่าวถึงมากที่สุดจึงนำมาเปรียบเทียบไว้ และประเทศในยุโรปดังกล่าวก็มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น ไม่มีประเทศไหนเป็นคอมมิวนิสต์ตามที่พยายามล้างสมองกัน
สาระสำคัญอีกประการหนึ่งคือการยกเลิกคณะองคมนตรี ซึ่งไทยสมควรนำมาใช้เนื่องจากรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรก็ไม่เคยปรากฏมีคณะองคมนตรี มาปรากฏก็ตอนยึดอำนาจโดยทหารร่วมกับพรรคการเมืองเก่าแก่ในปี พ.ศ.2490 นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทุกอย่างในประเทศไทย
ส่วนของสวีเดนที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์คือรัฐบาลนั่นเอง กระบวนการนิติบัญญัติของสวีเดนกำหนดไว้ว่าเมื่อรัฐสภาสวีเดน(มีสภาเดียว) ลงมติเห็นชอบในร่างกฎหมายแล้ว ให้รัฐบาลประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่มีเงื่อนไขอื่น
ประเด็นนี้เคยมีปัญหาในไทยสมัยก่อนจอมพลสฤษดิ์ฯยึดอำนาจจาก จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เนื่องจากกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจำกัดการมีที่ดินของพวกเจ้าที่ดิน โดยมีการต่อต้านจากคณะองคมนตรีอย่างรุนแรง และสภาฯต้องยืนยันออกเป็นกฎหมายเอง แต่ในที่สุดหลังรัฐประหารก็ยกเลิกไป สรุปแล้วกรณีนี้คือ ไม่มีการทูลเกล้าฯถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย
การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาเสนอชื่อด้วยการหารือกับพรรคการเมืองแล้วเสนอให้สภาเห็นชอบ ถ้าตกไปก็เสนอได้ทั้งหมด 4 ครั้ง ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน ซึ่งปกติจะไม่มีปัญหา เพราะพรรคเสียงข้างมากจะคุมเสียงความไว้วางใจจากสภาได้อยู่แล้ว (จะไม่มีปัญหาผู้นำพรรคเสียงข้างมากแต่งตัวเก้อแบบประเทศล้าหลังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอันขาด) ส่วนผู้ลงนามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็คือผู้แทนของประชาชนได้แก่ประธานรัฐสภา
ในหมวดประมุขของรัฐ ยังคงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความคุ้มกันของกษัตริย์ไว้ว่า ผู้ใดจะฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้ ในกรณีสวีเดนและญี่ปุ่นจะต่างจากในประเทศยุโรปหรือไทยในสมัย 2475 ที่การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ต้องมีการลงนามร่วมโดยคณะกรรมการราษฎร
สำหรับของไทย หรือคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายสำหรับประเทศอื่น ในกรณีปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกประเภทมิฉะนั้นจะเป็นโมฆะด้วย
กรณีนี้จึงไม่สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ด้วยว่ามีผู้รับผิดชอบแทนแล้ว ไม่เหมือนบางประเทศล้าหลังที่เสนอกฎหมายที่ไม่ครบองค์ประชุม ทูลเกล้าฯให้ลงพระปรมาภิไธย แต่บอกว่า เป็นพระบรมราชโองการแล้วแก้ไขไม่ได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วต้องมีผู้กระทำผิดและถูกลงโทษต่างหากจึงจะถูกต้อง
ในกรณีที่กษัตริย์ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ กษัตริย์ต้องปรึกษาหารือนายกรัฐมนตรีก่อนทุกครั้ง หากกษัตริย์พักงานในหน้าที่ไปเกิน ๖ เดือน หรือล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ ประธานสภาอาจเสนอให้ที่ประชุมสภาพิจารณาว่าสมควรถอดกษัตริย์ออกจากบัลลังก์หรือไม่
ในกรณีกษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือไม่มีบุคคลใดทำหน้าที่กษัตริย์ ให้รัฐสภา เลือกบุคคลใดมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนชั่วคราว หากไม่มีบุคคลใด ได้รับความเห็นชอบ ก็ให้ประธานรัฐสภาในฐานะของผู้แทนประชาชนเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
รัฐธรรมนูญก็ยังคงกำหนดให้กษัตริย์มีส่วนร่วมในทางการเมืองใน ๓ กรณี ได้แก่
กรณีแรก บทบัญญัติในมาตรา ๑ แห่งหมวด ๕ กำหนดว่านายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวคราวของกิจการบ้านเมืองให้กษัตริย์รับทราบด้วย
กรณีที่สอง กษัตริย์ทรงเป็นประธานในการประชุมร่วมพิเศษ การประชุมนี้จะมีขึ้นเฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น ในความจริง บทบาทการดำเนินการประชุมอยู่ที่ประธานสภา ส่วนกษัตริย์ทรงเป็นประธานในที่ประชุมเพียงแต่ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
และกรณีที่สาม กษัตริย์ทรงเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากิจการต่างประเทศ
หมายเหตุ กรณีสวีเดน ไม่มีการกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงงานใดๆได้เลย ดังนั้น การลงนามร่วมของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีและการทูลเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยเช่นเดียวกับประเทศในยุโรปอื่นๆจึงไม่มี
เนื่องจากพระมหากษัตริย์ของประเทศในยุโรปอื่นๆ ต้องทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ดังนั้นก่อนขึ้นทรงราชย์จะต้องเสด็จไปปฏิญาณพระองค์ต่อผู้แทนประชาชนคือรัฐสภา มี ส.ส.และ ส.ว.หรือ บางแห่งมีแต่ ส.ส. ให้เป็นพยานว่า จะทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและอื่นๆ ซึ่งมักจะได้แก่กฎมณเฑียรบาลหรือประเพณีของประเทศนั้นๆ ในบางประเทศจะทรงพระอักษรแทนก็ได้
สำหรับท่านที่ต้องการศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศในยุโรปอื่นๆเช่น นอร์เวย์ สเปน โปรดค้นบทความเดิมได้ในไทยอีนิวส์ ในเรื่องรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบซึ่งคงมีบทความใกล้เคียงกันไม่มากนัก
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเฉพาะประเด็นที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
พระจักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของรัฐและความเป็นเอกภาพของประชาชนได้สถานภาพจากเจตจำนงของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
การทรงงานใดๆของพระจักรพรรดิในกรณีของรัฐ จะได้รับการแนะนำและยอมรับจากคณะรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบ
การทรงงานขององค์พระจักรพรรดิจะทรงได้เฉพาะกรณีของรัฐที่ได้ให้อำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ และ องค์พระจักรพรรดิต้องไม่ใช้อำนาจใดๆ เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
พระจักรพรรดิ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยการเสนอของสภา
พระจักรพรรดิ แต่งตั้งประธานศาลฎีกาโดยการเสนอของคณะรัฐมนตรี
ราชสำนักไม่สามารถรับหรือให้ทรัพย์ใดๆ หรือให้ของขวัญใดๆ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
รัฐสภาเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของรัฐและเป็นผู้ออกกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น (ถ้ากำหนดเสียเช่นนี้จะไม่ปรากฏการตีความในลักษณะการออกกฎหมายของบางองค์กรอิสระ.. เช่นคำว่า”อาจ” เป็นต้น เพราะเท่ากับห้ามองค์กรอื่นออกกฎหมายเอง)
นายกรัฐมนตรีได้รับการเสนอชื่อจากทั้งสองสภา กรณีที่สองสภาเห็นไม่ตรงกันแม้ว่า จะมีการประชุมร่วมกันแล้ว หรือ สภาสูงไม่สามารถให้ชื่อได้ภายใน 10 วันหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตัดสินใจเลือกไปแล้ว ให้ถือว่าการเสนอชื่อของสภาผู้แทนราษฎรเป็นสิ้นสุด
กฎหมายและมติตามคำสั่งคณะรัฐมนตรีนอกจากลงนามโดยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแล้วต้องได้รับการลงนามร่วมโดยนายกรัฐมนตรี
ศาลฎีกาสูงสุด ประกอบด้วยประธานและสมาชิกที่เป็นผู้พิพากษาตามที่กฎหมายกำหนด โดยสมาชิกจะได้มาจากการเสนอแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี
การแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยประชาชน จากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ จะได้รับการตรวจสอบอีกครั้งจากการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปครั้งแรกเมื่อครบ 10 ปีแล้ว หากว่าประชาชนเสียงส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่ไว้วางใจ ผู้พิพากษาชื่อนั้นจะถูกถอดถอน
สมบัติของราชสำนักเป็นของรัฐ การใช้จ่ายใดๆของราชสำนักเป็นไปตามพระราชบัญญัติงบประมาณ(ต้องให้มีการตรวจสอบนั่นเอง)
รายละเอียด รัฐธรรมนูญของ สวีเดน สเปน เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น ฯลฯ มีในบทความก่อนหน้านี้นานแล้ว โปรดติดตามหาอ่านได้ในไทยอีนิวส์
สรุปแล้วจะพบว่า ปัญหาของประเทศไทย จนเกิดการนองเลือด ล้มตาย ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่อะไรนอกจากประเด็นที่รัฐธรรมนูญไทยต่างจากรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึง ประเทศไทยไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยมาตั้งนานแล้ว
และทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดนี้เป็นประจำทีละมาตรา สองมาตรา เพื่อกระชับอำนาจต่างๆ สนใจขอให้ไปศึกษากันเอง
สำหรับประเทศไทย ถ้าแกนนำทั้งหลายยังคงมึนงง อยู่กับการล้างสมอง ไม่อาจสลัดตัวเองออกจากความฝันได้ หรือไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปให้เหมือนกับทางสากลดังที่ได้ยกมาแล้วนี้ ก็ขอแนะนำว่าให้ขอแก้ไขเพียงสองประเด็นคือ
ประเด็นแรกขอให้ยกเลิกคณะองคมนตรีเสีย ข้ออ้างสำคัญคือเรื่อง การกระทำผิดกฎหมายและคุณธรรมต่างๆมากมายสุดแล้วแต่จะหยิบยกขึ้นมา และยังเกี่ยวข้องกับการมีข่าวรั่วจากวิกิลีกส์ด้วย รายละเอียดทราบกันดีอยู่แล้วจะไม่ขอกล่าวถึง
ประเด็นที่สองคือ การลงนามร่วมในการประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆมิฉะนั้นเป็นโมฆะซึ่งมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือ ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแอบอ้างพระราชอำนาจมาใช้ทางการเมืองกันอีกต่อไป และประการสำคัญคือ เป็นหัวใจอันดับหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มิฉะนั้นก็ไม่เป็นประชาธิปไตย
จากนั้นให้หาเสียงด้วยว่าเมื่อเป็นรัฐบาลจะให้รัฐสภาให้สัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อให้มีการสอบสวนหาคนทำผิดมาลงโทษให้ได้และออกกฎหมายยุบองค์กรอิสระที่ไม่อิสระทั้งปวง
รวมถึงการยกเลิกการให้ผู้พิพากษาต่ออายุราชการไป 10 ปีเนื่องจากการยึดอำนาจของ คมช.
และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกประเภทต้องผ่านคณะรัฐมนตรี
ส่วนทางศาลฎีกาให้พิจารณาว่าจะเอาแบบญี่ปุ่นที่ฝ่ายบริหารแต่งตั้งศาลแล้วประชาชนให้ความไว้วางใจหรือถอดถอนศาลได้หรือจะให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติแบบยุโรปก็ตามแต่สมควร
สองประเด็นนี้ และที่ประกอบบางส่วน สมควรที่ทั้ง นปช.และพรรคเพื่อไทยจะนำมาเสนอต่อสังคมไทยเพื่อให้เห็นว่า การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
ซึ่งแน่ละมีคำถามตามมาแน่ว่าจะกระทบกับพระราชอำนาจหรือไม่ คำตอบก็คือ ความพยายามของ พรรคการเมืองใหม่ที่จะจำกัดอำนาจประชาชน และถวายคืนพระราชอำนาจล่ะ ทำไมทำได้ ทำเปิดเผย และไม่มีเห็นมีใครพูดอะไรสักคำ เพราะเป็นการกระทบต่อพระราชอำนาจด้วยเช่นกัน
และก็เป็นที่ทราบดีว่า ระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบที่ล้าหลัง โหดร้ายทารุณและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งทำให้ประชาชนลำบาก ยากแค้นแสนสาหัสในทุกประเทศ เช่นกรณีของรัสเซีย หรือฝรั่งเศส เป็นต้นจนในปัจจุบันเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนานก็ถูกโค่นล้มกันทั่วโลก ก็เนื่องจากเหตุการณ์ครองอำนาจโดยไม่มีวาระเช่นเดียวกัน
ดังนั้นกรณีของการเสนอการแก้กฎหมายให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแบบสากล จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนท่านที่จะต่อสู้ไปในแนวทางอื่นๆ ก็สุดแล้วแต่ แต่ทว่าหากเกิดการใช้ความรุนแรงและเกิดสงครามกลางเมือง อะไรก็เกิดตามมาได้ทั้งสิ้น
ปัญหาอื่นอาจมีที่ว่า นปช. อาจไม่รู้แง่มุมของกฎหมายมหาชน หรือตีบทไม่แตกว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 หมายถึงอะไร ก็ลองขอให้นำวิดีทัศน์ การเสวนาเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน และพระราชอำนาจ ของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งก็มีนักวิชาการของ นปช.ไปร่วมการเสวนาด้วยมาฉายให้มวลชนดูก็ไม่เสียหายอะไร เพราะนักวิชาการจะรู้จักพูดไม่ให้ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีของ อาจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์(ขออภัยต้องขอยกนามมากล่าวถึง) ซึ่งพูดเป็นวิชาการแท้ๆและไม่พาดพิงอะไรเลย แต่กลับเป็นเนื้อหาสำคัญยิ่งสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
และจะเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับมวลชนในการต่อสู้เพื่อให้มาซึ่งประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่แนวทางมุ่งแต่การเลือกตั้ง หรือแนวทางสุดโต่งอื่นๆซึ่งเป็นไปได้ยากและเห็นผลช้า แต่ถ้า นปช.กล้าตัดสินใจนำปัญหาที่แท้จริงของไทยมาบอกกล่าวให้มวลชนรู้โดยอาศัยข้อมูลของนักวิชาการดังกล่าวทิศทางของประชาธิปไตยจะมีความชัดเจน
และมวลชนทุกกลุ่มก็จะหันกลับมาเดินทางร่วมกันอย่างเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
แต่ถ้า นปช และพรรคเพื่อไทย ไม่ประกาศจุดยืนเช่นนี้ ด้วยมุ่งแต่จะระดมคนไปช่วยการเลือกตั้งเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล(ซึ่งเป็นความฝัน ลมๆแล้งๆ) ก็จะมีมวลชนจำนวนหนึ่งอาจเปลี่ยนไปเลือกพรรคการเมืองระดับกลางด้วยว่า ผิดหวังกับท่าทีทอดทิ้งประชาชน และการมีพฤติกรรมเป็นนักการเมืองในกรอบของเผด็จการเดิมๆ ไม่มีความแตกต่างจากรัฐบาลปัจจุบัน คงเหลือแต่คนรักนโยบายและดร.ทักษิณฯเท่านั้นที่ยังคงอยู่ แต่แนวร่วมอื่นๆ คงหายหมด ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยไปเสียเองในที่สุด
แน่ละการเลือกตั้งเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดในกระบวนการประชาธิปไตย แต่มวลชนทั้งหลายก็ตระหนักดีว่า องค์กรและเครื่องมือต่างๆนั้น พร้อมที่จะโกง ดังนั้นการติดตาม ตรวจสอบและพร้อมที่จะเกิดการต่อสู้แตกหักหลังการเลือกตั้งสกปรกยังเป็นสิ่งจำเป็น และต้องไม่ให้ฝ่ายเผด็จการซื้อเวลาจนกระแสประชาธิปไตยโลกผ่านพ้นไป ว่าแต่ว่า จะมีการเลือกตั้งจริงล่ะหรือ
ถ้า นปช.และพรรคเพื่อไทย ตัดสินใจจะขอเป็นนักการเมือง นักเลือกตั้ง เป็นเด็กดีในกรอบของประชาธิปไตยจอมปลอม ก็ขอแนะนำให้ประชาชนทำใจยอมรับชะตากรรม และทำการศึกษาประวัติศาสตร์ รวมถึงเรื่องรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบให้มากเพื่อว่า ในรุ่นลูกหรือหลานจะได้มีความเข้าใจทางการเมืองเพียงพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอีกสักครั้งหนึ่ง
ส่วนแกนนำอื่นๆ หรือระดับรองๆลงไป ก็ขอแนะนำให้พูดคุยกับมวลชนของท่านในเรื่องปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทย พยายามพบปะกับมวลชนด้วยกันเพื่อให้การศึกษา และความรู้ซึ่งกันและกัน โดยอาจใช้โรงเรียน นปช.หรือเฟสบุ๊กส์ต่างๆให้มาก
พยายามไม่ใช้เงินทองให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เก็บเงินให้ลูกหลานทำมาหากิน สร้างฐานะ รักษาตัว ไม่ทำผิดกฎหมาย รักษาสุขภาพกันให้มากๆ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ยืนยาว คอยดูการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องมาถึงแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว แม้ว่าครั้งนี้ฝ่ายเผด็จการจะประสบความสำเร็จ แต่ความบอบช้ำต่างๆก็มีไม่น้อย ความเสื่อมของศรัทธาต่างๆ จะเป็นเครื่องบ่อนทำลายที่ดีที่สุดเอง
จุดตายของผู้มีคุณธรรมคือ การขาดศรัทธาของผู้เคยศรัทธา การตีจากอย่างไม่เกรงใจของคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะใช้อำนาจเพียงใดก็ตามก็จะไม่ได้ใจของคนเหล่านั้น นั่นคือจุดจบของเผด็จการแบบเดียวกับ เชาเชสกู ของโรมาเนีย หรือแม้แต่กัดดาฟีร์ ของลิเบีย
อดีตวีรบุรุษที่กลายเป็น ซาตาน
***********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:
-Pegasus:เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญสวีเดนและญี่ปุ่น จากหลักสากลว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
-Pegasus:17ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกระบอบอำมาตย์
-Pegasus:221ปีปฏิวัติฝรั่งเศส บทเรียนสำหรับไทย
No comments:
Post a Comment