Sunday, April 3, 2011

จากแม่คนซ่อมรองเท้า สู่ แม่นักโทษคดีหมิ่นฯ

http://www.prachatai.com/journal/2011/04/33826

จากแม่คนซ่อมรองเท้า สู่ แม่นักโทษคดีหมิ่นฯ

 

หมายเหตุ : สุริยันต์ กกเปือย หรือ หมี ถูกฟ้องว่ากล่าวถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 3 ปี 15 วัน ขณะนี้คดีถึงที่สุดแล้ว อยู่ในขั้นตอนการขออภัยโทษ

 
 
…ลมหนาวค่อยโรยแรงลง ไรฝุ่นเริ่มทะยอยก่อตัวที่กองรองเท้าเก่าๆ ตั้งแต่บักหำโดนจับก็ไม่มีใครช่วยพ่อเขาทำงาน ทั้งยังอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน จะทนซ่อมรองเท้าไปได้อีกสักกี่วัน…
 
30 มีนาคม 2554 ติดค้างมานานสำหรับสัญญาที่ให้ไว้กับพี่หมี แกอยากให้ไปเยี่ยมพ่อกับแม่ นี่คงเป็นสิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ คือการไปให้กำลังใจ ดูแล และส่งข่าวจากแดนตาราง… ตั้งใจจะไปหาที่ร้านรับซ่อมรองเท้าเลย แต่ว่ารถติดไปไม่ทันต้องตามไปเจอที่บ้าน ไปถึงพ่อกับแม่ปูเสื่อนั่งรอด้วยความฉงนสงสัยว่าเราเป็นใครนะ ต้องแนะนำตัวกันอยู่พักใหญ่ พอบอกว่ามาจากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ทีมทนายความของทนายอานนท์ก็ถึงบางอ้อ ยิ่งสื่อสารกันแบบ “โสเหล่” ตามประสาคนบ้านเดียวกันแล้ว ยิ่งเหมือนเป็นญาติสนิทเลยทีเดียว…
เราบอกเจตนาของเราที่มาวันนี้ว่า ได้รับปากกับพี่หมีไว้ว่าจะมาหาพ่อกับแม่และทนายอานนท์ฝากมาเรื่องจดหมายขออภัยโทษ ทีแรกพ่อกับแม่กังวลใจว่าเขาจะเขียนอย่างไรทำยังไง ใช้ราชาศัพท์ไม่เป็นซะด้วย
“ จักสิเขียนจั่งได๋แล้ว เรียนก็เรียนมาน้อย เผิ่นสิบ่ว่าให้ติทนาย”
ทนายอานนท์เลยคุยโทรศัพท์บอกว่า ไม่เป็นไร ให้เขียนในความรู้สึกของพ่อและแม่ ขอให้ในหลวงอภัยให้สำหรับการทำผิดของลูก พ่อกับแม่ทำหน้างง แต่ทุกอย่างก็จบลงตรงคำว่า “จ้าๆๆ สิลองเขียนเบิ่ง ทนายซอยเบิ่งให้แน่เด้อ”
เรารับฝากคำพูดของพี่หมีมาเล่าสู่พ่อและแม่ฟังว่า “ พี่หมีเป็นห่วงพ่อเพราะพ่อเป็นโรคเบาหวานอาการกำริบบ่อย อยากให้พ่อกับแม่พักบ้าง เพราะหลังจากพี่หมีมาอยู่ข้างในเรือนจำ แม่ต้องหยุดงานอื่นหมดมาช่วยพ่อรับซ่อมรองเท้าแทน หากให้พ่อทำคนเดียวจะเหนื่อยและไม่ทัน ทั้งยังไม่มีใครดูแล ตัวเองอยู่ข้างในเรือนจำ อยู่ได้ ไม่ห่วงอะไรเลยนอกจากพ่อกับแม่เท่านั้น”
พ่อกับแม่เล่าเรื่องราวของพี่หมีให้ฟังว่า พี่หมีเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด พูดน้อย ตั้งแต่เด็กไม่เคยจากพ่อและแม่เลยอยู่ด้วยกันมาตลอด หมีเกิดกรุงเทพฯ แต่ย้ายไปอย่กันที่ยโสธร ต่อมาก็มาหารายได้ที่กรุงเทพด้วยการรับจ้างซ่อมทำรองเท้า อาชีพนี้พ่อทำมาก่อนแล้วจนหมีโตขึ้นก็มาช่วยและไม่เคยไปไหนอีกเลย
พ่อพี่หมีเล่าต่อไปว่า พ่อเคยไล่ให้ไปหาอาชีพอื่น ที่มันดีกว่าอาชีพซ่อมรองเท้า ซึ่งคนอื่นเขามองว่ามันต่ำต้อย อยากให้ลูกทำอาชีพอื่นที่ดีกว่า แต่หมีไม่เคยไป ไล่เท่าไหร่ก็ไม่ไปเลย ลับหลังพอเพื่อนถาม หมีมักบอกเพื่อนว่า ที่ไม่ไปทำงานอื่นเพราะรู้ว่าพ่อทำงานหนักและรักอาชีพนี้จะให้ไปทำงานอื่นคงไม่ได้ เป็นห่วงพ่อ…..
หลังจากพี่หมีถูกจับลูกค้าที่ร้านซ่อมรองเท้า ก็มีถามพ่อกับแม่บ้างว่า
“อ้าวลูกชายไปใหนหรอ” พ่อก็บอกตรงๆว่า
“ถูกจับครับ” แล้วลูกค้าเขาก็เงียบไป
แม่พี่หมีเล่าว่าช่วงแรกๆที่ไปเยี่ยมที่เรือนจำเห็นว่าพี่หมี “ตาแดง” และมีผู้คุมคอยยืนคุม แม่ถามหมีว่าโดนซ้อมหรือเปล่า หมีก็บอกว่า “ไม่” แต่มีคนมาเล่าให้แม่ฟังว่าข้างในใครโดนคดีนี้เข้าไป ต้องโดนทุกคน (แม่เริ่มปาดน้ำตาร้องให้ เราทุกคนนั่งเงียบ ปล่อยเสียงของผู้เป็นแม่ได้ระบายต่อ)
แม่เลยไม่สบายใจ เราไปเยี่ยมบ่อยๆ ก็ไม่ได้เพราะต้องทำงานอย่างมากก็เดือนละครั้งเท่านั้น อยากให้ลูกออกมาเร็วๆ ทุกวันนี้ได้แต่รอให้ลูกออกมา
“หากไปหาหมี ฝากบอกด้วยว่าไม่ต้องห่วง…”
เราลาคุณพ่อคุณแม่พี่หมีกลับสำนักงาน ในมือกำจดหมายขอพระราชทานอภัยโทษ ทุกข้อความ ทุกบรรทัด นั่นคือหยดน้ำตาของ… แม่
ภาพของบักหำน้อย ที่ทุกวันต้องไปเปิดร้านซ่อมรองเท้าคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว ความหวังสุดท้ายคือการขอรับพระราชทานอภัยโทษเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ
 
 
ที่มา: http://rli.in.th/2011/04/01/จากแม่คนซ่อมรองเท้า-สู่/

No comments:

Post a Comment