จดหมายถึงเหยื่อคดีหมิ่น: "ประชาชนจักกระซิบที่หูของท่านว่า ท่านไม่ได้สู้อยู่ตามลำพัง"
Mon, 2011-05-09 11:23
โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ
แม้เมื่อยามถูกแรงผลักหรือถูกดึงดูดให้เข้าไปหารั้วรวดหนามนั้น พวกเราส่วนใหญ่มักจะล้มเลิกความตั้งใจมื่อต้องเผชิญหน้ากับการปิดล้อมที่แน่นหนา แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่ยอมหันหลังกลับ คนผู้ที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะปีนข้ามรั้วไปให้ได้ เพราะนั่นเป็นทางเลือกเดียวที่เขาผู้นั้นมี ที่เขาผู้นั้นจำเป็นต้องกระทำ
รั้วลวดหนามนี้ก็คือกฎแห่งสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมา ทั้งกฎระเบียบ กฎแห่งศีลธรรม หรือสัญญาณเตือนต่างๆ แต่เมื่อมองจากมุมที่แตกต่าง รั้วเหล่านี้ก็คือกฎหมายแห่งการคุกคามดีๆ นี่เอง ที่ผู้คนจำต้องยอมจำนนต่อรั้วที่มีจำนวนหลายชั้น ที่กั้นรักษาอำนาจบางอย่างไว้จากพวกเราทั้งมวล . . .
กระนั้นก็ตาม กระบวนการคือเส้นทางที่คนผู้หนึ่งผู้ใดจะต้องใช้ก้าวเดินเพื่อกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเองคืนมา เป็นการกระทำเพื่อที่จะเรียกร้องซึ่งสิทธิในชีวิตของพวกเขาทั้งมวล ตามพละกำลังที่แต่ละคนจะพึงมี การกระทำที่ทั้งกฎหมาย จริยธรรม หรือข้อห้ามใดใด ก็ไม่สามารถหยุดยั้งเอาไว้ได้ มันคือคำประกาศถึงเจตจำนงค์และพลังของมนุษย์ ที่แม้ว่าจะพ่ายแพ้ตรงที่เส้นลวดนั้นก็ตามที แต่เขาทั้งหลายก็จะยังคงยืนยันที่จะไม่ยอมเป็นอัมพาตทางจิตสำนึก
ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี
จดหมายถึง "เหยื่ออธรรม" ทุกท่าน
สะพานข้ามน้ำกลางกรุงเฮลซิงกิเส้นนั้น เต็มไปด้วยร่องรอยกระสุนปืนที่ถูกทิ้งไว้อย่างจงใจ เพื่อเป็นอนุสรณ์และอุทาหรณ์แห่งความเจ็บปวดที่คนฟินน์ต้องลุกขึ้นมาเข่นฆ่าสังหารกันเองจนมีผู้เสียชีวิตร่วมสี่หมื่นคน เพราะอุดมการณ์แนวคิดขวาทุนนิยมกับซ้ายสังคมนิยมในปี 2461
"เดินแกว่งแขนและเหวี่ยงขาให้เต็มเหนี่ยว ให้สมกับเสรีภาพที่บรรพชน และวีรชน ได้เสียสละเลือดเนื้อให้กับเรา วิญญาณพวกเขายังเฝ้ามองอยู่ พวกเขาจะภูมิใจยิ่งว่าการเสียสละของพวกเขาในนามแห่งเสรีภาพ ถูกคนรุ่นหลังใช้มันอย่างสำนึกในคุณค่า
จงกวัดแกว่งแขนขาไปกับเสรีภาพให้เต็มเหนี่ยว"
เพื่อนร่วมเดินเคียงข้างบอกข้าพเจ้า พร้อมกับย้ำเตือนว่า "บนสะพานนั้นมีกี่ร้อยศพที่ปลิดปลิว ในถนนที่เราย่ำเหยียบมีกี่ชีวิตที่ดับสูญเพื่อชีวิตแห่งอนาคต"
คุกเก่าที่นี่ ร้างราผู้ต้องหาคดีคอมมิวนิสต์มากว่า 60 ปี มันถูกปรับปรุงสภาพเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้แสวงหาเสรีภาพ เพื่อการรังสรรค์วรรณกรรมเพื่อปลดแอกอำนาจที่กดขี่
ในคุกใหม่กว่าที่อยู่ห่างไกลจากที่นี่หลายพันไมล์ แออัดยัดเยียด แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
หัวชนหัว ขาเกยขา หลายสิบชีวิต ทุรนทุรายดีดดิ้นป่ายปะกันไปมาตลอดทั้งคืน หลายคนละเมอครางเพ้อ กรีดร้องด้วยความกลัวปิศาจร้ายที่เกาะกุมอยู่ในความฝัน
สภาพที่น่าสังเวช เลวร้ายเช่นนี้ กำลังถูกสุมแน่นด้วยผู้บริสุทธ์ิจำนวนมากขึ้น มากขึ้น ที่ถูกจับโยนใส่ในห้องขังเหล่านี้
ผู้คนที่ไม่มีความผิดใด นอกจากเพียงเรียกหาประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
พวกท่านเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่ใช้ชีวิตเป็นดั่งคำประกาศแห่งเสรีภาพเพื่ออนุชนคนรุ่นอนาคต ด้วยหวังว่าความเจ็บปวดที่ค้างคามาหลายทศวรรษจะหมดสิ้นไปจากสังคมเสียที
ท่านทั้งหลายมีชื่อ ชื่อที่ถูกจารึกในคุกแสนทารุณนั้น – บัณฑิต อานียา, บุญยืน ประเสริฐยิ่ง, ดารุณี ชาญเชิงศิลปกุล, สุวิชา ท่าค้อ ทศพรฤทัย ประเสริฐสูง, ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล, สุริยัน กกเปือย, สุชาติ นาคบางไทร (วรวุฒิ ฐานังกรณ์), อำพล ตั้งนพคุณ, สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน), เอกชัย หงส์กังวาน,และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยนาม ไม่ได้เป็นที่รับรู้
ไม่ใช่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น!
ความอัปลักษณ์แห่งห้องขังไทยถูกนำไปถ่ายทอดทีวีของหลายชาติผ่านการจับกุมคนต่างชาติอย่างไร้เหตุผล และจับโยนใส่คุกไทยอย่างไม่ปรานีปราศรัย ทั้ง Oliver Jufer ชาวสวิสเซอร์แลนด์, Harry Nicolaides และ Conor Purcell จากออสเตรเลีย และ Jeff Savage จากอังกฤษ ด้วยข้อหาไม่เคารพองค์พระมหากษัตริย์และเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยกับคนหาเช้ากินค่ำที่ประเทศไทย
"เหยื่ออธรรม" เหล่านี้ เริ่มกลายเป็นคนใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นมาหลายปี เป็นคนที่เดินในแถวขบวนเดียวกัน ร่วมกันเปล่งเสียง "อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน"
สาส์นที่ทยอยส่งออกมาจากห้องขังที่ร้อนอบอ้าวนี้ คือถ้อยคำยืนยันถึงการเป็นเหยื่อของระบบการเมืองที่อยุติธรรม
การเมืองเพื่อการคงอำนาจของคนกลุ่มน้อย และการกดหัวคนกลุ่มใหญ่ไว้ใต้ท็อปบู๊ท
แม้จะอยู่ไกลกันหลายพันไมล์ ข่าวสารทางเมืองไทยหลั่งไหลเข้ามาทางเคเบิลที่ส่งตรงถึงทุกบ้านราวกับสายน้ำที่พากันหนีออกจากเขื่อนที่ถูกระเบิดกระจาย จนฉาบเติมแต้มผิวโลกตลอดเส้นทางที่มันไหลผ่านด้วยคราบเลือดสีแดงฉาน คราบเลือดและน้ำตาผสานรวมเข้ากับคราบเลือดและน้ำตาของมวลหมู่ผู้แสวงหาสันติภาพอีกนับแสน นับล้านชีวิต ตลอดเส้นทางที่เคลื่อนไหล รอยเปื้อนเลือดที่ประทับตราแห่งความปวดร้าว การเสียสละที่ได้รับการแซ่ซร้องสรรเสริญและคำขอบคุณจากบรรพชนรุ่นหลัง
ผู้คนตลอดเส้นทางรู้จักมันอย่างดียิ่ง และทุกผู้คนในโลกนี้ไม่มีใครปรารถนาที่จะเห็นหรือเผชิญหน้ากับมันอีกต่อไป – หลายเชื้อชาติวางความแค้น ยุติการเข่นฆ่ากันเพื่ออำนาจที่ฉ้อฉล เดินหน้าสู่ขบวนการเสรีภาพและสันติภาพ และยอมรับกติกาประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ชนชั้น วรรณะใดก็ตาม ต่างก็มีค่าแห่งความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
มีกี่ครอบครัวกันในโลกนี้ที่ไม่สูญเสียบุคคลที่รักในสงครามความบ้าคลั่งเพื่อปลดแอกอำนาจที่กดขี่
ตลอดเส้นทางจากกรุงเทพมหานคร เคลื่อนผ่านย่างกุ้ง ดาห์กา เดลลี กาฐมาณฑุ อาเมดาบัด คาบูล แบกแดด มอสโค เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก มาจนถึงเฮลซิงกิ ฯลฯ ยังคุกรุ่นด้วยไฟการต่อสู้และแรงปรารถนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่สังคมเท่าเทียมอย่างแท้จริง
กระนั้นในคำตอบของผู้คนมากหลายในดินแดนเหล่านี้ ที่ย่างกรายเฉียดฉิวเข้าใกล้แดนสังหารกลางมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เพื่อมุ่งหน้าสู่ชายหาดงาม แดดกล้า หญิงงาม อาหารสด ย้อมผิวสีแทน ก็ยังคงเดินทางกลับบ้านพร้อมเรื่องเล่า "คนไทยใจดี มีมิตรภาพ และอาหารอร่อย"
เขาจะหวาดผวาเมื่อถูกคำถามว่า "คุณไม่รู้สึกเลยหรือถึงความตายในดินแดนที่ไปสุขสมบ้างเลยหรือ" ยิ้มละอาย หลบตาชั่วครู่ พร้อมกับขาที่รีบก้าวหนีคำถามที่ท้าทายมโนสำนึก
การตายจากการสังหารของทหารและตำรวจบนท้องถนนในทุกครั้งที่ประชาชนในประเทศไทยลุกขึ้นสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะ 77 หรือ 42 หรือ 45 หรือแม้แต่ 93 ชีวิตในปี 2553 ยังเป็นตัวเลขการสูญเสียไม่พอที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงอาชญากรรมแห่งมนุษยชาติ – มันน้อยนิดเมื่อเทียบกับเราต้องสูญเสียทหารที่ปกป้องดินแดนจากการรุกรานไปนับแสนคนในช่วงสงครามโลก
"เซ่นสังเวยอำนาจเพียง 93 คนในเมืองไทยนั้นน้อยนิด ปล่อยให้คนไทยจัดการแก้ปัญหาภายในประเทศกันเอาเองเถิด" หลายคนพยายามจะกล่าวเช่นนั้น
ขานรับด้วยเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ ไอแอลโอ เอดีบี ไอเอมเอฟ ที่ไม่สามารถตัดสวาทขาดสะบั้นจากอาหารรสเลิศที่มีให้เลือกนานาชนิด กับวิถีชีวิตที่ยากหาได้ในบ้านเกิดตัวเอง ด้วยเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงสูงลิบ กลายเป็นอภิสิทธิชนที่ได้รับการพิทักษ์สิทธิ์อย่างสูงยิ่งในศูนย์กลางการค้ามหานคร
มันโอชะเสียจนยอมประทับตราความชอบธรรมให้กับการเข่นฆ่า – ครั้งแล้ว ครั้งเล่า – แม้จะขัดกับจิตสำนึกและมโนธรรมที่เชื่อว่าพวกเขามีอยู่บ้างก็ตามที
วิกฤติเมืองไทยเป็น "เรื่องภายในประเทศไทย" "เป็นเรื่องของทักษิณ ไม่ใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่" "ทุกคนที่ตายต่างถูกทักษิณจ้างมา" "ถ้าพวกเขาโง่มาตายให้กับนักการเมืองคอรัปชั่น เราก็ทำอะไรไม่ได้" พวกเขายังคงพูดอย่างนั้น แม้ประชาชนเรือนหมื่น เรือนแสนในประเทศไทยจะยืนหยัดประท้วงต่อเนื่องมากว่าสองปี – พวกเขาก็ยังยืนยันจะเชื่อเช่นนั้น – อนิจจัง อนิจจา!
เหยื่ออธรรมทั้งหลาย อย่าสงสัยว่านอกจากคนไทยยังเมินเฉยต่อความอยุติธรรมที่ยัดเยียดให้กับพวกท่าน แม้แต่ฑูตสันถวไมตรีจากดินแดนแห่งสังคมศิวิไลซ์จำนวนมากก็ยังเมินหน้าหนีต่อเสียงเพรียกหาความยุติธรรมของพวกท่าน . .
กระนั้น สังคมก็ไม่ได้เย็นชาเกินไป วีรกรรมของทุกท่านกำลังทำให้ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก ร้อนเร่าราวเตาไฟหลอมเหล็ก – ไฟแห่งความปรารถนาเพื่อเสรีภาพของท่านและของคนไทยทั้งปวง ได้เริ่มทลายกำแพงแห่งความเย็นชาของสังคม และในไม่ช้ากำแพงที่คุมขังท่านที่รัก จะถูกทลายจนพินาศสิ้น
ขอท่านส่งสาส์นและเสียงกู่ตะโกนเพรียกหาเสรีภาพผ่านลอดลูกกรงมายังนอกกำแพงคุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่มันจะได้ถูกส่งต่อไปยังผู้ที่ปลดแอกความเป็นทาสลงสิ้นแล้ว และเพื่อคนที่ยังหวั่นไหวว่าควรจะเลือกอะไรดีระหว่าง "จำนนอยู่อย่างทาส" หรือ "ลุกขึ้นสู้เพื่อปลดแอกอำนาจที่กดขี่" จะได้มีกำลังใจฮึดสู้กับอุปสรรคและก้าวมายืนอยู่เคียงข้างท่าน
แน่นอน! ทั้งท่านในคุก และเราที่อยู่นอกคุก หรือต้องลี้ภัยยังต่างแดน ต่างก็ไม่ยอมให้กำแพงคุก หรืออำนาจมืดที่คุกคาม หรือพรมแดนประเทศ มากีดกั้นหัวใจและความมุ่งมั่นเพื่อการต่อสู้ของพวกเราได้
แม้เจ็บปวดเจียนตายในห้องขังร่วมสามปี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ก็ยังไม่ยอมก้มห้วให้กับความอยุติธรรม ประกาศยืนหยัดต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจนถึงที่สุด แม้เธอจะเจ็บปวดรวดร้าวจากโรคร้ายที่เผชิญอยู่ ในสภาพเรือนจำที่ขาดแคลน มันเลวร้ายมากขึ้นด้วยเธอเป็นนักโทษคดีหมิ่นฯ จึงถูกเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งต่างๆ นานา ทั้งไม่ได้รับอนุญาตให้ได้รับการรักษาพจากแพทย์ผู้เช่ียวชาญ เธอผ่ายผอมลงมาก และไม่มีแม้พลังงานที่จะเคี้ยวและกลืนกินอาหาร
ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล เขียนจดหมายถึงลูกชายวัย 10 ขวบ " … ไม่มีใครหรอกลูกที่จะอยู่ในคุกอย่างมีความสุข สิ่งเดียวในตอนนี้ที่ป๊าหวังมากที่สุดนั่นคือการได้ออกไปอยู่กับน้องเว็บอีกครั้งโดยเร็ว "น้องเว็บต้องรู้ไว้เสมอนะว่าป๊าไม่ได้ฆ่าคนตาย ป๊าไม่ได้คดโกงใคร ไม่ได้ขายยาเสพติด หรือหลอกลวงใคร ป๊าก็แค่ทำงานช่วยเหลือเพื่อนๆในสิ่งที่ป๊าสามารถทำได้เท่านั้น แล้วก็ถูกจับ"
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ส่งสาส์นจากคุกออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้สังขารในวัย 68 เริ่มต้านทานโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายที่รุมเร้าได้ยากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะลุกขึ้นมาเขียนพินัยกรรมสั่งลา ก็ยังบอกกับนักสู้นอกคุกว่าอย่าท้อถอยหรือสิ้นหวัง ขอให้สู้ต่อไป
ล่าสุด สมยศ พฤกษาเกษมสุข จ่าหัวจดหมายจากคุก "เหยื่ออธรรม" "ผมจะต่อสู้ให้ได้รับเสรีภาพตราบจนลมหายใจสุดท้าย ผมยอมเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมเสียความเป็นคนอย่างแน่นอน"
ท่านทั้งหลายทั้งที่เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนามที่ถูกคุมขังด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราระลึกถึงท่าน เราตามอ่านเรื่องราวของท่าน เราเจ็บปวดเมื่อทราบว่าท่านถูกทำร้าย ถูกกลั่นแกล้ง หรือเลือกปฏิบัติในเรือนจำ เราสั่นรัวไปด้วยความรู้สึกถึงพลังแห่งการมุ่งมั่นเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่แม้กำแพงคุุกก็มิอาจปิดกั้นของพวกท่านได้
ก็ในเมื่อพวกท่านที่ถูกจองจำเสรีภาพในข้อกล่าวหาแห่งกฎหมายยุคโบราณยังยืนหยัดสู้ไม่ถอย เราฤาจะท้อถอยยอมให้เกิดความสั่นคลอนในหัวใจ
ท่านสู้ในคุก ส่วนเราก็จะสู้เพื่อบอกกับสังคมไทย และสังคมโลกถึงความอยุติธรรมที่พวกท่านได้รับ
เสรีภาพทางร่างกายของท่านอาจถูกจองจำ แม้ใจจะเจ็บปวดทรมาน แต่ไฟฝันยังคงลุกโชติช่วงหาได้แตกดับไปไม่ มันลุกโชติช่วงไม่ใช่เฉพาะแต่ในใจของท่าน แต่ในใจของทุกผู้คนในทุกสังคม ที่สั่นไหวไปกับจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของท่าน
คงไม่อาจขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดเพื่อให้คุ้มครองท่านนอกจากบอกว่าพลังของประชาชนที่ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงจะคุ้มครองท่าน
พลังแห่งความรักในเสรีภาพจักหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของท่าน
พลังแห่งความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน จักโอบกอดท่าน กระซิบที่หูของท่านว่า ท่านไม่ได้สู้อยู่ตามลำพัง
พลังแห่งความวาดหวังถึงอนาคตที่ดีกว่านี้เพื่ออนุชนรุ่นหลังของพวกท่าน และพวกเรา จะเป็นดังน้ำทิพย์ชโลมรักษาความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจให้กับท่านทั้งหลาย
สุดท้ายนี้ ขอโทษทุกท่านมา ณ ที่นี้ ที่ไม่อาจเดินทางมาเยี่ยมท่านได้ด้วยตัวเอง หวังว่าอีกไม่นานพวกเราจะได้ร่วมเฉลิมฉลองอิสรภาพและเสรีภาพร่วมกัน
ไม่มีอำนาจใดต้านทานพลังแห่งฉันทามติมหาประชาชน เพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยไปได้
ด้วยรัก ศรัทธา และเชื่อมั่น
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
แม้ว่าจำนวนผู้ถูกกดขี่จะมีมากกว่าจำนวนผู้กดขี่มากนักก็ตาม ผู้ถูกกดขี่เหล่านั้นต่างก็ไม่สามารถรวมตัวกันได้ ยอมให้ตัวเองต้องตกอยู่ภายใต้ความกรุณาปรานีของผู้กดขี่ที่มีการรวมตัวกัน อย่างเข้มแข็ง แต่มันก็ยังมีเหตุผลอื่นอีกด้วย นั่นคือ "จิตวิญญาณแห่งความเป็นทาส" ของตัวผู้ถูกกดขี่เอง
ถ้าเหล่าทาสโยนจิตวิญญาณของความเป็นทาสทิ้งไปเสียได้ และยืนยันถึงสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์เฉกเช่นเดียวกันกับนายทาส เป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพเสมอกัน และเตรียมตัวต่อสู้ ทีนี่ก็เหลือเพียงแค่เวลาที่จะสามารถรวมตัวกันให้ได้เท่านั้นเอง . .
ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี
ข้อมูลจาก: http://hirvikatu10.net/timeupthailand/?p=1115&lang=th
...
http://thaienews.blogspot.com/2011/05/blog-post_126.html
นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นักโทษคดีหม่ินพระบรมเดชานุภาพ
โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐกลุ่มแอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
ตามที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษคดีหมิ่นฯ นั้นหาไม่ได้ง่ายนัก ทั้งจำนวนผู้คนที่อยู่ในค่ายเฝ้ามองเรื่องคดีหมิ่นฯ มีกี่คนที่การออกหมายจับแล้วโดยแม้แต่่เจ้าตัวก็ไม่รู้ มีกี่คนที่เข้าไปนั่งจับเข่าอยู่ในห้องขังแม้ว่าคดียังไม่ถูกตัดสิน หรือกี่คนผู้ที่ถูกตัดสินและถูกคุมขังแล้ว ไม่มีใครทราบจำนวนที่แท้จริง
ข้อมูลชุดนี้เป็นเพียงการนำเสนอสั้นๆ ของตัวอย่างคดีหมิ่นฯ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นภาพว่าคดีหมิ่นฯ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดทับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและขบวนการ ประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง
ข้อมูลที่ใช้ประกอบการเขียนนี้มาจาก Political Prisoners in Thailand (PPT), LM Watch, ประชาไท และไทยอีนิวส์ และสำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ
ตัวเลขของคดีหมิ่นฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตระหนกนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 (รัฐประหารของพระราชวัง) โดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500 คดี
การท่วมทะลักของคดีหมิ่นฯ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะมีจุดเริ่มมาจากปี 2544 เมื่อนักข่าวชาวต่างชาติสองคนจาก Far Eastern Economic Review ถูก ห้ามเข้าประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อบรรณาธิการต้องทำหนังสือขอโทษมายังรัฐบาลไทยในขณะนั้น (ทักษิณ) - หลังจากที่เขียนบทความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์และรัฐบาล
นับตั้งแต่กันยายน 2546 บัณฑิต อานียา นักแปลอิสระที่เป็นที่เป็นที่รู้จักดีในการแปลหนังสือและสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับ แนวคิดสังคมนิยมกว่า 50 เล่ม ต้องใช้เวลาไปไม่น้อย จนถึงปัจจุบัน ไปกับการให้ปากคำตำรวจและขึ้นศาล ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เขาถูกฝากขังในระหว่างคดีต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง ถูกทำร้ายร่างกายในคุก ถูกตัดสิน ถูกจองจำ และในท้ายที่สุด ด้วยวัย 71 ปี และกำลังป่วยหนัก เขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงิน 200,000 บาท โดยนักวิชาการชาวต่างชาติ เขากล่าวว่า ไม่มีคนไทยกล้าเข้ามาทำเรื่องประกันตัวเขา
ในปี 2549 หนังสือที่ทำลายความเงียบงันมาอย่างยาวนาน "กษัตริย์ผู้ไม่ยิ้ม" ของ Paul Handley ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ที่สหรัฐฯ และมันก็ถูกแบบโดยทันทีในประเทศไทย
วันที่ 5 ธันวาคม 2549 ความอดกลั้นของ Oliver Jufer ชาวสวิสวัย 57 ปี ที่พำนักในเมืองไทยกับภรรยาชาวไทยกว่าสิบปี ต่อกระแส "รักในหลวง" ก็ถึงจุดยากควบคุม เขาถูกจับกุมหลังจากพ่นสีใส่รูปโปสเตอร์ "กษัตริย์แห่งกษัตริย์" ขนาดมหึมาที่ติดอยู่เต็มทุกมุมเมือง แทบจะทุกสี่แยกไฟแดงทั่วประเทศไทย จำนวน 5 ภาพ เขาถูกตัดสินจำคุก 10 ปี คดีของเขาไม่ได้รับความสนใจจากสื่อไทย แต่ได้รับการสนใจอย่างมากจากสื่อนานาชาติ เขาถูกเนรเทศในเดือนเมษายน 2550
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารรายสามเดือน "ฟ้าเดียวกัน" ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นฯ ในปี 2549 และก็อีกคดีหนึ่งในปี 2554 ฟ้าเดียวกันถือว่าเป็นวารสารภาษาไทยเล่มแรกๆ ที่เริ่มนำเสนอข้อเขียนร่วมสมัย และบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทพระมหากษัตริย์ที่มีต่อการเมืองไทย และมันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักศึกษาและนักวิชาการรุ่นใหม่
หมายเหตุ: กรณีของธนาพล เป็นคดีที่ "ถูกดองไว้" เช่นเดียวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกหลายคดี เพราะอะไรหรือ? เพราะว่า ถ้าคดีหมิ่นฯ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายของรอยัลลิสต์ทั้งหลาย - ศาลจำเป็นจะต้องตัดสินไปในทิศทางเดียวว่า "หมิ่นฯ" เพราะว่า ถ้าศาลตัดสินว่าการกระทำนั้น "ไม่หมิ่นประมาทอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์" ตัวของผู้พิพากษาเองก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระมหากษัตริย์เองก็เป็นได้ ในข้อหาว่าไม่ปกป้องสถาบัน เป็นต้น
นี่เป็นต้นเหตุของความเหม็นเน่าของระบบตุลาการในประเทศไทย เป็นต้นตอของทุกแง่มุมปัญหาของ "วิกฤติประเทศไทย" ประจักษ์จำนนแห่งหลักฐานมานับตั้งแต่ศาลชั้นต้นทีเดียวว่า ผลลัพธ์แห่ง "ประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์" มีเพียงประการเดียวคือ "การคอรัปชั่น"
2550 (2007)
โชติศักด์ อ่อนสูง และเพื่อน ชุติมา เพ็ญภาค นักศึกษาและนักกิจกรรม ถูกฟ้องดำเนินคดีในวันที่ 5 เมษายน 2551 ในข้อหาไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์เมื่อเดือนกันยายน 2550
สำหรับโชติศักดิ์ การถูกดำเนินคดีครั้งนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาอย่างสิ้นเชิง เขาไม่สามารถทำงานประจำได้เพราะต้องเดินทางให้การกับตำรวจและอัยการอยู่บ่อย ครั้ง เขาเผชิญกับการคุกคามหลากหลายรูปแบบ แต่กระนั้นก็ยังคงเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อย่างต่อเนื่อง และเลี้ยงชีพด้วยการขายหนังสือทางเลือกต่างๆ
รายงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี 2551 ได้กล่าวถึงคดีของพวกเขาไว้ว่า "พวกเขาได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีการประกันตัว คดีนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการสืบคดีแม้จะเป็นช่วงสิ้นปีแล้วก็ตาม ในวันที่ 29 และ 30 เมษายน สถานีวิทยุเมโทรไลฟ์ ได้ปลุกระดมให้ผู้ฟังทำร้ายโชติศักดิ์ เมื่อเขามีกำหนดจะขึ้นพูดในเวทีเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเวบไซด์ของรายการวิทยุยังได้นำรูปและข้อมูลของเขาที่รวมทั้งที่อยู่และ เบอร์โทรศัพท์ขึ้นประชาสัมพันธ์อีกด้วย
คดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน
Jonathan Head นักข่าวBBC ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นฯ ในเดือนเมษายน 2551 ในการพูดของเขาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อปี 2550 ปัจจุบันเขาไม่ได้ประจำอยู่ในสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน
จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ และเป็นอดีตโฆษกของ นปช. จักรภพถูกกล่าวหาคดีหม่ินฯ จากการพูดของเขาที่ FCCT เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 เขาเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่การใช้กำลังปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อเดือน เมษายน 2552
เขาถูกออกหมายจับ
บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ ม. ศิลปากร แจ้งความในข้อหาหมิ่นฯ หลังจากที่กรณีของอาจารย์บุญส่งได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อและมหาชน คดีถูกถอนฟ้อง
ถอนฟ้อง
2551 (2008)
ในการพูดปราศรัยในเวทีสนับสนุนทักษิณ บุญยืน ประเสริฐยิ่ง อายุ 48 ปี ถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นฯ และถูกตัดสินจำคุก 12 ปี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 หลังจากที่เธอรับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 6 ปี ศาลอุธรณ์ลดโทษเธอลงมาเหลือสองปี
เธอได้รับพระราชทานอภัยโทษพร้อมกับสุวิชา ท้าค้อ นักโทษคดีหม่ินฯ อีกคน และได้รับอภัยโทษหลังจากถูกขังคุก 22 เดือน (พฤศจิกายน 2551 - มิถุนายน 2553)
หลังจากได้รับการปล่อยตัว บุญยืนถูกนำตัวไปถวายพระพรในหลวงที่โรงพยาบาลศิริราช ในเสื้อสีชมพูที่มีตราสัญญลักษณ์ของในหลวง เพื่อลงชื่อยืนยันว่าเธอรักในหลวง ("รักในหลวง" คือ สัญญลักษณ์แห่งการยอมมอบกราบอยู่ใต้อำนาจแห่งสมบูรณาญาสิทธิราช)
ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังจากอยู่ในคุก 22 เดือน
รัชพิน ชัยเจริญ ถูกดำเนินคดีข้อหาไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เมื่อ 15 มิถุนายน 2551
กรณีนี้เงียบหายไปอย่างน่าสงสัย
สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 75 ปี
รอยัลลิสต์และนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงในการนำเสนอให้มีการปรับปรุง สถาบันพระมหากษัตริย์ เขาถูกจับกุม และถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจขอนแก่นด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2551 เขาเคยถูกข้อกล่าวหานี้ครั้งหนึ่งแล้วในช่วงทศวรรษ 2523
เขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัว คดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน
ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ นักจัดรายการวิทยุชุมชนถูกหมายจับข้อหาหมิ่นฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2551
หลบหนีคดี
2552 (2009)
Harry Nicolaides
ในเดือนมกราคม 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 3 ปี ในข้อหาหมิ่นองค์รัชทายาทในข้อเขียนสี่บรรทัดในนวนิยายเรื่อง Verisimilitude ของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2548 นิโคไลเดส ถูกตัดสินใจเดือนมกราคม 2552 ถูกจำคุก และหลังจากที่เขายืนฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เขาถูกเนรเทศกลับไปยังประเทศออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ 2552
ถูกขังคุก ได้รับพระราชอภัยโทษ ถูกเนรเทศ
ใจ อึ้งภากรณ์
หลังจากถูกดำเนินคดีเนื่องจากอ้างถึงข้อเขียนของพอล แฮนเลย์(อ้างถึงแล้วข้างบน) ในหนังสือของเขา "A Coup for the Rich' ในปี 2550 ใจ ที่ประกาศตัวเป็นมาร์กซิสต์ และอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนีประกันและเดินทางไปอังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พร้อมกับภรรยา หลังจากที่ถูกคุกคามอย่างหนัก เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ตำรวจออกหมายจับ และหนังสือของเขาก็ถูกแบนในประเทศไทย
แม้จะเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง ใจและนุ่มยังคงทำงารณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย See: http://redthaisocialist.com/
ลี้ภัยการเมือง
คณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT)
ในเดือนมิถุนายน 2552 มีการแจ้งความดำเนินคดีกับคณะกรรมการ 13 ท่าน ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในข้อหาหมิ่นฯ หลังจาก FCCT เผยแพร่ซีดีเวทีเสวนาที่ร่วมอภิปรายโดยจักรภพ เพ็ญแข (ดูข้างบน)
คดีอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวน
ดารุณี ชาญเชิงศิลปกุล, 48 ปี
สิงหาคม 2552 ดารุณีถูกจับกุมเนื่องจากเธอเข้าร่วมปราศรัยต้านรัฐประหาร 2549 และพูดถึงพระมหากษัตริย์ ในระหว่างการเดินขบวนของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 เธอถูกตัดสินจำคุก 18 ปี ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เธอถูกเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งต่างๆ นาๆ ในคุก และเผชิญกับสภาวะความเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์
ศาลตัดสินจำคุก 18 ปี กระบวนการอุธรณ์คดีของเธอก็ยังดำเนินต่อไป
สุวิชา ท่าค้อ, 36 ปี ถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2552 เขารับสารภาพและถูกตัดสินจำคุก 10 ปี ครอบครัวของเขาทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัวในเดือนมิถุนายน 2553
ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับการปล่อยตัว
สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม. ถู ก แจ้งความดำเนินคดีหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 หลังจากนำคำพูดของดารุณี ชาญเชิงศิลปกุล มาพูดในเวทีปราศรัยของพันธมิตร เขาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยว งเงิน 300,000 บาท
เช่นเดียวกับคดีความฟ้องร้องสนธิอีกหลายคดี มันถูกแขวนเอาไว้
จีรนุช เปรมชัยพร
สำนักงาน ประชาไทถูกตำรวจบุกคนในวันที่ 6 มีนาคม 2552 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจีรนุช ผู้จัดการเวบข่าวออนไลน์ สามารถจะสร้างขบวนการแก้ต่างการถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาต่างๆ ตามความเห็นของจีรนุช ตำรวจใช้ข้อหาละเมิด พรบ.คอมพิวเตอร์กับเธอ เพื่อหลีกเลี่ยงความสนใจของนักข่าวต่างประเทศที่สนใจประเด็นเรื่องการใช้กฎ หมายหมิ่นฯ ในประเทศไทย
ในสภาพที่มีการเซนเซอร์ตัวเองกันอย่างหนักของสื่อกระแสหลักในประเทศไทย ประชาชนชาวไทยต้องการ prachatai.com สื่อเสรีเพียงไม่กี่สื่อที่ยังคงความน่าเชื่อถือ และเป็นสื่ออิสระที่รายงานการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม
เวบบอร์ดของประชาไท ได้รับความนิยมมาก และเป็นสถานที่คนเข้ามาเขียนระบายเกี่ยวกับความบ้าคลั่งทางการเมืองใน ประเทศไทย นับตั้งแต่คดีคอรัปชั่นของทักษิณ รัฐประหาร 2549 และเหตุการณ์หลังจากนั้น กลุ่มนักรบไซเบอร์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เข้ามาใช้พื้นที่ประชาไทเวบบอร์ด เป็นบ้านของพวกเขา ข้อเขียนของพวกเขาก็เพิ่มความเผ็ดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองไทย
หน้าที่ของจีรนุช ที่ไม่มีทางทำได้อย่างครบถ้วน คือการพยายามติดตามทุกความเห็นในเวบบอร์ดที่มีมากมายมหาศาล
ในระหว่างการเดินทางกลับจากเวทีสัมมนาเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เนตนานาชาติ ที่ประเทศฮังการรี ในเดือนกันยายน 2553 จีรนุชถูกจับกุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ
ข่าวการจับกุมตัวจีรนุชแพร่กระจ่ายอย่างรวดเร็ว นักรบไซเบอร์และองค์กรต่างๆ กระจายข่าวการจับกุมเธอ เธอได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 200,000 บาท แต่จะต้องเดินทางไปยังสถานีตำรวจขอนแก่นทุกเดือนเพื่อแสดงตัว - ซึ่งเป็นระยะทาง 400 กม. จากกรุงเทพฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553 องค์กรสิทธิมนุษยชนเอเซีย (AHRC) ได้เปิดรณรงค์เรื่องกรณีของจีรนุช http://www.humanrights.asia/campaigns/chiranuch-prachatai
ประกันตัวและเตรียมตัวรับมือกับข้อกล่าวหา
กิตติ แสนสุขโรจน์วงศ์ อายุ 39 ปี ถูกจับกุมวันที่ 4 เมษายน 2552 ที่จังหวัดขอนแก่น ในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นฯ
คดีเงียบหาย
ทศพรฤทัย ประเสริฐสูง ถูกจับกุมวันที่ 18 เมษายน 2552 ที่ร้านถ่ายเอกสารที่จังหวัดนครราชสีมาพร้อมกับใบปลิวหลายใบที่มีเนื้อหา เข้าค่ายหมิ่นพระมหากษัตริย์และองคมนตรี
ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว อยู่ในคุก
กอแก้ว พิกุลทอง ถูกออกหมายจับวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 หลังจากปราศรัยที่เชียงใหม่ แต่ตำรวจมักจะไม่บูมบามในคดีที่เป็นผู้มีชื่อเสียง กอแก้วเป็นแกนนำของ นปช. เขาเข้ามอบตัว และถูกคุมขังพร้อมกับนักโทษการเมือง 470 คน หลังการปราบปรามคนเสื้อแดงยุติลงเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากอยู่ในคุกกว่า 9 เดือน ศาลอนุญาตให้มีการประกัันเขาและแกนนำ นปช. อีก 8 คน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554
คดียังอยู่ในระหว่างการสืบสวน
พิษณุ พรมสรณ์ หนึ่งในแกนนำ นปช. ถูกออกหมายจับคดีหมิ่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2552
หลบหนีคดี
ภิเษก สนิทธางกูร สถาปนิก ที่ถูกตำรวจเข้าตรวจค้น เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาโพสต์ข้อความหมิ่นฯ ในเวบบอร์ด
เขาปฎิเสธข้อกล่าวหา และลี้ภัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ อายุ 29 ปี ถูกจับกุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2552 ภายใต้ พรบ. คอมพิวเตอร์ ในข้อกล่าวหาว่าว่าเผยแพร่คลิปส์ที่หมิ่นสถาบันฯ ในบล๊อก 'StopLeseMajeste' เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยไม่แน่ชัดว่าได้รับอนุญาตให้ประกันตัวหรือด้วยสาเหตุใด
ไม่ชัดเจน / คดีอยู่ในระหว่างการสืบสวน
ธีรนันต์ วิภูชนิน, คฑา ปาจริยพงศ์, สมเจต อิทธิวรกุล,และ หมอทัศพร รัตนวงศา ถูกจับกุมระหว่างเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2552 ในข้อหาให้ข่าวสารที่เป็นเท็จเกี่ยวกับสุขภาพของในหลวง
ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
เพชรวรรต วัฒนพงษ์สิริกุล แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ถูกข้อกล่าวหาหลายคดี รวมทั้งหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาหลบหนีไปหลังจากการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ในปี 2553 และตัดสินใจเข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 100,000 บาท
ได้รับอนุญาติให้ประกันตัว คดียังไม่สิ้นสุน
Richard Lloyd Parry บรรณาธิการนิตยสารไทม์ประจำภาคพื้นเอเชีย(ลอนดอน) ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่สถานีตำรวจดุสิตเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2552 หลังจากเผยแพร่บทสัมภาษณ์ทักษิณในนิตยสาร
ไม่มีความคืบหน้าเรื่องคดี
2553 (2010)
ปรวย Salty Head ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา ที่สนใจการเมืองและโพสต์ข้อคิดเห็นทางการเมืองในเวบบอร์ดประชาไท และฟ้าเดียวกัน (คนเหมือนกัน) หลังจากถูกจับกุมและสอบสวนในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เขาพบว่าตำรวจได้ติดตามเขามาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งนี้ตำรวจ DSI 12 คนเข้าตรวจค้นที่บ้านพักของเขาในปลายเดือนพฤษภาคม 2553 และนำตัวเขาพร้อมเครืองคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว 2 เครื่องไปยังสำนักงาน DSI ซึ่งเขาถูกสอบสวนหลายชั่วโมง คอมพิวเตอร์ถูกส่งคืนให้กับเขาหลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์
เขาออกจากงาน ตัดสินใจขายรถและเดินทางออกจากประเทศไทย และกำลังจะต้องขายบ้าน
ขอลี้ภัย ครอบครัวของเขาถูกติดตามเป็นระยะเพื่อขอข้อมูลว่าเขาอยู่ที่ไหน
ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล, 38 ปี
ผู้ออกแบบ เวบไซด์คนเสื้อแดงหลายเวบ ถูกจับกุมตัวในเดือนเมษายน 2553 ถูกตัดสินจำคุก 13 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554
อยู่ในคุก ทนายทำเรื่องอุธรณ์
สุริยัน กกเปือย อายุ 29 ปี นักซ่อมรองเท้า ถูกจับกุม ตัดสินจำคุก 6 ปี ในข้อหาหมิ่นฯ แต่หลังจากรับสารภาพได้รับลดโทษเหลือจำคุก 3 ปี
อยู่ในคุก
ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์ และพวก ถูกจับกุมตัว ในข้อหาหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 และถูกตัดสินจำคุก 3 ปี
ประกันตัวและสู้คดี
สุชาติ นาคบางไทร (วรวุฒิ ฐานังกรณ์) อายุ 52 ปี ถูกจับกุมตัวในข้อหาหมิ่นฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษจิกายน 2553 หลังจากหลบหนีคดีกว่าปี ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี
อยู่ในคุก
วิภาส รักสกุลไทย นักธุรกิจเสื้อแดงจากจังหวัดระยอง ถูกจับกุมในวันที่ 29 เมษายน 2553 ในข้อหาหมิ่นฯ เขาปฏิเสธข้อกล่าวหา
ประกันตัวและอยู่ในระหว่างสู้คดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กษิต ภิรมย์
สส. เพื่อไทยได้ฟ้องร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและผู้สนับสนุนหลัก พันธมิตร กษิต ภิรมย์ ในข้อหาหมิ่นฯ แต่ตำรวจก็ไม่ได้ดำเนินมาตรการใดๆ ในคดีนี้
กษิตเป็นรอยัลลิสต์คนสำคัญ
อำพล ตั้งนพคุณ อายุ 61 ปี คนหาเช้ากินค่ำ ถูกจับเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ในข้อกล่าวหา "ส่ง SMS ที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ไปยังนายกและในหลวง" ชายสูงวัยที่ขณะนี้อยู่ในคุก ปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า SIM การ์ดที่ตำรวจใช้สาวถึงตัวเขานั้นไม่ใช่ของตัวเอง
ถูกปฏิเสธการขอประกันตัว และอยู่ในคุก
ทอม ดันดี นักร้อง ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเครือข่ายราษฎรอาสาป้องกัน สถาบัน หลังจากการปราศรัยของเขาที่เวทีคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553
คดียังอยู่ในระหว่างการสืบสวน
ธนพล บำรุงศรี อายุ 32 ปี ผู้ประกอบการคนเสื้อแดง ถูกจับกุมตัววันที่ 13 กันยายน 2553 จากการโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ในหน้าเฟสบุ๊คของเขา
ประกันตัว อยู่ในระหว่างคดี
วิเศษ พิชิตลำเค็ญ ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2553 ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในขณะที่กำลังจะเดินทางออกจากประเทศไทย
ไม่มีข้อมูลเพ่ิมเติม
นาวาอากาศตรี ชนินทร์ คล้ายคลึง ลูกทัพอากาศ ถูกแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นฯ โดยทหารจากลูกทัพเรือ จากโพตส์และเขียนข้อความในหน้าเฟสบุ๊คของเขา
ถูกพักงาน และคดียังอยู่ในระหว่างการสืบสวน
2554 (2011)
ทักษิณ ชินวัตร
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 วัชระ เพชรทอง สส. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดกับทักษิณ ชินวัตร โรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม และธนาพล อิ๋วสกุล (ในฐานะบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน) ในการตีพิมพ์รายงานภาคภาษาไทยที่เตรียมโดยสำนักงานกฎหมายอัมเตอร์ดัม เกี่ยวกับการปราบปรามคนเสื้อแดงของทหารรอยัลลิสต์เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553
คดียังอยู่ในระหว่างการสืบสวน
โรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ถูกแจ้งความดำเนินคดีพร้อมทักษิณ ชินวัตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554(รายละเอียดอ้างแล้ว)
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน), 68 ปี
แกนนำของกลุ่มแดงสยาม ถูกตำรวจบุกจับตัวในระหว่างกลับเข้าบ้านพักหลังจากจบการปราศรัยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 มายัง สน.โชคชัย
เขาถูกส่งเข้าเรือนจำ และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
คดียังอยู่ในระหว่างการสืบสวน
เอกชัย หงส์กังวาน อายุ 35 ปี ถูกจับกุมในเวทีชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 พร้อมด้วยซีดีจำนวน 100 แผ่น (สารคดีเกี่ยวกับนักโทษคดีหมิ่นฯ ที่ทำโดยผู้สื่อข่าวต่างชาติ) และใบถ่ายเอกสารวิกิลีกส์จำนวน 10 แผ่น
ห้ามประกัน อยู่ในคุก
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บร รณาธิการเรด พาวเวอร์ และแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ถูกจับกุมที่ด่านไทย-เขมร อรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ในข้อหาหมิ่นฯ ตามหมายจับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 เหตุผลที่แท้จริงน่าจะมาจากการที่เขาเป็นตัวตั้งตัวดีรณรงค์ล่ารายชื่อ 10,000 ชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สมยศถูกนำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่มีเพื่อนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและถูกจับกุมก่อนหน้านี้ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สหภาพแรงงาน และองค์กรแรงานหลายองค์กรทั่วโลกส่งจดหมายประท้วงการจับกุมสมยศ มายังรัฐบาลไทย
ห้ามประกัน อยู่ในคุก
ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ผู้ถูกฟ้องคดี หมิ่นฯ รายล่าสุด ซึ่งจะต้องเข้ารายงานตัวที่สถานีตำรวจนางเลิ้งในวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 คือ ดร. สมศักดิ์ นักวิชาการด้านผู้ที่นำเสนอประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อ เนื่อง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ความเข้มข้นและแหลมคมของประเด็น ดร. สมศักดิ์ โดยเฉพาะข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อปฎิรูปสถาบันกษัตริย์
นับตั้งแต่ ตั้งถามสองประเด็นต่อฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ต่อการให้สัมภาษณ์ของพระองค์ในรายการ "วูดดี้เกิดมาคุย" เมื่อต้นเดือนเมษายน 2554 เป็นต้นมา ดร. สมศักดิ์ และภรรยา ถูกคุกคามอย่างหนัก จนต้องแถลงข่าวร่วมกับทีมนักวิชาการนิฎิราษฎร์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 พร้อมกันนี้มีนักวิชาการหลายกลุ่มร่วมลงชื่อรวมกันกว่า 200 คน สนับสนุนจุดยืนทางวิชาการของดร. สมศักดิ์
วันที่ 11 พฤษภาคม 2554 สมศักดิ์ต้องเข้ารายงานตัวที่สถานีนางเลิ้งเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"
- - - - - - - - -
ที่มา
Thai Political Prisoners
http://thaipoliticalprisoners.wordpress.com
LM Watch
Prachatai.com is also a source of info on well-known LM victims.
http://www.prachatai.com/english/
http://thaienews.blogspot.com/
Bangkok Post etc.
No comments:
Post a Comment