Saturday, June 18, 2011

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยใหม่ในยุคการเมืองมวลชน

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308314632&grpid=&catid=02&subcatid=0207

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยใหม่ในยุคการเมืองมวลชน

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 20:30:00 น.

Share134




โดย เกษียร เตชะพีระ 



(เรียบเรียงเพิ่มเติมจากคำอภิปรายของผู้เขียนในวงสนทนาแบบเปิดข้างต้น)

เบื้องหน้าทิศทางการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 3 ด้านของสังคมการเมืองไทยที่ได้นำไปสู่วิกฤต รุนแรงในระยะหลายปีที่ผ่านมา (ดังที่เขียนถึงในสัปดาห์ก่อน) พอจะมีทางออกอะไรจากวิกฤตดังกล่าวได้บ้าง ในอันที่จะนำสังคมการเมืองไทยผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่บอบช้ำเสียหายยิ่งไปกว่านี้?

ขณะแนวคิดที่โลกตะวันตกคุ้นเคยในการใช้รับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงคือ สัญญาทางสังคมใหม่ (The New Social Contract/Le nouveau contrat social/Der neue Sozialvertrag) ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันกว้างขวางในช่วงก่อตั้งและขยายสหภาพยุโรปหรือช่วงวิกฤตซับไพรม์ และเศรษฐกิจโลกถดถอยใหญ่ในอเมริการะยะหลัง ฯลฯ

แนวคิดที่ค่อนข้างเป็นที่คุ้นเคยกว่าในสังคมไทย และอาจเหมาะกับการปรับประยุกต์มารับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงแบบเฉพาะที่เราเผชิญคือ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย (The Thai Cultural Constitution) ซึ่งอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอไว้อย่างเฉียบแหลมเป็นระบบในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม เดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2534 และถูกนำไปอ้างอิงตีความวิเคราะห์ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายต่อมา (เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชนเล่ม 2, 2537 ; ยุกติ มุกดาวิจิตร, "คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย", วิภาษา, 3: 2, 2552; รวมทั้งมีฉบับแปลเป็นอังกฤษโดย Chris Baker ที่ http://kyotoreview.cseas.kyoto-u.ac.jp/issue/issue2/article_243.html)

 

สรุปฟันธงคือ ผมคิดว่าเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมือง เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยใหม่สำหรับยุคการเมืองมวลชนปัจจุบัน ซึ่งมีแก่นสารสำคัญที่มุ่งทำให้รัฐและการเมืองมวลชนเป็นอารยะหรือศิวิไลซ์

ในแง่เหตุผลความจำเป็นของการทำให้รัฐศิวิไลซ์ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ได้เสนอไว้ อย่างพิสดารแล้วในปาฐกถารำลึกศาสตราจารย์ W.F. Wertheim ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เรื่อง Civilising the state: state, civil society and politics in Thailand (http://www.iias.nl/asia/wertheim/lectures/WL_Phongpaichit.pdf) ผมขอไม่เอ่ยซ้ำในที่นี้

ทว่าพฤติกรรมที่เป็นจริงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนท้องถนนของฝ่ายต่าง ๆ รอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ประจักษ์ชัดว่าลำพังการเรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจอย่างศิวิไลซ์ฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่เพียงพออีกต่อไป จำต้องเรียกร้องให้ขบวนการการเมืองของมวลชนทุกสีทุกฝ่ายเคลื่อนไหวอย่างศิวิไลซ์ด้วย 

(ในประเด็นนี้ มุมมองของผมพ้องรับกับข้อเสนอต่างหากของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ในบทความ "ประชาสังคม ความรุนแรง และการล่มสลายของประชาธิปไตย : ความสำคัญของแนวคิด เรื่องความมีอารยะและการเมืองแบบอารยะของเอ็ดเวิร์ด ชิลส์" ใน เมืองไทยสองเสี่ยง : สภาพปัญหา แนวโน้ม และทางออกวิกฤตการเมืองไทย ซึ่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์กำลังจะตีพิมพ์ออกมา)

ในทรรศนะของผม เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยที่จำต้องปรับปรุงใหม่ให้ ตอบรับกับยุคการเมืองมวลชนมีอย่างน้อย 4 ประการ ด้วยกันดังนี้: -

1) ถือความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมไทย

ในโฆษณาทีวีผลิตภัณฑ์รักษาสิวของ ดร.สมชายหลายปีก่อน ปรากฏฉากหนุ่มวัยรุ่นมายืนบนเกาะกลางถนนใต้เสาสัญญาณจราจรแล้วกางแขนสองข้างออกพร้อมร้องตะโกนว่า:

"สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ!"

ข้อเสนอของผมคือ อยากให้คนไทยตระหนักดังๆ ได้แล้วว่า :

"ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติ!"

ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติพอๆ กับความรู้รักสามัคคี สนิทสนมกลมเกลียวนั่นแหละ ไม่มีอะไรผิดปกติวิสัยหรือไม่ธรรมชาติ หรือไม่ไทยไปกว่ากัน

การยึดมั่นถือมั่น (psycho-cultural fixation) ว่าความขัดแย้งกันทางการเมืองเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่ธรรมชาติหรือไม่ไทย ทำให้มีท่าทีหวาดระแวงเกลียดชัง "สิว", ไม่ค้นคว้าเข้าใจสมุฏฐาน หรือเหตุแห่ง "สิว", แก้ไขรักษา "สิว" ผิดๆ ถูกๆ เช่น เอะอะก็อับอายที่เป็น "สิว", เกิดปมด้อยที่ใบหน้ามี "สิว", พยายามปิดงำอำพราง "สิว", เก็บกดกำราบ "สิว", สุดท้ายก็ไปเที่ยวไล่บี้ "สิว" จนออกอาการอักเสบแดงบวมปูดกระทั่งเกิดรอยแผลเป็นปรุพรุนไปทั้งหน้า เป็นต้น

นี่เป็นผลของการยึดติดความคิดยุคก่อนมีโทรศัพท์มือถือ, ก่อนมีแล็บท็อป, ก่อนมีแอปเปิล-ไอพอด-ไอแพด, เป็นความคิดย้อนยุคสมัยสงครามเย็น เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน, แล้วใช้มันมาชี้นำการใช้อำนาจบ้านเมืองในปัจจุบัน ซึ่งก็แหงอยู่แล้วว่าย่อมแสดงอาการออกไปในเชิงขัดขืนฝืนทวนกระแส ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงของบ้านเมือง แบบอวดกร่างกร้าวร้าวแต่ช่างเชยบรม

การอ้างอิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองไม่ขาดปาก ก็ไม่ได้ทำให้ความคิดนั้นเชยน้อยลงแต่อย่างใด 

เอาคนที่มีความคิดเมื่อวานนี้มาใช้อำนาจบังคับบัญชาใหญ่โตมหาศาลในวันนี้ มันก็ย่อมบิดเบนเฉไฉไม่มีทางก้าวไปทันพรุ่งนี้อย่างถูกทิศทางได้

คนไทยไม่เลิกทะเลาะกันหรอก และไม่มีวันจะเลิกทะเลาะกันด้วย ควรหัดยอมรับปรับตัว ปรับใจให้เข้ากับโลกจริงนอกชุมชนหมู่บ้านในฝันหรือค่ายทหารเสีย เมื่อเห็นความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติวิสัย-ธรรมชาติ-และไทยๆ เหมือน "สิว" ก็จะได้ไม่ใช้กำลังบังคับหักห้ามชาวบ้านไม่ให้เขา แต่งหลากสี, เห็นต่างคัดค้านหรือขัดแย้งกัน แต่หาทางให้คนไทยทะเลาะกันต่อไปได้อย่างสันติ โดยไม่ต้องฆ่ากันกลางถนนทุกๆ บ่อยต่างหาก

(จะว่าไปการมองความขัดแย้งเป็นธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทย เพราะมันล่วงละเมิดทิฐิหยั่งลึกของความเป็นไทย แบบราชการที่ว่ารัฐกับสังคมเหมือนองคาพยพของร่างกาย : ทุกส่วนทุกคนเหมือนอวัยวะ ซึ่งมีหน้าที่เฉพาะตามธรรมชาติของมัน ใครมีหน้าที่ตามธรรมชาติอะไรก็ทำๆ ไป แล้วบ้านเมืองส่วนรวมหรือร่างกายก็จะดีเอง

 

อย่าไปทะลึ่งทำนอกหน้าที่ หัวมีไว้คิด ตีนมีไว้เดิน ปากมีไว้สั่ง จะเอาตีนมาคิดชี้นำแทนหัวได้อย่างไร มันผิดหน้าที่ตามธรรมชาติ

 

นักศึกษาจึงมีหน้าที่เรียน ชาวนามีหน้าที่ปลูกข้าว กรรมกรมีหน้าที่เข้ากะโรงงาน ไม่ใช่ประท้วงเดินขบวนปิดถนนก่อม็อบวุ่นวาย ความขัดแย้งระหว่างอวัยวะในร่างกายจึงไม่ควรมี หากต้องทำหน้าที่ประสานสอดคล้องกัน

 

ไม่อย่างนั้นเวลาก้าวเดิน ตีนข้างซ้ายดันมาเตะตัดตีนข้างขวาก็แย่ เดินไปไม่เป็นเท่านั้นเอง ฯลฯ ความคิดน่ารักเรียบร้อยแบบนี้ อยู่กับราชการไทยมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์เป็นอย่างช้าแล้ว)

2) ปฏิเสธเป้าหมายสุดขั้วสุดโต่งทางการเมือง

เป้าหมายสุดขั้วสุดโต่งทางการเมือง (เช่น สงครามครั้งสุดท้าย, กวาดล้างทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากแผ่นดินแบบม้วนเดียวจบ, ขอนายกฯพระราชทาน, ระบอบแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30, ระบอบที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฯลฯ) แม้จะแหลมคมชัดเจน และสะใจมวลชนโดยเฉพาะ เวลาขึ้นไฮด์ปาร์กบนเวที (ซึ่งก็คือ การถือไมค์ประกาศความคิดเห็นของตัวดังสนั่นลั่นถนนอยู่ข้างเดียวโดยไม่มีใครเถียงได้ นานๆ เข้าก็ชักเคลิ้มว่านั่นคือสัจธรรมนี่หว่า.....) 

แต่การเมืองสุดโต่งขัดฝืนโครงสร้างอำนาจ, โครงสร้างความรู้สึก, พื้นฐานทางประวัติศาสตร์และดุลกำลังที่เป็นจริงของสังคมการเมืองเกินไป

 

ผลที่จะค่อยปรากฏก็คือ โดดเดี่ยวตัวเอง ไล่มิตร เพิ่มศัตรู เมื่อทำไม่ได้จริงเพราะเป้าไกลเกินไป มวลชนอกหักผิดหวังในราคาคุย ชักท้อแท้เสื่อมถอย แกนนำก็กลับยิ่งดื้อรั้นก้าวร้าวรุนแรงไปไกลสุดโต่งขึ้นกว่าเก่า ด้วยเชื่ออย่างสิ้นสงสัยในความถูกต้องโดยปราศจากเงื่อนไขของตัว (และความผิดพลาดอันเลวร้ายต่ำทรามของผู้เห็นต่างจากตัว มองคนอื่นว่าเห็นต่างจากตัวเองเฉยๆ ไม่ได้ มึงต้องเลวด้วย เพราะถ้ามึงไม่เลว แล้วกูจะดีไปได้ยังไง วะ, แหะๆ)

การเมืองแบบสุดโต่งกลายเป็นเรื่องของการทำลายล้างสิ่งดีงามอื่นๆ ทั้งหมดลงไปในนามของสิ่งดีงามอย่างเดียวที่ตัวเองเชื่อ โดยที่สุดท้ายสิ่งดีงามที่ตัวเองอวดอ้างก็ไม่ได้มาจริง, ชัยชนะใดที่ได้มาแม้ฮึกเหิม แต่ก็แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา เพราะคับแคบด้านเดียวขัดฝืนความเป็นจริง และก็ไม่ยั่งยืนอยู่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว แล้วก็หดฝ่อไป เปิดทางให้ชีวิตอันหลากหลายดำเนินสืบต่อ

3) วิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย

พึงตระหนักว่าวิธีการก็คือ เป้าหมายที่กำลังอยู่ในกระบวนการคลี่คลายปรากฏเป็นจริง (The means is the end in the process of becoming.) 

หากในนามของเป้าหมายที่ถูกต้องดีงาม (เช่น ประชาธิปไตย, ปราบคอร์รัปชั่น, ปราบยา เสพติด) แต่ใช้วิธีการที่ผิดหรือเลวทรามต่ำช้าอย่างไรก็ได้ไม่เลือก (เช่น รัฐประหาร, สองมาตรฐาน, ฆ่าตัดตอน) ผลลัพธ์บั้นปลายไม่มีทางจะออกมาดีงามตามเป้าหมายที่คาดหวังได้ 

ปลูกเมล็ดพันธุ์ใดก็ย่อมได้ผลตามนั้น พระพุทธเจ้าบอกไว้แล้วตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อน ถ้าไม่เชื่อก็เบิ่งตาดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของวิธีการเฮงซวยสารพัดที่ใช้ๆ กันมาอย่างสิ้นคิดในหลายปีหลังนี้เถิดว่าได้อะไรมาบ้าง? เสียอะไรไปบ้าง? และเหลืออะไรอยู่บ้าง?

4) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

 

เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ ถึงแม้อาจไม่เห็นด้วย ว่าทำไมบุคคลจึงมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างรุนแรงแบบหนึ่งๆ แต่มันเป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะเข้าใจและไม่อาจเห็นด้วยได้ว่า ทำไมจึงต้องเกลียดชังเคียดแค้นดูหมิ่นเหยียดหยามคนที่เห็นแตกต่างจากตัว ราวกับเขาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ผู้ ใช่คน ไม่อาจมองเห็นและนับถือว่าเขาก็เป็นคนที่คิดเองเป็น และมีเหตุมีผลเช่นกัน

วัฒนธรรมการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งอยู่ในหมู่คนด้วยกันที่ถือเป็นสัตว์ประเสริฐหรืออารยชนที่เสวนา และเปลี่ยนแปลงความคิดซึ่งกันและกันได้ด้วยเหตุผลน่าเสียดายที่หลายปีหลังนี้วัฒนธรรมดังกล่าวเสื่อมถอยลงมาก และถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมสร้างเสริมพอกพูนความเกลียดชังในหมู่มวลชน ความอนารยะป่าเถื่อนค่อยแพร่ลามจากเว็บบอร์ด เว็บไซต์ วิทยุทีวีไปสู่เวทีชุมนุมและจลาจลบนท้องถนน

อหิงสาและสันติวิธีจึงมีไว้ใช้สำหรับมวลชนพวกเดียวกัน แต่ขีดเส้นแบ่งคั่นไม่เผื่อแผ่ไปถึง ฝ่ายตรงข้ามและคนนอกหากเป็นพวกนั้นถึงล้มหายตายจากไปบ้าง ก็ช่างหัวมัน ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ อะไรด้วย

เท่ากับปล่อยให้เส้นแบ่งข้างแบ่งสีแบ่งฝ่ายกลายเป็นเส้นขีดคั่นความเป็นคนและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนไป ทั้งในระดับขบวนการและมวลชนแต่ละคน

ถ้าไม่ลบเส้นแบ่งนั้นทิ้ง ทำใจให้กว้าง มองเห็นความเป็นคนและเคารพศักดิ์ศรีของฝ่ายตรงข้าม แล้วขอโทษ ก็คงยากที่การเมืองมวลชนจะเป็นแบบศิวิไลซ์

No comments:

Post a Comment