Tuesday, June 7, 2011

กระแสคนไทยใน USA ปชป.อ่วม'แดง-เหลือง' บอยคอต

การเมือง : บทวิเคราะห์

วันที่ 5 มิถุนายน 2554 21:28

กระแสคนไทยใน USA ปชป.อ่วม'แดง-เหลือง' บอยคอต

นายพิริยะ เข็มพล กงสุลใหญ่ไทย ประจำนิวยอร์ค

คนไทยในอเมริกามีแบ่งสีแน่ แต่เรื่องส่วนรวม ทำบุญ ยังร่วมมือได้ ร้านอาหารไม่ทุบหม้อข้าว ไม่ประกาศตัวสีชัด จับกระแสได้ทั้งเหลือง,แดง ถล่มปชป.


ด้วยเหตุนี้กลุ่มที่มีบทบาทสูงและมีผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ก.ค.จึงเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดแจ้งเท่านั้น ซึ่งหลักๆ ก็แบ่งเป็น 2 สีเหมือนในประเทศไทย กล่าวคือ “กลุ่มเสื้อแดง” กับ “กลุ่มเสื้อเหลือง” และมีบ้างที่ประกาศตัวเป็น “เสื้อหลากสี” คือไม่เอาทั้งเหลืองและแดง 

ขณะที่ประเทศไทยกำลังมีกระแสความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งใหม่กันอย่างคึกโครม คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดนโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาก็มีความตื่นตัวไม่น้อยเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงตัวเพื่อลงทะเบียนการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยยอดการลงทะเบียนนับถึงสิ้นเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนปิดรับลงทะเบียนมีไม่ถึง 10%

ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดงมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยครั้งกว่า โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา แกนนำเสื้อแดงได้เดินสายพบปะผู้สนับสนุนในเมืองใหญ่ตามรัฐต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งนครนิวยอรค์ รัฐนิวยอร์ค นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ และนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย 

อย่างไรก็ดี ที่นครนิวยอร์ค แกนนำชุมชนคนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อเหลือง ทำให้แกนนำเสื้อแดง นำโดย นายสุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทย เดินสายปราศรัยย่อยๆ เฉพาะตามร้านอาหารที่เป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงเท่านั้น ไม่มีการจองโรงแรมหรือห้องประชุมขนาดใหญ่เพื่อเปิดปราศรัยอย่างเป็นทางการ

ต่างกับที่นครชิคาโกและลอสแอนเจลิส ซึ่งมีแกนนำสายพิราบอย่าง นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปร่วมปราศรัยด้วย โดยที่แอลเอมีการเปิดโรงแรมระดับ 4 ดาวเพื่อจัดประชุมแกนนำเสื้อแดงทั่วสหรัฐเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการออก “ปฏิญญาแอลเอ” เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองในนาม “คนเสื้อแดงอเมริกา” หรือ “Red USA” ด้วย 

ท่าทีของคนเสื้อแดงในสหรัฐชัดเจนว่าให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยส่วนใหญ่ยังต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับเมืองไทย เพราะมองว่าถูกกลั่นแกล้ง และชื่นชอบในฝีไม้ลายมือการบริหารประเทศ ทั้งยังเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดว่าฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตามที่มีกระแสในประเทศไทยด้วย 

ส่วนกลุ่มเสื้อเหลืองนั้น คนไทยที่ให้การสนับสนุนมีกระจายอยู่ทั่วไปตามเมืองใหญ่ๆ แต่เนื่องจากความขัดแย้งภายในของแกนนำเสื้อเหลืองในประเทศไทย ทำให้ระยะหลังกลุ่มเสื้อเหลืองในอเมริกาค่อนข้างห่างเหินจากการทำกิจกรรมร่วมกัน 

แต่กระนั้น คนเสื้อเหลืองซึ่งมีจำนวนไม่น้อยก็ยังคงติดตามข่าวสารผ่านสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และนัดพูดคุยกันตามร้านอาหารที่เป็นแหล่งรวมของคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกันอยู่เป็นนิตย์ โดยส่วนใหญ่เท่าที่สอบถามจะมีความรู้สึกต่อต้านพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเรื่องชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร และข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา 

"เราผิดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์มาก และการเลือกตั้งครั้งนี้คงจะโนโหวต" ประโยคนี้เสื้อเหลืองในอเมริกาหลายคนพูดตรงกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทยกลุ่มใหญ่ทั้งที่เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนและประกอบอาชีพในสหรัฐอเมริกานั้น โดยมากมักไม่แสดงตัวลงทะเบียนการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยยอดผู้ลงทะเบียนทั่วสหรัฐมีทั้งสิ้นเพียง 14,500 ราย เฉพาะที่นครลอสแอนเจลิส 8,348 ราย แม้จะเพิ่มขึ้นกว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2550 ถึงราว 96% แต่ก็ยังนับว่าน้อยมากหากเทียบกับจำนวนคนไทยในอเมริกาที่ประเมินว่าน่าจะมีถึงราว 2-3 แสนคน

นายพิริยะ เข็มพล กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ค กล่าวว่า ประชากรคนไทยทั้ง 13 รัฐในเขตนิวอิงแลนด์ (ฝั่งตะวันออกของอเมริกา) ซึ่งมีนครนิวยอร์คเป็นศูนย์กลางมีอยู่ประมาณ 15,000 คน ที่ผ่านมาแม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภา และทางสถานกงสุลจะพยายามทุกวิถีทาง ทั้งส่งอีเมล์ เฟซบุ๊ค ออกประกาศผ่านสื่อ และรณรงค์ตามงานต่างๆ โดยเฉพาะงานวัดซึ่งเป็นแหล่งรวมคนไทยแล้ว แต่อัตราการลงทะเบียนยังน้อยมาก

"ในนิวยอร์คมีวัดไทยอยู่ 9 วัด เราก็ไปทุกวัด แต่สัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดลงทะเบียนมีคนส่งแบบฟอร์มกลับมาแค่ 1,200 คน แม้จะเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วซึ่งมีเพียง 700-800 คน แต่หากคิดจากสัดส่วนจำนวนประชากรก็ยังน้อยอยู่ ขั้นตอนหลังจากนี้คือทางสถานกงสุลจะส่งบัตรเลือกตั้งไปให้ จากนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะลงคะแนนแล้วส่งกลับมาระหว่างวันที่ 12-26 มิ.ย.ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้นคาดว่าจะหายไปอีกส่วนหนึ่ง เราคาดเอาไว้สูงสุดแค่ 1,000 รายเท่านั้น"

นายพิริยะ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่คนไทยในอเมริกาไม่ค่อยสนใจใช้สิทธิเลือกตั้งมีหลายเหตุผล เท่าที่ประมวลได้คือ 1.คนไทยในอเมริกามักทำงานกลางคืน หรือทำงานไม่เป็นเวลา หลายคนทำงานมากกว่า 1 จ๊อบ จึงไม่ค่อยมีเวลาตรวจสอบไปรษณีย์หรืออีเมล์ที่ทางสถานกงสุลส่งไป 

2.ไม่มีสื่อที่เป็นสื่อกลางของคนไทยทั่วอเมริกาแล้ว ผิดกับสมัยก่อนที่เคยมี “ไอพีทีวี” ซึ่งมีฐานอยู่ที่แอลเอ มีจานดาวเทียมรับสัญญาณโทรทัศน์จากเมืองไทยได้สดๆ สามารถกระจายข่าวสารและประชาสัมพันธ์ได้ง่าย แต่ปัจจุบันไม่มี 

3.คนไทยไม่อยากเปิดเผยตัวตน เพราะการขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต้องลงทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร คนไทยจำนวนมากทำงานไม่ค่อยถูกกฎหมาย (ไม่มีใบอนุญาตทำงาน) ซึ่งจริงๆ สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ทางสถานกงสุลไม่ได้ตรวจสอบ แต่คนไทยอาจจะกลัว เนื่องจากในแบบฟอร์มต้องกรอกที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขพาสปอร์ต 

4.คนไทยในต่างแดนอาจไม่เล็งเห็นประโยชน์ของการเลือกตั้ง เพราะ ส.ส.ไม่ได้เป็นตัวแทนของเขาจริงๆ จึงน่าจะมี ส.ส.สำหรับคนไทยโพ้นทะเล มีหน้าที่ช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ถ้าทำได้น่าจะมีคนสนใจเลือกตั้งเยอะขึ้น

นอกจากนั้นการลงคะแนนยังส่งผลน้อยต่อผลแพ้ชนะในภาพรวมของการเลือกตั้ง เพราะแต่ละคนมีสิทธิเลือกในเขตที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ เสียงของคนไทยในต่างแดนจึงไม่ได้เป็นกลุ่มก้อน เช่น จ.กาฬสินธุ์ อาจจะมีแค่คนเดียว ก็ได้แค่ 1 เสียง ไม่มีผลต่อการแพ้ชนะเลย ทำให้ความกระตือรือล้นลดลง คนที่จะลงคะแนนต้องศรัทธาระบบอย่างมาก

ส่วนปัญหาคนไทยในอเมริกาแตกแยกแบ่งสีนั้น กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ค กล่าวว่า ที่นิวยอร์คก็มีแบ่งเป็นสีเหลืองกับสีแดงเหมือนกัน แต่เรื่องส่วนรวมยังพอร่วมไม้ร่วมมือกันได้อยู่ งานวัด งานสมาคมยังพอจัดร่วมกันได้ วัดไทยในสหรัฐส่วนใหญ่ก็ไม่มีแบ่งสีแบ่งข้าง ไม่มีการจูงการเมืองเข้าวัด ก็เลยเป็นศูนย์กลางของคนไทยทุกกลุ่มได้เหมือนปกติ

"สำหรับนิวยอร์ค ดีกรีความขัดแย้งยังน้อยกว่าที่อื่น อาจเป็นเพราะที่นี่เป็นเมืองธุรกิจ ไม่มีใครอยากทุบหม้อข้าวตัวเอง ร้านอาหารก็ไม่มีร้านไหนประกาศตัวว่าเป็นแดงหรือเหลืองชัดเจน เพราะถ้าประกาศก็ไม่มีใครไปกิน ตามร้านอาหารไทยก็ไม่ค่อยมีเปิดเอเอสทีวีหรือทีวีเสื้อแดงมากนัก ก็ถือว่ายังเป็นบรรยากาศที่พออยู่ร่วมกันได้ตามสมควร" กงสุลใหญ่ พิริยะ กล่าวทิ้งท้าย


No comments:

Post a Comment