Sunday, January 15, 2012

ประมวลภาพงานล่าชื่อแก้ไข 112 - นานาทัศนะประชาชนผู้เข้าร่วม

http://www.prachatai3.info/journal/2012/01/38771

ประมวลภาพงานล่าชื่อแก้ไข 112 – นานาทัศนะประชาชนผู้เข้าร่วม

 

 

ประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้กฎหมายอาญา ม.112 บริเวณหน้าห้องประชุมศรีบูพา มธ. ท่าพระจันทร์

 
นานาทัศนะจากผู้ร่วมงาน: ทำไมต้องแก้ 112 ?
 
พระฉันทะสาโร  พระวัดไผ่ตัน กรุงเทพมหานคร บวช 15 พรรษา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะเรื่องนี้ ดูจากสมุทัยก็รู้ แต่ข้อเสนอของทางนิติราษฎร์จะปรับปรุงอย่างไรก็ว่ากันไป แต่อย่างไรก็น่าจะต้องปรับปรุง ไม่เช่นนั้นหากใครไม่พอใจใครก็จะใช้เหตุนี้ให้ผู้อื่นติดคุกได้
 
ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่ควรกล่าวหากันด้วยข้อหานี้ แต่ถึงที่สุด คิดว่าการแก้ไขน่าจะสำเร็จได้ยากมาก เพราะมีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้
 
ไม่ชอบสังคมแบบศักดินา แม้แต่ในแวดวงพระสงฆ์ก็ยังมีลักษณะแบบนั้น ที่ผ่านมาได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงด้วย โดยในวันสลายกำลังสวดมนต์อยู่ในวัดปทุม และมีระเบิดลงบริเวณใกล้ๆ ทำให้แก้วหูกระทบกระเทือน ปัจจุบันได้ยินอะไรไม่ค่อยถนัด
 
“ก็ในเมื่อท่านสอนให้ญาติโยมรู้จักถูกจักผิด แล้วจะบอกว่าท่านไม่ยุ่งเกี่ยว มันไม่ได้ เพราะท่านก็มองเห็นอยู่ว่าอะไรถูกอะไรผิด”
 
 
เที่ยง (ขอไม่เปิดเผยชื่อ นามสกุลจริง) อายุ 78 ปี อาชีพครูเคยผ่านช่วงสงครามเกาหลี และถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ในยุคจอมพล ป.
 
“เราเคยผ่านคุกตารางมาแล้ว เรื่องนี้ถูกตีความเป็นอื่นได้ง่าย และหากจะต้องติดคุกอีกครั้งคงต้องตายในคุก” ลุงเที่ยงกล่าวถึงเหตุผลของการไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ
 
เที่ยงกล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นรากหญ้าใหม่ที่ทำงานไม่ต่างกับนักศึกษาสมัย 14 ตุลา และทำได้ดีกว่าเสียอีก แม้ว่าลุงเที่ยงจะอยู่กรุงเทพฯ แต่รับรู้เรื่องราวการเคลื่อนไหวตลอดผ่านทีวีดาวเทียม และการเล่นอินเตอร์เน็ต โดยมีหลานคอยสอนให้เข้าไปอ่านข่าวตามเว็บไซต์ และดูวีดิโอในยูทูป
 
เที่ยงแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ในครั้งนี้ และมาร่วมฟังการอภิปรายตั้งแต่บ่าย โดยยืนฟังจากลำโพงด้านนอกเพราะไม่สามารถฝ่าฝูงชนเข้าไปฟังภายในหอประชุมได้
 
“อาจารย์วรเจตน์คิดได้รอบคอบ ลุ่มลึก ผมยังคิดไม่ทันอาจารย์วรเจตน์ที่ทั้งลึกและนุ่มนวล และถึงจะมีคำค้านเยอะแต่ก็สามารถโต้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุกประเด็น”
 
สำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เชื่อได้ว่าต่อไป ส.ส.ต้องรับเอาความคิดของนิติราษฎร์เข้าไปดำเนินการพิจารณากันในสภา ส่วน่วาจะถูกค้านตกไปหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อหนึ่ง ส่วนการยกเลิกนั้นคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะเกี่ยวโยงกับหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยคงจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองนับจากนี้ไปให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และในระยะเปลี่ยนผ่านเชื่อว่าจะไม่มีการนองเลือด เพราะกำลังประชาธิปไตยในทางสากล ในกระแสโลกนั้นเป็นตัวหนุนเสริม
 
 
 
 
ชญานิน เตียงพิทยากร  อายุ 24 ปี นักเขียนอิสระ – นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวว่า เริ่มให้ความสนใจประเด็นมาตรา 112 เมื่อ 3-4 ปีก่อน จากการที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองนำมาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทำให้ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องใช้การต่อสู้โดยหันหลังพิงสถาบัน อีกทั้งมีการนำมาเล่นงานไม่เฉพาะกับนักการเมือง นักวิชาการ แต่ลงมาถึงประชาชนทั่วไปด้วย และในกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้สิทธิในการประกันตัว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งไม่ชอบธรรม ในขณะที่แนวคิดของมาตรานี้ที่บอกว่าคนธรรมดามีกฎหมายปกป้อง สถาบันกษัตริย์ก็ควรมีกฎหมายปกป้องด้วยเช่นกัน แต่ตัวกฎหมายสุดท้ายไม่ได้มีการปกป้องคนโดยเท่าเทียมกัน อีกทั้งการตีความในการบังคับใช้ก็มีปัญหา
 
สำหรับการรณรงค์เพื่อแก้ไขมาตรา 112  มีอุปสรรค์ใหญ่จากการผลิตซ้ำความคิดที่ว่า มาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบัน คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายนี้คือคนที่ไม่ปกป้อง ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้เห็นด้วยก็จะไม่เข้าร่วมเพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนการผลักดันจะไปได้ถึงแค่ไหนส่วนตัวประเมินไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ ถือเป็นครั้งแรกสำหรับมาตรา 112 
 
ส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับแนวความคิดในการยกเลิกมาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายปกป้องเทียบเท่าบุคคลธรรมดา ส่วนข้อเสนอแก้ไขยังเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์มากกว่าคนธรรมดา แต่เขาก็จะร่วมลงชื่อตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร และ ครก.เพราะอย่างน้อยตรงนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลสะเทือน ทำให้เกิดความคิดต่อเรื่อง 112 ส่งไปถึงคนในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งข้อเสนอเรื่องการยกเลิก ความเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้นในทันที เรื่องนี้ต้องมีการเคลื่อนไหวกันต่ออีกยาว
 
 

สรธัญ เหมพิพัฒน์ อายุ 27 ปี เพิ่งจบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยลงกรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ผู้ชำนาญาการด้านนิเทศศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง New Generation Channel ( ngch-tv.com) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ เนื่องจากถูกนำมาใช้อย่างสะเปะสะปะ โดยเฉพาะคดีของอากง ส่วนที่บางส่วนเห็นว่าอยากให้ยกเลิก มองว่าสถาบันนี้อยู่เป็นรากเหง้าของประเทศ ถ้ายกเลิกมันค่อนข้างเป็นปัญหา คนจะพาลไปคิดว่าจะเป็นการทำร้ายสถาบัน จึงเห็นว่าเริ่มจากปรับแก้น่าจะเหมาะว่า
 
สำหรับการปรับแก้ เห็นด้วยกับแนวทางที่นำเสนอว่าต้องให้สำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความ และอยากให้เพิ่มเติมไปด้วยว่า นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ หรือสำนักพระราชวังแล้ว คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิจะมาฟ้องร้อง และควรกำหนดโทษให้กับคนที่ฟ้องร้องคนอื่นด้วยมาตรานี้โดยอ้างความจงรักภักดีด้วย
 
“ทำไมการพูดถึงเรื่องนี้ถึงถูกกล่าวหาตลอด ทั้งที่ควรเปิดให้การวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล หรือการนำเสนอทางวิชาการ”
 
 
อนุกูล (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 31 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้จริงจังกับการเมืองมาก แต่สำหรับประเด็นนี้เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะถ้าเปรียบเทียบโทษกับทางสากลแล้วรู้สึกว่าของเราแรงไป ส่วนการจะให้ยกเลิกนั้นเป็นเรื่องยาก น่าจะแก้ไขมากกว่า เอาตามสากลที่เขาก็มีประมุขและมีกฎหมายคุ้มครองประมุขเหมือนกัน
 
ถามว่าจะสำเร็จไหม ก็อยากให้มันสำเร็จ ถ้าช่วงนี้ไม่สำเร็จก็คงยากแล้ว เพราะถ้าอีกขั้วอำนาจหนึ่งเป็นรัฐบาลก็คงไม่สามารถจะแก้ไขกฎหมายนี้ได้
 
“ถ้ามาตรานี้ลดความรุนแรงลง ประชาชนจะมีทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้”
 
 
มะลิ  (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 50 ปี แม้ค้าจากจังหวัดสมุทรปราการ พื้นเพเป็นจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้เพราะรู้ว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะคดีอากง ซึ่งมีคนเถียงกันเยอะว่าส่งจริงหรือเปล่า แล้วเราก็ไม่รู้ว่าส่งว่าอะไร แล้วมันหมิ่นจริงไหม แต่เรื่องนี้เขาจะแก้อะไรกันยังไง ไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะเป็นเรื่องกฎหมาย 
 
ส่วนการประเมินการรณรงค์ครั้งนี้ มะลิเห็นว่า น่าจะสำเร็จ เพราะข่าวนี้คนรู้เยอะแยะ แต่ก็ยังมีข้อกังวลเพราะกลัวว่ากลุ่มอื่นจะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น
 
“เราเห็นแต่กฎหมายนี้ลงโทษอีกกลุ่ม แต่อีกกลุ่มไม่โดนอะไรเลยทั้งที่ผิดเหมือนกัน มันรู้สึกเหมือนไม่ยุติธรรม” มะลิกล่าว
 
 
xx(ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อายุ 28 ปี ระบุว่า มาร่วมเข้าชื่อครั้งนี้ แม้จะเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 เพราะเห็นว่าเป็นการทำเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิติราษฎร์ถือเป็นกลุ่มที่มีคนให้ความสนใจและคิดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อมาตรา 112 ไปได้ไกลที่สุด แต่กลับเรียกร้องเพียงแค่แก้ไข ซึ่งตามหลักการต่อรองสุดท้ายสิ่งที่ได้ก็จะต่ำกว่าข้อเสนอที่ยื่นไปดังนั้นส่วนตัวจึงอยากให้เรียกร้องไปให้ไกลกว่านี้
 
เจ้าของธุรกิจวัน 28 ปี กล่าวด้วยว่า การร่วมลงชื่อครั้งนี้ส่วนตัวก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะส่งผลกับกิจการทำอยู่ ทั้งที่เป็นการร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเคยเป็น 1 ในพันกว่ารายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 แล้วถูกนำชื่อไปเผยแพร่โจมตีในอินเตอร์เน็ต และมีคนโทรศัพท์มาคุกคาม ทำให้เห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นเรื่องอันตราย เรียกได้ว่าเป็น “ภารกิจเสี่ยงตาย” ซึ่งส่วนตัวเธอคิดว่าไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ และไม่อยากให้ใครเป็นฮีโร่ อย่างผลที่มันเกิดขึ้นแล้วกับ ดา ตอปิโด แต่เธอก็ยังคงยืนยันที่จะร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
 
 
 
บรรยากาศในห้องประชุม
 


 
อรรถาธิบายจากวรเจตน์ ภาคีรัตน์
 





คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 ร่วมตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112
 
 
ถ่ายรูปร่วมกับ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมทนายความคนดัง 
 


ส่งรายชื่อแก้ไขกฎหมาย ครก.112 ตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ


 
ร่วมเขียนป้ายผ้ายาว 3 เมตร ร้องเสรีภาพ ปลดโซ่ตรวน ม.112
 


เคลื่อนขบวนสู่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมกิจกรรม "กลับสู่แสงสว่าง"
 
 
ประชาชนหลายร้อยเดินขบวนร่วม 'กวีราษฎร' หนุนข้อเสนอนิติราษฎร์
 
15 ม.ค.55 น.กลุ่ม "กวีราษฎร์" และประชาชนราว 400 คน ร่วมเดินขบวนรณรงค์จากหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เพื่อแสดงความสนับสนุนต่อข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ พร้อมเปิดวันแรกของกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม "กลับสู่แสงสว่าง"
 
หลังจากที่ขบวนรณรงค์ดังกล่าวเดินทางมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มีการจัดเวทีทางวัฒนธรรม เช่น การอ่านกวี เล่นดนตรี และการจัดนิทรรศการศิลปะจัดวางและภาพถ่าย โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน กลุ่ม "กวีราษฎร" ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกวี นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ และบุคคลในแวดวงศิลปะ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ทำงานในสายศิลปะ
 
"เราจัดงานนี้เพื่อให้คณะนิติราษฎร์รู้ว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะเรื่องพวกนี้มวลชนก็คิดกันอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน มวลชนเองก็จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเขาก็สามารถมาร่วมกับคณะนิติราษฎร์ได้ จึงอยากให้มาร่วมสนับสนุนข้อเสนอให้เป็นแนวทางเดียวกัน" รางชาง มโนมัย หนึ่งในกวีผู้ร่วมจัดงานกล่าว และเสริมว่าในตอนนี้เขาก็เห็นด้วยกับการให้แก้ไข ม.112 แต่หากในอนาคตสถานการณ์และเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไป เขาก็อาจจะรณรงค์ให้มีการยกเลิก ม.112 ก็เป็นได้
 
ทั้งนี้ กิจกรรม "กลับสู่แสงสว่าง" จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-22 ม.ค. 55 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ผู้สนใจสามารถชมกำหนดการกิจกรรมได้ที่ http://prachatai.com/activity/2012/01/38769
 

No comments:

Post a Comment