Thursday, September 27, 2012

วิชาการดังวิพากษ์ปม "แม้ว" เสียสละตามรอย"ปรีดี พนมยงค์"?

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348555094&grpid=&catid=02&subcatid=0200

นักวิชาการดังวิพากษ์ปม "แม้ว" เสียสละตามรอย"ปรีดี พนมยงค์"?

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 14:15:16 น.




การเมือง ข่าวสด 25 ก.ย. 2555


ข้อเสนอของ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ เสียสละเป็นรัฐบุรุษอยู่นอกประเทศ 

โดยยกกรณี นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ผู้ก่อการ 2475 และอดีตนายกฯ ที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังเดินทางกลับประเทศ มาเปรียบเทียบนั้น 

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำแนะนำที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคมไทยที่หยั่งรากลึก ดังต่อไปนี้




ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์


น่าตกใจมากสำหรับนายคณิตที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นอดีตอัยการสูงสุด เป็นอดีตส.ส.ร. ปี 2539 รวมถึงเป็นหนึ่งในกรรมการสภามหา วิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของธรรมศาสตร์ 

แต่กลับให้ข้อมูลอย่างคนที่ไม่มีความรู้เรื่องของนายปรีดี ผู้สถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งที่นายปรีดีพยายามกลับเข้าเมืองไทยหลายครั้ง หลังจากที่ออกไปเพราะรัฐประหารปี 2490 

โดยครั้งหนึ่งได้กลับเข้ามาทำ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 ก.พ.2492" ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ล้มเหลว ถูกปราบปรามหนักด้วยอาวุธสงคราม ขบวนการดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า "กบฏวังหลวง" 

นายปรีดีต้องหลบซ่อนอยู่ในบ้านแถวฝั่งธนฯ 6 เดือน กระทั่งหลบหนีออกไปได้ และไม่สามารถกลับมาเมืองไทยได้อีกเลย

จึงทำให้เกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อไปว่า ผลสรุปการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองจำนวน 300 หน้าของคอป. ที่มีนายคณิตเป็นประธานนั้น 

มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด 



สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การพูดของนายคณิตถือเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมการสร้างวีรบุรุษทางการเมือง ซึ่งหลายประเทศทำกัน ประเทศไทยก็ใช้บ่อย ทำให้ผู้เล่นแบ่งออกเป็นขาวกับดำอย่างชัดเจน 

ผู้นำทางการเมืองระดับสูงแต่ละคนต่างก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี หลายคนถูกทำให้เป็นฮีโร่ อย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ถูกทำให้ดูเป็นผู้ร้าย 

สะท้อนว่าเราขาดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ลืมไปว่าแต่ละคนก็มีทั้งด้านมืด ด้านสว่าง 

ความเสียสละที่นายคณิตระบุว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ดูดี แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอหรือรากเหง้า ภาพของการเสียสละของแต่ละคนก็เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้น 

กลุ่มหนึ่งอาจมองว่านี่คือการเสียสละ ขณะที่อีกกลุ่มอาจมองว่าเป็นการทรยศ จึงจำเป็นต้องชำระสะสางข้อเท็จจริง นำทุกคดีหรือข้อกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส 

กรณีนายปรีดี หลายคนก็ไม่ได้มองว่าเป็นการเสียสละ เพราะนายปรีดีก็พยายามจะกลับประเทศ มีการยึดอำนาจโดยใช้กำลังจนกลายเป็นกบฏวังหลวง 

การพูดของนายคณิตครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด 

และต่อให้พ.ต.ท.ทักษิณไม่เดินทางกลับไทย ความขัดแย้งก็จะยังไม่หมดไปอย่างสิ้นเชิง อาจแค่บรรเทาสถานการณ์ที่ร้อนแรงและถ่วงเวลา เพราะปัญหาต่างๆ ในระบบโครงสร้างยังไม่ได้คลี่คลาย 

ทักษิณเผชิญเป็นคนละสถานการณ์กับนายปรีดี เนื่องจากนายปรีดีไม่ได้ถูกกล่าวหาในคดีทางกฎหมายเหมือนพ.ต.ท.ทักษิณ 

ข้อเสนอของนายคณิตจึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา 



สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

นายคณิตคงหวังดีอยากให้ประเทศสงบสุขและเดินหน้าต่อไปได้ โดยอาจมองแค่ว่าต้นตอปัญหาของประเทศคือพ.ต.ท.ทักษิณ 

แต่หากมองในแง่ของสังคมการเมือง การเสนอให้ใครคนใดคนหนึ่งเสียสละเพื่อส่วนรวมคงจะไม่ได้ เพราะมันไม่ค่อยตอบโจทย์ปัญหา

ยิ่งข้อเสนอ "เสียสละ" ทำให้ดูราวกับว่า พ.ต.ท.ทักษิณคือตัวปัญหาของเหตุการณ์ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากพ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียว

ซึ่งผมมองว่าพ.ต.ท.ทักษิณเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่มีอยู่เท่านั้น หมายความว่าต่อให้พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละไม่กลับประเทศไทยจริงๆ ปัญหาก็ใช่ว่าจะหมดไปได้ 

การเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละ จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาเพียงบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปัญหาที่แท้จริงยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไข 

แต่หากมองว่าการให้พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละถือเป็นจุดเริ่มของการแก้ปัญหาทั้งหมด ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ 

ความเห็นของนายคณิตครั้งนี้ อาจมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้างจนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะการนำพ.ต.ท.ทักษิณไปเปรียบเทียบกับนายปรีดี 

เพราะสองคนนั้นมีความต่างกันอย่างมาก ทั้งในแง่ของเหตุการณ์ ตัวบุคคล และฐานสนับสนุน ไม่น่าจะนำมาเปรียบเทียบกันได้ 

เมื่อความเห็นของนายคณิตออกสู่สาธารณะแล้ว ในฐานะบุคคลที่สังคมไทยเชื่อถือ และประธานคอป. ก็ต้องรับทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะออกมาอย่างไรก็ตาม


ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ 
ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

การลี้ภัยไปต่างประเทศของนายปรีดีไม่ใช่การเสียสละ แต่เป็นความพ่ายแพ้การต่อสู้ทางการเมือง 

แนวทางของนายปรีดี คือต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน กระทั่งเกิดการรัฐประหาร มีการต่อสู้ทางการเมือง นายปรีดีพ่ายแพ้ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

ปี 2490 คณะรัฐประหารนำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจรัฐ ใช้รถถังบุกทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่พำนักของนายปรีดี ทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยออกจากประเทศ 

ปี 2492 นายปรีดีหวนกลับมาต่อสู้เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย โดยเข้ายึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. แต่ล้มเหลว ถูกเรียกว่ากบฏวังหลวง ต้องหลบหนีออกไป ไม่สามารถกลับเมืองไทยได้อีก 

ครั้งนั้นแม้แต่ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสาน ผู้นำเสรีไทย ยังถูกฆาตกรรมโดยรัฐ 

อย่างไรก็ตามแม้นายปรีดีจะพ่ายแพ้ ก็ยังถูกระบอบเก่าและฝ่ายเผด็จการทหารโจมตีทุกๆ ด้าน ไม่เว้นกระทั่งชื่อเสียง และยังถูกบิดเบือนจากหน้าประวัติศาสตร์ ให้เปรียบเสมือนเป็นปีศาจคอมมิวนิสต์

เหตุการณ์ทั้งหมดจึงแสดงให้เห็นว่า นายปรีดีมีความพยายามที่จะกลับประเทศหลายครั้ง แต่เหตุที่กลับไม่ได้เพราะความพ่ายแพ้ทางการเมือง ไม่ใช่การเสียสละ 

สำหรับพ.ต.ท.ทักษิณนั้น 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็น ผู้มีบทบาทต่อการเมืองไทยมาก แม้จะถูกรัฐประหาร 19 ก.ย.49 แต่ก็มีการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด 

เป็นการต่อสู้ที่ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่าให้หวาดกลัว เพราะมีพลังสนับสนุนมหาศาล ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณก็ตระหนักดีว่า ตนเองจะเอาชนะทางการเมืองไม่ได้หากไม่มีมวลชน และกลุ่มสนับสนุนทางการเมืองในประเทศไทย 

หากไม่มีพ.ต.ท.ทักษิณ อาจทำให้ดูเหมือนว่าบ้านเมืองจะสงบ แต่คนที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือ กลุ่มอำนาจเก่า ขณะที่กลุ่มต่างๆ ที่อยู่โดยรอบพ.ต.ท.ทักษิณก็ยังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ดี 

ไม่ใช่ว่าไม่มีพ.ต.ท.ทักษิณแล้วจะไม่มีการต่อสู้ทางการเมืองอีก 

น่าแปลกใจที่นายคณิตเสนอให้พ.ต.ท. ทักษิณเสียสละแต่เพียงผู้เดียว หากคิดในทางกลับกันก็ควรให้ผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามพ.ต.ท. ทักษิณเสียสละด้วย 

ปัจจุบันอำนาจอยู่ในพลังของมวลชนและการเลือกตั้ง ดังนั้นข้อเสนอที่ให้พ.ต.ท.ทักษิณเสียสละไม่กลับประเทศไทย จึงเป็นข้อเสนอที่กลุ่มอำนาจเก่าจะได้ประโยชน์อย่างสุดโต่ง

No comments:

Post a Comment