Saturday, October 6, 2012

"จรัล ดิษฐาอภิชัย" : ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สังคมไทยจะไม่มีเหตุการณ์ 6ตุลาฯ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1349431893&grpid=01&catid=&subcatid=

"จรัล ดิษฐาอภิชัย" : ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล สังคมไทยจะไม่มีเหตุการณ์ 6ตุลาฯ

วันที่ 05 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 23:57:03 น.







รับชมข่าว VDO

สัมภาษณ์ :  พันธวิศย์ เทพจันทร์




เนื่องในโอกาสครบ 36 ปี  6 ตุลาคม 2519

 

 

เหตุการณ์ความรุนแรงที่มีการทารุณกรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งในสังคมไทย

 

 

ไม่ว่าจะเป็นการเผาศพทั้งเป็น ตอกลิ่มศพ นำศพไปผูกใต้ต้นมะขามแล้วใช้เก้าอี้ฟาด

 

ใช้อำนาจรัฐและกองกำลังฝ่ายขวาล้อมปราบกลุ่มประชาชน นิสิต นักศึกษาที่มาชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจรและพวก บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

"มติชนออนไลน์"ถือโอกาสสัมภาษณ์ "จรัล ดิษฐาอภิชัย" อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

ผู้อยู่ในเหตุการณ์เช้าวันล้อมปราบนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่โหดร้ายที่สุดในสังคมไทย

 

 

บทเรียนที่สังคมไทยควรเรียนรู้คืออะไร ?

 

 

แล้วอนาคตอันใกล้ สังคมไทยยังสามารถเกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคม 2519 ได้อีกหรือไม่

 

 

โดยเฉพาะความขัดแย้งแบ่งเหลืองแดงที่ฝังรากลึก เกินกว่าจะถอนออกไปได้

 

 


 

 

-อยู่ตรงไหนของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม  2519  และเหตุการณ์เป็นอย่างไร

 


ตอนนั้นอายุ 29 แล้ว ไม่ได้เป็นนักศึกษาแล้วแต่ก็มาร่วมชุมนุม ช่วงดึกของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก็เดินออกมาจากสนามฟุตบอลไปยังประตูทางเข้าธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวง อยากไปดูเหตุการณ์โดยรอบเพราะได้ยินเสียง เสียงปืน เสียงระเบิดซึ่งมาจากกลุ่มกึ่งทหารที่อยู่สนามหลวง

 

 

ขณะที่กำลังเดินก็เห็นคุณภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยอยู่แถว ๆ นั้นด้วย ส่วนกลุ่มพลังฝ่ายขวาก่อกวนเป็นระยะ ๆ แต่ยังไม่ถล่มในคืนวันนั้น สักพักก็ได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิดดังที่สนามฟุตบอล สันนิษฐานว่าเป็นพวกปืนกลเบาหรือเอ็ม79 ยิงลงมา แล้วก็หันไปดูพบว่ามีการหามคนเจ็บ คนตายอยู่ แต่ว่านักศึกษาประชาชนก็ยังไม่หวาดกลัวยังมีการชุมนุมกันต่อไป 

 


พอราวๆ ตี 5 ขณะที่ยืนคุยกับพรรคพวกอยู่แถวหน้าคณะนิติศาสตร์เพื่อจะวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ ก็เกิดเสียงปืนยิงมาจากด้านพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ยิงมาแบบห่าฝนเลย โดยสัญชาตญาณก็เลยหมอบลง โชคดีที่หมอบลงบนถนนเพราะพ้นระยะวิถีกระสุน แต่ว่านักศึกษาส่วนใหญ่หมอบบนสนามฟุตบอล เลยมีหลายคนที่ถูกยิงตาย สักพักก็ได้กลิ่นเลือด จึงเห็นว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่หัวตายอยู่ข้าง ๆ  ก็เลยพยายามนอนหลบแต่คิดว่าคงจะไม่รอด โชคดีที่กระสุนไม่ถูกผมเลยซักลูก

 


จนกระทั่งราวๆ ประมาณ 6 โมงเช้าเสียงปืนก็เบาลง แต่ก็ได้ยินมีเสียงคนบุกเข้ามาโดยยึดรถเมล์ขาววิ่งชนประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  แล้วพวกลูกเสือชาวบ้าน พวกกระทิงแดงก็บุกเข้ามา  ก็เลยอาศัยจังหวะนี้ทำให้หนีออกมาจากจุดนั้นได้ แล้ววิ่งตรงเข้าไปที่ตึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ผมก็ไปหลบซ่อนอยู่ในนั้น ผมไปหลบอยู่ใต้บันได พอรุ่งเช้าราวๆ 11 โมงของวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ก็ถูกจับ

 

 

 

 

-ช่วงดึกของวันที่ 5 ตุลาคม 2519 มีมติฝ่ายแกนนำก็คุยกันว่าจะยุติการชุมนุม อีกทั้งกระแสข่าว ความรุนแรงก็มีท่าทีว่าจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ทำไมไม่หนีเอาตัวรอด

 

ไม่อยากทิ้งกัน มีน้องๆนักศึกษาบอกว่า “พี่จรัลไม่ควรจะอยู่นะเพราะมันเอาแน่คืนนี้ ปราบแน่คืนนี้” ผมก็ด้วยใจมันออกไปไม่ได้ มันมีความผูกพัน

 

 

 

-บทเรียนของเหตุการณ์  6  ตุลาคม 2519 คืออะไร

 


สังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่ายและต่อสู้ความคิดการเมือง ทางอุดมการณ์ซ้ายขวาเป็นเวลา 2 ปีกว่าๆ หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516  แล้วสุดท้ายพลังฝ่ายซ้ายก็ถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดนั้น น่าจะทำให้สังคมมีบทเรียนว่าต่อไปนี้จะต้องไม่แบ่งกัน รัฐต้องไม่ล้อมปราบประชาชนกัน

 

 

แต่ปรากฏว่าบทเรียนนี้ทั้งรัฐและสังคมไทยไม่ได้ยึดถือ เพราะว่าเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 และเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่รัฐเข้าปราบปรามประชาชน แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยไม่เคยเรียนรู้บทเรียน 

 

 

 

 

-ความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 คืออะไร

 


อิทธิพลของวงการสื่อสารมวลชนกระแสหลักสามารถกำหนดความคิดของประชาชนได้ อย่างเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519 สื่อมวลชนกระแสหลัก วิทยุต่าง ๆ โหมกระหน่ำว่าในหมู่นักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพวกคนญวน คนจีน ดังนั้นนักศึกษาประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่คนไทย พอแบ่งแยกนักศึกษาประชาชนออกไป รัฐและกลุ่มพลังฝ่ายขวาจึงไม่ลังเลใจและใช้ข้ออ้างนี้ในการทำอำมหิตต่อคนในประเทศด้วยการเผาทั้งเป็น ตอกลิ่มศพ จับศพไปแขวนคอแล้วใช้เก้าอี้ฟาด

 


เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่สื่อมวลชนกระแสหลักต่างโหมกระหน่ำว่า ผู้ชุมนุมเสื้อแดงไม่มีความจงรักภักดี เป็นพวกล้มเจ้า ศอฉ.ก็ทำผังล้มเจ้าขึ้นมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สื่อก็ไม่ยอมตรวจสอบแต่กลับนำไปเผยแพร่ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเผยแพร่ใบปลิวของกลุ่มพลังฝายขวาที่กล่าวหาผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์ว่า เล่นละครหมิ่นฟ้าชาย

 

 

ดังนั้นในเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 สื่อมวลชนก็ผลักผู้ชุมนุมเสื้อแดงไปอยู่อีกข้างทำให้รัฐบาลขณะนั้นมีความชอบธรรมและได้รับแรงสนับสนุนให้สังหารประชาชนที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ แล้วก็ไปอ้างว่ากลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมมีชายชุดดำปะปนอยู่ด้วย ไม่ต่างจากดาวสยาม วิทยุยานเกราะที่บอกว่ามีพวกญวน คอมมิวนิสต์อยู่ปะปนกับนิสิตนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

แล้วความเป็นจริงก็เห็นชัดเจนว่า คนที่ตายในเช้าวันที่  6 ตุลาคม 2519 มีแต่คนไทยมีรายชื่อ แล้วหลายคนที่เสียชีวิตก็คือ นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันทั้งสิ้น

 


อันที่จริงความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาในสมัยการต่อสู้คอมมิวนิสต์ กับอุดมการณ์ของเหลือแดงมีความแตกต่างกันเพราะอุดมการณ์ความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดงมันกว้าง ประเด็นแหลมคมและฝังรากลึกเกินกว่าจะถอนออกได้

 

 

แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ สื่อมวลชนทั้งสองยุคต่างก็สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม แบ่งคนในสังคมให้แยกออกจากกัน คิดต่างกันไม่ใช่พวกเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างใส่ร้ายป้ายสีว่า อีกกลุ่มเป็นยักษ์ เป็นมาร เหมือนที่กล่าวหาว่า พวกนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนนี้มาบอกกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า  สุดท้ายเมื่อไม่มองกันและกันว่าเป็นมนุษย์ ความรุนแรงก็ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

 

-เหตุการณ์ล่าสุดที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงกับกลุ่มคนเสื้อแดงฟาดฟันกัน หน้ากองปราบปราม ในฐานะเคยผ่านเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อย่างไร

 


ความขัดแย้งทางการต่อสู้ที่วันนี้มันยกระดับเป็นเรื่องความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ แล้วในช่วง 5-6 ปีที่แล้วมาก็ฟาดฟันกันทางความคิดและวาจา โต้ตอบกันมาโดยตลอด ฟาดฟันกันจนทั้งสองฝ่ายรู้สึกเจ็บปวด เคียดแค้นชิงชัง แล้วไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายเพราะทั้งสองฝ่ายก็ไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง ดังนั้นถ้าคนทั้งสองฝ่ายมาอยู่ใกล้กันแนวโน้มที่กระปะทะกันก็มีสูง จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจต้องคอยดูแลรักษาความปลอดภัย 

 


นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะแกนนำต้องคิดด้วยว่า ควรจะจัดชุมนุมให้เกิดการปะทะกันหรือไม่  ยิ่งฝ่ายคนเสื้อแดงซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล ถ้าสมมติเกิดการปะทะกันของมวลชน ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ  ฝ่ายเสื้อแดงชนะก็เหมือนแพ้ ถ้าแพ้แล้วก็ยิ่งแพ้เข้าไปใหญ่ เพราะคนที่แพ้ไม่ใช่แค่คนเสื้อแดง แต่รัฐบาลก็แพ้ตามไปด้วย เพราะสังคมก็จะวิจารณ์รัฐบาลหนักขึ้น แม้การปะทะกันจะผิดทั้งคู่ แต่รัฐบาลจะผิดมากที่สุด

 

 


แต่เข้าใจได้ว่า เมื่อฝ่ายเสื้อแดงเป็นรัฐบาล พวกเขาก็จะปกป้องรัฐบาลไม่ยอมให้อำนาจอื่น ๆ มาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เนื่องจากรัฐบาลของพวกเขาถูกล้มไปแล้ว 3 รัฐบาลในช่วง 6 ปี ดังนั้นพวกเขาก็ไม่ยอมให้รัฐบาลที่ 4 ล้มไปง่ายๆ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องปกป้องทุกวิถีทาง

 

 

ถ้าฝ่ายเสื้อเหลืองยังมีเจตจำนงค์ที่จะไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ จ้องหาทางล้มรัฐบาลทุกวิถีทาง อย่างล่าสุดก็คือกลุ่มคณาจารย์นิด้า  ไปยื่นเรื่องการจำนำข้าวต่อศาลรัฐธรรมนูญ แบบนี้อย่างไรเสียก็ต้องมีการปะทะกันไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เล่นตามหลักประชาธิปไตย คือรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง


 

 

-อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์แบบ 6  ตุลาคม 2519 ในอนาคตได้อีกหรือไม่

 


ต้องดูเงื่อนไขที่สำคัญคือรัฐบาล ถ้าหากรัฐบาลเพื่อไทยที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี  คงจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาคม 2519  เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงจะไม่ปราบเสื้อเหลืองอย่างแน่นอนเพราะอาจไปสู่เงื่อนไขถูกล้มรัฐบาล ส่วนเสื้อแดงอย่างไรรัฐบาลก็ไม่ปราบอยู่แล้ว

 

 

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นอีกฝ่ายแล้วใช้กระบวนการกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสีว่า คนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เหมือน 6 ตุลาคม 2519 จะมีสูงมาก

 


อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  รัฐบาลเสนีย์ ปราโมชมีส่วนผิดอย่างมาก เพราะไม่สามารถควบคุมความรุนแรงได้ ไม่ยอมประกาศภาวะฉุกเฉินก่อนวันที่  6 ตุลาคม 2519  ไม่ยอมหาหนทางที่จะไม่ให้มวลชนทั้งสองฝ่ายมาปะทะกัน

 

 

 

 

-จะแก้ปัญหาความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ในสังคมไทยอย่างไร โดยเฉพาะการลดความรุนแรงอันมาจากความเชื่อทางการเมือง

 


รัฐบาลหรือระบบการเมืองต้องมีมาตรการป้องกันที่ดีซึ่งก็ยากเพราะอำนาจนอกระบบก็มีอยู่มาก เพราะฉะนั้นทางแรกคือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาดซึ่งเป็นไปไม่ได้อีก  ดังนั้นก็ต้องปรองดองแต่ก็ชัดเจนแล้วว่าถ้าเกิด พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาเมื่อไร ทั้งสองฝ่ายจะปะทะกันหรือสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน

 

 

 

-ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ จะสามารถลดความรุนแรงอันเกิดจากความเชื่อเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองได้หรือไม่

 


สถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีความเกี่ยวข้องกับระบอบการเมืองการปกครองของไทย ฉะนั้นทุกสถาบันในระบอบการเมืองการปกครองต้องมาหารือกันว่า จะให้สังคมไทยเดินหน้าด้วยความปรองดองอย่างไร 

 


แต่ก็ไม่เชื่อทฤษฎีว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำหนดทุกอย่าง เช่นมีพระเจ้าคอยกำหนดโชคชะตาหรือถ้ากำจัดสิ่งนั้นได้ทุกอย่างจะเรียบร้อยเพราะความขัดแย้งในสังคมไทยมันพันกันไปหมด มีหลากหลายปมปัญหามาในเชือกเส้นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ว่าคลี่ปมนั้นจะสามารถร้อยเชือกรองเท้าได้

 

 


-หมายความว่าไม่มีปัจจัยชี้ขาดใด ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในสังคมไทย

 

 

ไม่มี

 

 

 

-ด้วยความขัดแย้งแบบนี้ สังคมไทยจะเห็นอะไรในอนาคตอันใกล้

 


มี 2 แนวโน้ม คืออาจเกิดการปฏิวัติโดยประชาชนครั้งใหญ่ หรือไม่อย่างนั้นก็ต้องปรองดอง หรือถ้าไม่ได้ทั้ง 2 ปัจจัยก็ต้องอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เหมือนอย่างกรณีไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษ ขัดแย้งกันกว่าสองร้อยปี ของประเทศไทยอีกสี่ปีถึงจะครบรอบสิบปีเท่านั้น

 

 

 

 

-หยุดไม่ได้หรือความขัดแย้ง ปะทะกันแค่นี้พอแล้ว เปิดสันติเสวนาคุยกันทุกประเด็น ทุกปมปัญหาภายในใจของแต่ละคน

 


หยุดไม่ได้  เว้นแต่ว่าถ้าผู้ปกครองทั้งที่เป็นรัฐบาลและไม่เป็นรัฐบาลต่างขบคิดให้มาก ใช้ปัญญาและยอมรับการเปลี่ยนแปลก็จะสามารถลดความรุนแรงและความขัดแย้งได้ แต่เท่าที่สังเกตจะพบว่า ผู้ปกครองไม่ได้ใช้ปัญญาสักเท่าไหร่  ซ้ำร้ายกลับใช้อารมณ์โกรธแค้น ใช้ความเกลียดชัง สุดท้ายประเทศไทยก็อาจจะมีสงครามกลางเมือง แล้วพม่ากับเวียดนามก็จะพัฒนาความเจริญทางด้านเศรษฐกิจแซงประเทศไทยไปเรื่อย ๆ 

No comments:

Post a Comment