Wed, 2010-03-24 04:59
ในวัน ที่ 23 มีนาคมซึ่งเต็มไปด้วยกระแสข่าวลอบยิงเอ็ม79 ใส่กระทรวงสาธารณสุข บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีคนกลุ่มหนึ่งขะมักเขม้นแปะภาพถ่ายคนเสื้อแดงกันตั้งแต่หัววัน เพื่อให้ทันการเปิดงานนิทรรศการภาพถ่าย “Red Shirts Unseen” ในช่วงเย็น
งานนี้ไม่ใช่งานใหญ่ และไม่ได้จัดโดยแกนนำใดๆ หากแต่เป็นกลุ่มนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และช่างภาพอิสระที่รวมตัวกันในนาม “กลุ่มไม่ ต้องจ้าง เราอยากทำ” พวกเขามีที่มาที่แตกต่างหลากหลาย แต่มีจุดร่วมกันในประสบการณ์การคลุกคลีกับการชุมนุมครั้งนี้ตั้งแต่ต้น การชุมนุมซึ่งถูกตราหน้าแต่แรกเรื่องอามิสสินจ้าง และความรุนแรง เขาแทรกตัวอยู่ที่นั่น ถ่ายภาพคนที่นั่น แต่กลับมองเห็นสิ่งที่ต่างออกไป
“ผมไปราชดำเนินไม่ได้ไปเยี่ยมเยียนพวกเขา พวกเขามีสิทธิ์เป็นเจ้าของกรุงเทพพอๆ กับที่ผมมีสิทธิ์ แต่ที่ไปก็เพราะเผื่อจะพอช่วยสื่อสารเล่าเรื่องของคนที่มาชุมนุมได้บ้าง ก็ไม่ใช่ให้คนกรุงรับรู้เป็นหลัก แต่หวังว่ามันอาจพอจะไปกระตุกเตือนสื่อหลักที่มีศักยภาพในการสื่อสารได้ มากกว่า ให้หันมาสนใจเรื่องราวคนเล็กคนน้อยที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของ ประเทศนี้ บนโลกใบนี้ได้บ้าง”
ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ ช่างภาพและนักข่าวอิสระที่ตระเวนลงไปทำงานในสามจังหวัดภาคใต้มาโดยตลอดให้ ความเห็นอย่างอ่อนน้อม และเป็นมุมมองที่สะท้อนวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ด้วย นั่นคือ 1.เพื่อ แสดงให้เห็นว่าผู้คนจากจังหวัดอื่นๆ ต่างมีความชอบธรรมในการเรียกร้องประชาธิปไตย 2.เพื่อ เป็นกระจกสะท้อนภาพที่มักถูกละเลย 3. เพื่อลดอคติ และการเหมารวม ต่อคำว่า เป็น "คนกรุงฯ" เป็น "ชนชั้นกลาง" เป็น "คนต่างจังหวัด" เป็น "คนไม่มีการศึกษา และใช้ความรุนแรง" ฯลฯ
ประเด็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมถูก ตั้งคำถามตัวใหญ่และท้าทายด้วยเสียงดังมากขึ้นในเวทีเสวนาเล็กๆ ประกอบนิทรรศการนี้ สุเจน กรรพฤทธิ์ นักเขียนสารคดีที่เคยทำงานในองค์กรสื่อยักษ์ใหญ่ให้ความเห็นว่า สังเกตเห็นความผิดปกติของสื่อโดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร แล้ว มีความพยายามยัดเยียดคำว่า “รัก” และ “สามัคคี” ให้ผู้คนตลอดเวลา โดยละเลยที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคมด้วยกันอย่างแท้จริง
“ผมว่าสื่อหลักๆ ค่อนข้างละเลยการคุยกับคนเสื้อแดงอย่างจริงจัง เราจะรักกันโดยไม่คุยกันก่อนได้ยังไง มันจะเข้าใจกันได้ยังไง ที่พักผมอยู่ใกล้ที่ชุมนุม ได้ฟังตลอด 24 ชั่วโมง เสียงปราศรัยดังไปถึงห้องนอน ประเด็นที่พูดหนักแน่นมาก เป็นหลักการประชาธิปไตยง่ายๆ ซึ่งถ้าไม่ปิดหูปิดตาจนเกินไปก็จะเข้าใจได้ ปัญหาหลักคือ ทุกวันนี้ดูเหมือนสื่อจะกลัวทักษิณจนขึ้นสมอง” สุเจน วิเคราะห์อาการเอียงข้างแบบแปลกๆ ของสื่อที่เขาสังเกตเห็น โดยเขาเองก็ออกตัวว่าได้ตั้งคำถามกับนายกฯ ที่ชื่อ “ทักษิณ”มากมาย แต่สุดท้ายไม่อาจยอมรับการรัฐประหารในการแก้ไขปัญหาได้
ปาลิดา ประการโพธิ์ ว่าที่เฟรชี่ในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมวงเสวนา และให้ความเห็นว่า เยาวชนก็ดูเหมือนจะมีปัญหาการรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างบิดเบี้ยว เพราะวัฒนธรรมไทยเน้นแต่การเชื่อฟังผู้ใหญ่ ไม่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิด ได้ตั้งคำถาม จนต่อมความคิดฝ่อ ทำให้ได้ยิน ได้เห็นอะไรที่รายงานมาจากคนที่น่าเชื่อถือก็พลอยเชื่อไปหมด
ฐิตินบ
ฐิตินบ โกมลนิมิ อดีตผู้สื่อข่าวที่เคยทำงานในสื่อหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนานและเป็นผู้หนึ่ง ที่ร่วมชมนิทรรศการ ถูกถามถึงเสียงสะท้อนเช่นนี้ เธอเองก็ดูเหมือนจะเห็นด้วย ทั้งยังเล่าถึงการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมตั้งแต่คืนแรกจนถึงตีสี่ ซึ่งเต็มไปด้วยภาพความยากลำบากของ “ผู้อพยพต่างถิ่น” ที่เข้ามาปักหลักชุมนุม มันอาจเป็นการทำหน้าที่ค้นหา “มิติ” ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณเก่าแก่ของอดีตผู้สื่อข่าว
“เขามาเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา คุณก็ยังบอกอีกว่าเขาทำให้ท่อระบายน้ำตันบ้าง อะไรบ้าง อคติมันเต็มไปหมดในชีวิตประจำวันของคนเล็กคนน้อย ดังนั้น ถ้าบอกว่ามีการจ่ายเงินค่าน้ำมันบางส่วนให้ชาวบ้าน พี่บอกว่ารับไปเถอะ คราวนี้มันใช้ทรัพยากรสูงมาก คุณต้องมาช่วงวันที่ 11-12 นั่งรถปิกอัพมากันยัดทะนาน ช่วงตีสองบางที่เขาเอาผักมาลง ม็อบครั้งนี้ไม่มีกองทัพธรรมมาทำครัวให้นะ ต่างคนต่างต้องทำครัวเอง อีกไม่น้อยที่มากันเป็นครอบครัว ก็ต้องเอาผ้าปูนอนกับพื้นถนนข้างรถ ต้องประดิษฐ์ห้องน้ำใช้เอง เพราะเค้ารู้ว่าคนกรุงเทพฯ คงไม่ต้อนรับเขา ไม่เตรียมให้เขา แล้วเขาก็จัดเวรกันทำความสะอาด คุณต้องมาเห็นชีวิตประจำวันของเขา ซึ่งไม่มีในภาพสื่อ” ฐิตินบว่า
เธอยังตั้งคำถามเทียบเคียงกับประสบการณ์ภาค สนามของตัวเอง สมัยที่เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังเบ่งบาน นักข่าวทำข่าวสมัชชาคนจนอย่างเข้มข้น เสนอประเด็นปัญหา พยายามทำความเข้าใจ พยายามอธิบาย สร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมอย่างมาก แต่ทำไมการชุมนุมทางการเมืองสื่อจึงไม่เปิดพื้นที่การเรียนรู้เหมือนกับที่ เคยทำครั้งสมัชชาคนจน ?
“ตัดแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมจัดตั้งออก เสียเลยก็ได้ ผมมองแต่คนที่มาด้วยความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า คนด้อยโอกาสที่จน เจ็บ และอาจถูกมองว่าไม่ได้ได้ฉลาดอะไรมากนักในการชุมนุมครั้งนี้” ปิยศักดิ์เสริม
ท่ามกลางการปาฐกถา การอภิปรายที่มีคนฟังจำนวนหนึ่งคอยปรบมือชอบใจอยู่โดยรอบๆ คนอีกจำนวนไม่น้อยก็ผลัดเปลี่ยนกันเดินดูรูปภาพเหล่านั้นอย่างพินิจพิจารณา บ้างรู้ข่าวจากการประกาศที่เวทีใหญ่ แล้วเคลื่อนย้ายตัวเองจากหน้าเวทีมาเดินสำรวจ บ้างเดินมาเจอโดยบังเอิญ
“ผมปลื้มใจ” ต้อยชายหนุ่มจากศรีสะเกษที่มาชุมนุมตั้งแต่วันแรกบอกความรู้สึกเพียงสั้นๆ ก่อนจะเดินดูรูปอื่นต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจคำถามที่เหลือ
ขณะที่ต้น (นามสมมติ) เด็กหนุ่มในเสื้อสีแดง อดีตนักศึกษาวิศวะ มธ.ปี2 (ออกกลางครัน เพราะตกเลข) บอกว่า “ประทับใจแล้วก็ภูมิใจนะ มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่มีที่ไหนในโลก ตอนนี้กำลังมองหารูปตัวเองอยู่” (หัวเราะ)
ต้นน่าสนใจตรงที่เขามาที่นี่คนเดียว โดยปลีกตัวจากการช่วยดูแลธุรกิจสิ่งทอที่บ้านมา เขาบอกว่า การชุมนุมเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้นไม่ได้เข้าร่วม เพราะดูรุนแรงจนที่บ้านเป็นห่วง แต่คราวนี้ที่บ้านยอมให้มาได้ เขาบอกอีกว่าเขาไม่ค่อยเห็นภาพเหล่านี้ในสื่อหลักๆ มากนักหรือหากปรากฏก็เป็นเชิงเสียดสีเสียมากกว่า
“ที่ผมไม่ชอบที่สุดก็ตรงที่เขาสัมภาษณ์ อะไรก็ลงไม่ตรง เอาไปสร้างความเสียหายมากกว่า บางทีมีเรื่องอะไร ไม่มีหลักฐานก็โทษพวกเสื้อแดง”
เมื่อพยายามไถ่ถามว่าเขาอคติกับสื่อมากเกินไป หรือไม่ เขาตอบว่า “ผมนี่ดูโคตรเยอะเลย เอเอสทีวีก็ดู สื่อในประเทศก็ดู สื่อต่างประเทศก็ดู เว็บเอย บล็อกเอย ผมเข้าไปดูหมด ฟังสองฝ่ายแล้วก็มาวิเคราะห์ของเราเอง”
ทำไมถึงสนใจการเมือง “เมื่อก่อน ก็ไม่ค่อยได้สนใจ ผมเกิดมารุ่นหลัง ในอดีตผมก็ไม่รู้ได้ว่าเป็นยังไง แต่เริ่มสนใจการเมืองก็เพราะประทับใจปรีดี” ต้นว่า และสำหรับการเข้าร่วมชุมนุม (รายสะดวก) นั้นเพิ่งเริ่มในปีนี้
ส่วนเอกภพ พัทธเสมา ชาวเพชรบูรณ์ที่มีอาชีพขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และมาร่วมกินนอนในที่ชุมนุมหลายวันแล้วบอกว่า ภาพที่เขาเห็นอยู่นี้ก็เหมือนกับภาพที่เขาได้สัมผัสด้วยตัวเองในการเคลื่อน ขบวนวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา
“ชอบรูปเด็กยืนมองตำรวจ ตลกดี” เอกภพว่า
ส่วน นาซิน คาน เด็กหนุ่มมาดเซอร์จากปัตตานีผู้มาศึกษาในรั้วรามคำแหงบอกว่าเขาไม่ต้องการ อะไรมาก ขอเพียงให้สื่อรายงานตามข้อเท็จจริง เปิดพื้นที่ให้เท่าเทียมกัน ให้ภาพ ให้ชีวิตของพวกเขาได้ปรากฏด้วยก็เพียงพอแล้ว
นาซิน คาน ถ่ายคู่กับรูปที่เขาชอบที่สุดในนิทรรศการ
ยุกติ
นี่เป็นความพยายามเล็กๆ ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจเป็น “อีกผู้โหยหาประชาธิปไตย” ดังที่เหวง โตจิราการ นิยามไว้
นี่เป็นความพยายามเล็กๆ ที่อาจนับได้ว่าเป็นสันติวิธี โดยไม่ได้เอ่ยอ้างคำว่าสันติวิธี ดังที่ยุติ มุกดาวิจิตร ได้กล่าวในช่วงหนึ่งของการเปิดงานไว้ว่า มายาคติที่มีต่อคนเสื้อแดงว่าคลั่งทักษิณและเต็มไปด้วยความรุนแรงนั้น เป็นการกระทำรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ที่เลวร้าย และปูพื้นไปสู่การกระทำรุนแรงทางตรงที่เลวร้ายยิ่งกว่า พวกเขาคือผู้ตื่นตัวทางการเมืองกลุ่มใหม่ที่ต้องการหลุดจากโครงสร้างความ สัมพันธ์ดุจไพร่-อำมาตย์ ความสัมพันธ์ซึ่งคนชั้นนำทั้งหลายพยามสร้างสังคมชนชั้น และสร้างวาทกรรมที่ทำให้พวกเขาเป็นคนโง่
นี่เป็นความพยายามเล็กๆ ท่ามกลางค่ำคืนที่มีทหารเข้าประจำการเพิ่มมากขึ้นโดยรอบพื้นที่ และบรรยากาศเต็มไปด้วยความหวั่นไหว หวาดระแวง ....
หมายเหตุ – รายชื่อช่างภาพ : พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, เบญจมาศ บุญยฤทธิ์, ขวัญระวี วังอุดม, ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์, บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล, คิม ไชยสุขประเสริฐ, พิณผกา งามสม, กานต์ ณ กานท์, ปาลิดา ประการะโพธิ์, พันธวิศย์ เทพจันทร์, ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ
(รายละเอียดใน http://www.gallery.in.th/redshirtsunseen/gallery )
No comments:
Post a Comment