Sunday, March 13, 2011

ปัญหากฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอการรณรงค์ยกเลิก ม.112

http://www.prachatai.com/journal/2011/03/33527

นิติราษฎร์ ฉบับ16: ปัญหากฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอการรณรงค์ยกเลิก ม.112

 

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มจะได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพราะสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและในหลายกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น แต่เพราะความลึกลับของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะเช่นนี้ ประกอบกับความพยายามของหน่วยงานของรัฐที่เริ่มให้ความหมายใหม่ของความผิดฐานนี้ว่าเป็นความผิดฐานล้มเจ้าด้วย ความสนใจของสาธารณชนที่มีต่อเรื่องนี้จะเห็นได้จากความเคลื่อนไหวในการรณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีข้อสังเกตว่าเรื่องราวที่เริ่มอึกทึกกึกก้องนี้ดำเนินคู่ขนานไปกับความเงียบงันของวงวิชาการนิติศาสตร์ เหมือนกับเรื่องครึกโครมอื้อฉาวอีกหลายเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในห้วงเวลาที่ผ่านมา...
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร สมควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ในระดับตัวบทกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาอย่างน้อยที่สุด 3 ประการ

ปัญหาประการแรกของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ ปัญหาการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ 4 ตำแหน่ง คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าตำแหน่งซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดสถานะไว้เป็นพิเศษนั้นมีตำแหน่งเดียว คือ ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วประมวลกฎหมายอาญาจะมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคลธรรมดา คือ การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลอื่น เป็นการกระทำที่มีโทษทางอาญาก็ตาม แต่การมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด  บทบัญญัติที่คุ้มครองประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษนี้มีปรากฏเช่นกันแม้ในประเทศที่มีรูปของรัฐเป็นสาธารณรัฐซึ่งประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม การบัญญัติคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เท่ากับประมุขของรัฐทั้งๆที่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ประมุขของรัฐ และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมหาเหตุผลรองรับได้ยาก อนึ่งหากในทางนิตินโยบาย ฝ่ายนิติบัญญัติต้องการคุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดา ก็จะต้องอธิบายให้เห็นเหตุผลความจำเป็น แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจะกำหนดอัตราโทษให้เท่ากับบทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐไม่ได้

ปัญหาประการที่สองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 คือ ปัญหาอัตราโทษ ปัจจุบันโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯ คือ โทษจำคุกสามปีถึงสิบห้าปี โทษดังกล่าวเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19) เมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่าโทษหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล คือ โทษจำคุกไม่เกินกว่าสามปี ฤาให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่าหนึ่งพันห้าร้อยบาท ฤาทั้งจำคุกและปรับด้วย ความไม่สมเหตุสมผลของอัตราโทษตามมาตรา 112 คือ ในขณะที่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นโทษจำคุกนั้น กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินสามปี โดยไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ ซึ่งหมายความว่าศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยเพียงใดก็ได้ แต่โทษหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย กลับกำหนดไว้สูงสุดถึงสิบห้าปี โดยกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ด้วยว่าต้องจำคุกไม่ต่ำกว่าสามปี มีข้อสังเกตด้วยว่าในคราวประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อ พ.ศ. 2500 นั้น โทษตามมาตรา 112 คือ โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ อาจกล่าวได้ว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบันขาดความสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง

ปัญหาประการที่สามของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คือ การไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดในกรณีที่แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน การรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ซึ่งประชาชนในระบอบประชาธิปไตยต้องสามารถกระทำได้ การไม่มีบทบัญญัติกำหนดให้อำนาจกระทำได้เช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวพันกับราชการแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรในทางรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ย่อมไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าการกระทำของตนนั้นจะถูกตีความว่าเป็นการกระทำอันครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น บุคคลนั้นก็ไม่อาจยกเอาข้อต่อสู้ที่ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดได้ ในขณะที่การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา สามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างได้  มีข้อสังเกตว่าบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ร.ศ.127 ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายสมัยใหม่ฉบับแรกของไทยที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ.2477 นั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 104 ว่า การกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ รัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชน ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆที่ได้กระทำไปภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด

นอกจากปัญหาในแง่ของหลักการการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่ง ระดับอัตราโทษ ตลอดจนเหตุยกเว้นความผิดที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัญหาที่ดูจะหนักกว่าและแก้ไขได้ยากกว่าคือปัญหาการตีความตัวบทมาตรา 112 โดยองค์กรตุลาการ ปัญหาดังกล่าวนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับความเข้าใจอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กับการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กล่าวให้ถึงที่สุดการตีความบทบัญญัติมาตรา 112 แยกไม่ออกจากความเข้าใจในเรื่อง “ระบอบ” การปกครอง

ถึงแม้ว่าบทบัญญัติมาตรา 112 จะใช้ถ้อยคำที่มีความชัดเจนตามสมควร คือ คำว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งหมายความว่า การกระทำที่ไม่สมควร การกระทำที่มีลักษณะไม่เคารพ ไม่นับถือ ซึ่งไม่ถึงขนาดเป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากแนวทางการปรับใช้กฎหมายของศาล ตลอดจนการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและการฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการย่อมจะเห็นได้ว่ามีการนำเอาถ้อยคำของบทบัญญัติมาตรานี้ใช้บังคับไปถึงการไม่แสดงความเคารพ ซึ่งบางกรณีก็เป็นการแสดงออกต่อสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น การไม่ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีด้วย  ในทางหลักวิชา การใช้กฎหมายอาญาในลักษณะเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าเป็นการเทียบเคียงบทกฎหมายลงโทษบุคคล ซึ่งถือว่าต้องห้าม ไม่สามารถกระทำได้ในทางกฎหมายอาญา ผลพวงจากการนี้ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐธรรมนูญไม่สามารถกระทำอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะผู้ที่แสดงความคิดเห็นอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในความผิดฐานนี้ได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับที่มากไปกว่าตัวบทดังที่ได้ชี้ให้เห็นโดยสังเขปนี้ จะแก้ไขได้ก็แต่โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคคลทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาบุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่า บทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของประมุขของรัฐนั้น จะต้องได้รับการใช้และตีความให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้และตีความเพื่อรับใช้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพ้นสมัยเสียแล้ว

กล่าวให้ถึงที่สุด การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมไม่อาจแก้ไขได้แต่เพียงระดับตัวบทเท่านั้น เพราะแม้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว ก็ยังคงต้องมีบทบัญญัติที่คุ้มครองเกียรติของประมุขของรัฐเข้ามาแทนที่อยู่ดี การแก้ปัญหาที่ถูกต้องและยั่งยืนจึงต้องแก้ที่สำนึกเกี่ยวกับอุดมการณ์ของการปกครองที่อยู่เบื้องหลังตัวบท และเป็นตัวกำกับการตีความตัวบท จะต้องทำให้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในสำนึกของบรรดาบุคคลทั้งปวงในกระบวนการยุติธรรม

การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำลังทำกันอยู่นั้น จึงต้องเป็นการยกเลิกตัวบทในปัจจุบันเพื่อสร้างตัวบทใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการในทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา และต้องเป็นการยกเลิกอุดมการณ์ในการตีความตัวบทมาตรา 112 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งการกระทำในระดับอุดมการณ์นี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์แยกแยะส่วนที่สอดคล้องและส่วนที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย บังคับใช้ส่วนที่สอดคล้อง แก้ไขส่วนที่ขัดแย้ง และกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ให้รับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญให้ถูกต้องต่อไป.


No comments:

Post a Comment