ฮิวแมนไรท์วอท์ชเปิดรายงานกรณีสลายชุมนุมเสื้อแดง ชี้การกระทำของ รบ. เสมือนการสังหารที่เลือดเย็น
Wed, 2011-05-04 15:29
ฮิวแมนไรท์วอท์ชเปิดตัวรายงานกรณีสลายการชุมนุมเสื้อแดง ชี้การกระทำของรัฐบาลเสมือนการสังหารที่เลือดเย็น
วันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอท์ช องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลได้แถลงเปิดตัวรายงาน “Descent into Chaos: Thailand’s 2010 Red Shirts Protest and the Government Crackdown” เกี่ยวกับกรณีการสลายการชุมนุมทางการเมืองในเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีที่แล้ว ฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการกระทำความผิดใดๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดให้มีการสืบสวนและสอบสวนอย่างโปร่งใส และให้จัดให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ชุมนุมก็ตาม
จากการเก็บข้อมูลของฮิวแมนไรท์วอท์ชพบว่า มีหลักฐานจริงที่ยืนยันว่าทหารได้ใช้สไนเปอร์ในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยรัฐบาลได้ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ แต่ในความเป็นจริง จากการลงเก็บข้อมูลบนรางรถไฟฟ้า การสัมภาษณ์พยานหลักฐานในวัดปทุมวนารามและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ชัดเจนว่าทหารใช้สไนเปอร์ยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอสลงมาในวัดปทุม และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมใช้อาวุธยิงออกมาจากวัดปทุม แต่จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นเช่นนั้น
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลประกาศใช้เขตกระสุนจริง (Live Firing Zone) ยังถือเป็นการละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างร้ายแรง และไม่ว่าจะมีข้ออ้างหรือเงื่อนไขใด รัฐบาลก็ไม่สามารถประกาศ Live Firing Zone ได้
“เรามองว่าการกระทำของรัฐบาลเป็นการสังหารประชาชนที่เลือดเย็นมาก” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าว “ถึงแม้ว่าทหารจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อใดที่ทหารส่องสไนเปอร์ไปยังผู้ชุมนุมมือเปล่าแล้วยังลั่นไกฆ่า นั่นถือว่าเป็นการจงใจฆาตกรรม”
นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์วอท์ชมองว่าฝ่าย นปช.เองก็มีส่วนก่อให้เกิดความรุนแรงเช่นกัน เช่น ในกรณีของชายชุดดำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพลเอกร่มเกล้า มีหลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับแกนนำนปช. และการที่ผู้ชุมนุมใช้อาวุธระเบิดทำมือ จรวด และการเผายางต่อสู้กับทหารในช่วงวันที่ 14-19 พฤษภาคม รวมถึงการเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬา ก็นับว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในระหว่างการแถลงข่าว แบรด อดัมส์ ยังได้เปิดคลิปวีดีโอการปราศรัยของอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธ์ ที่สื่อว่ามีเจตนายั่วยุผู้ชุมนุมให้ก่อความวุ่นวาย ทำลายข้าวของและการเผา
ในรายงานยังระบุถึงการที่รัฐบาลได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในช่วงการชุมนุมเดือนเมษา-พฤษภาปีที่แล้ว ด้วยการปิดเว็บไซต์กว่า 1,000 เว็บ โทรทัศน์ดาวเทียม สิ่งพิมพ์ และวิทยุชุมชนอีก40 กว่าแห่ง นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม รัฐบาลยังคงใช้มาตรการจัดการผู้ที่คิดเห็นต่างอย่างต่อเนื่องด้วยการใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในประเด็นดังกล่าว แบรด อดัมส์กล่าวว่าเขาเสนอให้รัฐบาลทำการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวโดยเปลี่ยนให้ผู้กล่าวโทษเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง (private actor) มิใช่เปิดให้บุคคลใดก็ได้สามารถกล่าวโทษด้วยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กำจัดผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองมากกว่า
ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสมานฉันท์ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อวิเคราะห์สาเหตุการประท้วง ทำงานล่าช้าเกินไป ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งรับหน้าที่สอบสวนเหตุประท้วง ก็เหมือนถูกครอบงำโดยรัฐบาลและดูเหมือนว่า การสอบสวนของดีเอเอสไอคงไม่นำไปสู่การเปิดเผยความจริงใหม่ๆ ได้
รายงาน “Descent into Chaos: Thailand’s 2010 Red Shirts Protest and the Government Crackdown” ของฮิวแมนไรท์วอท์ช (ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบ: การชุมนุมเสื้อแดงและการปราบปรามประชาชนในปี 2553) มีความหนา 139 หน้า โดยประมวลข้อสรุปจากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 94 คน จากกลุ่มผู้ชุมนุม เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ พยานหลักฐาน นักวิชาการ นักข่าว ทนายความ นักสิทธิมนุษยชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยรักษาความปลอดภัย ตำรวจ และกลุ่มอื่นๆ
No comments:
Post a Comment