คอลัมน์ เลือกตั้งรัฐบาล 54
ต้นตำรับ-เจ้าสำนักด้านการสำรวจความนิยมทางการเมือง ปรากฏตัวเด่นชัดในยุค "ไทยรักไทย"
ยุคที่ "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กระโดดเข้าสวมบทหัวหน้าพรรคการเมือง
ทั้งองคาพยพของไทยรักไทย ครบเครื่องทั้งขุนพลคนเดือนตุลา-กองกำลังตึกชิน และนักการเมืองระดับพระกาฬ
พัฒนาต่อยอดกับเทคโนโลยีของกลุ่มชินคอร์ป ในการใช้เครื่องมือไอทีปรับใช้กับกลเกมการเมืองอย่างลงตัว
พัฒนาขั้นสูงสุด ด้วยการใช้ทีมนักสถิติอิมพอร์ตจากต่างประเทศ เข้าทำ การสำรวจทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
รวมตัวกับนักการเมืองลงพื้นที่สำรวจผ่านวิธีการ ใช้ตัวแทน-กลุ่มตัวอย่างแบบโฟกัสกรุ๊ป และกลุ่มตัวอย่างแบบสโนว์บอล
การเช็กเป้าหมาย-คะแนนนิยม สำรวจความพึงพอใจต่อนโยบาย และผลคะแนนล่วงหน้า ส่วนใหญ่จึงมีความแม่นยำ อยู่ในระดับ "น่าเชื่อถือ" ชวนให้ฝ่ายตรงข้ามระทึกขวัญ
ดังนั้นข้อมูล "ไฟลิ่ง โพล" ผลสำรวจความนิยมของประชาชนระดับ "เอ็กซ์คลูซีฟ" จึงเป็นเอกสารชิ้นแรกที่อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี "น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" ต้องฝ่าดงรถถัง เข้าไปเก็บออกจากตึกไทยคู่ฟ้า คืนวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ระดับความแม่นยำของ "ทักษิณโพล" มาจากการสังเคราะห์ ผลสำรวจจากสำนักโพลค่ายสหรัฐอเมริกา"แกลล็อบโพล"
ผลงานในช่วงไทยรักไทยลงสนามแข่งครั้งแรก การเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 คราวนั้นชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณโด่งดัง เรตติ้งสูงสุด ผลสำรวจระบุล่วงหน้าตั้งแต่โค้งแรก จนถึงโค้งสุดท้ายระบุว่า ไทยรักไทยจะได้ที่นั่ง 249 คน จาก 500 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนการเลือกตั้งในช่วง 7-10 วันสุดท้าย ใน พ.ศ.นั้น "พ.ต.ท.ทักษิณ" สร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกพรรคทราบโดยทั่วกันว่า ไทยรักไทยเช็กเสียงโพลครั้งสุดท้าย ได้ไม่ต่ำกว่า 249 เสียง
แต่สมัยนั้นเป็นสมัยแรกที่ใช้ "ผลโพล" เป็นเครื่องมือ สร้างแคมเปญหาเสียง ดังนั้นแกนนำพรรคหลายคนไม่คิดเชื่อ
จนถึงวันลงคะแนน 6 มกราคม 2544 ผลการเลือกตั้งปรากฏพรรคไทยรักไทย ได้ ส.ส. 248 คน ต่ำกว่าผลโพล 1 เสียง
ระดับความแม่นยำของผลโพล ถูกนำมาต่อยอดในการเลือกตั้งสมัยที่สอง 2548
ในยุคไทยรักไทยสมัยรักษาแชมป์ มี "ปองพล อดิเรกสาร" เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง
มีตัวช่วย ตัวสำคัญชื่อ "ภูมิธรรม เวชยชัย" เป็นทีมงานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ด้วยการทำโพลทุกพื้นที่ ที่ผลคะแนนอยู่ในระดับก้ำกึ่ง
ปลายทางก่อนการลงคะแนนไม่กี่วัน "โพลทักษิณ" เปิดตัวเลขที่ ส.ส. 370 เสียง
แต่เป็นตัวเลขที่เหนือความคาดหมายแกนนำทุกคนในพรรค
ในช่วงนั้น กระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นนายกรัฐมนตรี ดับเบิลแชมป์ แทบไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้
แต่ผลการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ตัวเลขออกมาที่ 377 เสียง
พรรคไทยรักไทย และ "พ.ต.ท. ทักษิณ" ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์-ถล่มทลาย ได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ยุคการเมืองประชาธิปไตยในรอบ 60 ปี
ในระหว่างเป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 ท่ามกลางการถล่มของ "ม็อบพันธมิตรฯ" ตลอดทั้งปี แต่ไทยรักไทยยังใช้ "ผลโพล" เป็นเครื่องมือ-เข็มทิศ ในการพัฒนานโยบายอย่างต่อเนื่อง
ผลสำรวจความนิยมที่แสดงให้เห็นว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ" นับวันจะทรงอิทธิพล-เพิ่มบารมี กลายเป็นหอกที่แหลมคม ที่หันกลับมาทิ่มแทง-ผลักดัน "พ.ต.ท. ทักษิณและไทยรักไทย" จนพ้นกระดานการเมือง
ในคืนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 "ไฟลิ่ง โพล" จึงถูกทำลายทิ้ง ก่อนที่คณะรัฐประหารจะค้นพบ "สมมติฐาน" และผลสำรวจ ที่มีระดับความแม่นยำ-น่าสยองขวัญ กับผู้ที่มีอำนาจนอกรัฐบาล
ส่งผลต่อการเลือกตั้งในสมัยพลังประชาชน ซึ่งจุติและเกิดใหม่หลังไทยรักไทย ตายจากพื้นที่ทางการเมือง-ตารางลงคะแนน
ยุคพลังประชาชน มี สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค
ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 หลังพ้นกระแสโหวตโน-รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 พลังประชาชนและกองกำลังเสื้อแดงยุคที่ 1 เต็มพื้นที่อีสาน-เหนือ รวมกับกองกำลัง "เพื่อนเนวิน"
คราวนั้น พลังประชาชนรับรู้ผล "โพลทักษิณ" ว่า ความน่าจะเป็นอยู่ในระดับ 240 เสียง ใกล้เคียงกับยุค ไทยรักไทยสมัยแรกลงสนาม
ผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ทำให้ฝ่าย "ทักษิณ" ชนะซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ได้ ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร 233 เสียง ชนะประชาธิปัตย์ที่ทำคะแนนได้ 165 เสียง
ได้นายกรัฐมนตรี 2 คน คือ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์
ในการเลือกตั้งยุค พ.ศ. 2554 ถือเป็นยุคที่แข่งขันเข้มข้นถึงขีดสุด
เพื่อไทย-ที่เกิดใหม่ หลังพลังประชาชนตายจากพื้นที่กากบาทในคดียุบพรรค ชู "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ หมายเลข 1 หวังชิงแชมป์สมัยที่ 4
ในโค้งแรก "โพลทักษิณ" ประกาศตัวเลขเอาฤกษ์ ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 200 เสียง
โค้งที่สอง คนใกล้ชิดทักษิณ ประกาศตัวเลข 250 เสียง
และโค้งสุดท้าย "โพลทักษิณ" ประกาศข้ามน้ำ-ข้ามทะเลทรายจากดูไบ ให้ตัวเลข 270 เสียง และอาจทะลุไปถึง 300 เสียง อีกครั้ง
ประกอบกับผลของ "กรุงเทพโพล" ที่โหวตให้ "ยิ่งลักษณ์" มีสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
แม้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่มีผลในดัชนีความเชื่อทางการเมือง
ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 จะพิสูจน์ "ทักษิณโพล" อีกครั้ง
แชมป์เลือกตั้งสมัยที่ 4 อาจอยู่ไม่ห่างจากมือ "ทักษิณ" แต่จะส่งผลให้ได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 หรือไม่ ยังต้องลุ้นอีกหลายโค้งกว่าจะถึงเส้นชัย
No comments:
Post a Comment