ประชาธรรม: เสียงนักโทษ (การเมือง) ต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-เรือนจำหลังเลือกตั้ง
Thu, 2011-06-16 22:26
"หลังการเลือกตั้งถ้าเปลี่ยนรัฐบาล ผมไม่ได้ต้องการการนิรโทษกรรม แต่ผมต้องการการตัดสินที่เป็นธรรมจริง ตัดสินตามหลักฐาน ถ้าเห็นว่ากระทำผิดก็ตัดสินไปตามนั้น แต่กรณีนี้มันไม่มีหลักฐานแล้วมาตัดสินเรา คือผมไม่ต้องการให้มาตัดสินเข้าข้างเสื้อแดงแต่ขอกระบวนการยุติธรรมที่มัน เป็นธรรมจริง ตัดสินตามความเป็นจริงเท่านั้น"
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาคดีฆ่าพ่อดีเจพันธมิตรที่เชียงใหม่ นายนพรัตน์ แสงเพชร หนึ่งในจำเลยผู้ถูกกล่าวหาถึงกลับเข่าทรุด เพราะเขาเป็นจำเลยคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตน แต่ต้องกลับถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปีเพียงเพราะไปมุงดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์
"ผมคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมในการดำเนินคดี หลักฐานที่ใช้อ้าง คือ อาวุธมีด ซึ่งหมอ รพ.สวนดอก ยืนยันว่าเข้ากับบาดแผลคนตาย แต่ไม่มีรอยนิ้วมือของจำเลยที่ถูกจับของจำเลยทั้ง 5 แล้ววีซีดีที่เปิดให้ศาลดู ที่มีการรุมกันก็ไม่มีภาพจำเลยสักคนเดียว ส่วนของผมมันเป็นภาพนิ่งที่เข้าดูหลังเหตุการณ์จบไปแล้ว"
"กรณีพันธมิตรที่มีรูปภาพขี่รถไล่ทับตำรวจ พยายามฆ่าเจ้าพนักงานชัดๆ ตัดสินรอลงอาญา 2 ปี แต่คดีผมที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดอย่างชัดเจน กลับถูกจำคุก 20 ปี "
ช่วงนี้เขาได้รับอนุญาตให้ออกจากเรือนจำชั่วคราวเพื่อไปผ่าตัดข้อเข่าที่โรงพยาบาลสวนดอก ถึงแม้เขาจะบอกว่าอาหารและการนอนโรงพยายาบาลดีกว่าในเรือนจำ แต่ขาของเขาก็ยังถูกโซ่ล่ามไว้กับเตียงผู้ป่วย ทำให้เขาไม่รู้สึกต่างจากนักโทษเท่าไหร่
อ้ายนพรัตน์ ถูกจำคุกมา 2 ปีกว่าแล้ว ในระหว่างสู้คดีทั้งในขั้นศาลชั้นต้น และในระหว่างอุทธรณ์เขาไม่ได้ประกันตัวสักครั้งดียว เขาจึงรู้สึกว่าเขาไม่เคยได้รับความยุติธรรม การเข้าไปอยู่และใช้ชีวิตในเรือนจำครั้งแรกในชีวิตทำให้เขาตระหนักได้ว่า การเป็นผู้ต้องหาหรือเป็นเพียงผู้ที่ถูกกล่าวหากลายเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นอยู่เหมือนไม่ใช่มนุษย์
"ตอนอยู่ในเรือนจำรู้สึกอึดอัดมาก เพราะนักโทษในเรือนจำเชียงใหม่มันมากกว่ามาตรฐานเรือนจำจะรับได้ เรือนจำเชียงใหม่ทำมาสำหรับรองรับนักโทษ 2,500 คน แต่ตอนนี้มีนักโทษอยู่ 4 พันกว่าคน ห้องนอนแค่เนี่ย (เท่าห้องพยายาบาล) อยู่กัน 70 คน เวลานอนต้องนอนตะแครงนอนหงายไม่ได้ ทุกอย่างมันแย่งกันหมด แย่งกันกิน แย่งกันนอน แย่งกันใช้ แย่งกันถ่ายห้องน้ำมีน้อยแต่คนมันมีเยอะ มันทำให้คนเห็นแก่ตัวนะ การเข้าเรือนจำ"
"และศาลบ้านเรามักจะไม่ให้ประกันตัวนักโทษ มันก็จะอัดอยู่ในนั้น ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ คดีไม่ถึงที่สิ้นสุดให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ความเป็นจริงเมื่อเราถูกตำรวจจับเราได้กลายเป็นคนผิดไปแล้ว"
อ้ายนพรัตน์ยังโชคดีกว่านักโทษคนอื่นที่ติดคุกในคดีเดียวกัน เพราะเขาไม่มีลูกมีเมีย มีแต่แม่ซึ่งมีน้องสาวคอยดูแลอยู่ ทำให้เขาไม่กังวลเท่าใดนัก แต่เขาก็อดรู้สึกหดหู่ต่อโชคชะตาตัวเองไม่ได้เช่นกัน
"ก่อนที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็ไม่คิดว่าจะต้องมาเผชิญอะไรแบบนี้ บางครั้งก็คิดเหมือนกันว่า เหมือนทำดีไม่ได้ดี ประเทศชาติก็ไม่ใช่ของเราคนเดียว แต่ผมก็ยอมรับในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คุกอาจจะขังผมได้ แต่ขังความคิดผมไม่ได้หรอก"
หลังการเลือกตั้ง นักโทษ(การเมือง) คนนี้ไม่ได้หวังให้พรรคที่จะมาเป็นรัฐบาลนิรโทษกรรม แต่เขาต้องการสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมจริงๆ โดยเริ่มจากการให้เขาได้ประกันตัว
"สิ่งที่ต้องการอันดับแรก คืออยากได้ประกันตัว ทุกคนอยากได้ประกันตัวหมด ซึ่งที่ผ่านมาศาลมักให้เหตุผลว่า กลัวจำเลยจะไปกระทำความผิดเหมือนเดิม เมื่อตัดสินไปแล้วอยู่ระหว่างอุทธรณ์แล้วขอประกันตัว ศาลให้เหตุผลว่า อัตราโทษสูง กลัวหลบหนี"
"หลังการเลือกตั้งถ้าเปลี่ยนรัฐบาล ผมไม่ได้ต้องการการนิรโทษกรรม แต่ผมต้องการการตัดสินที่เป็นธรรมจริง ตัดสินตามหลักฐาน ถ้าเห็นว่ากระทำผิดก็ตัดสินไปตามนั้น แต่กรณีนี้มันไม่มีหลักฐานแล้วมาตัดสินเรา ผมไม่ต้องการให้มาตัดสินเข้าข้างเสื้อแดงแต่ขอกระบวนการยุติธรรมที่มันเป็นธรรมจริง ตัดสินตามความเป็นจริงเท่านั้น"
"ขอให้มีความยุติธรรมเถอะ ถ้ามีความยุติธรรม ผมคิดว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดงไม่เกิด ความแตกแยกไม่มีแน่นอน ฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ว่าประชาชนเลือกพรรคนี้มา แล้วมีมือที่มองไม่เห็นมาจัดการ เพราะมองว่าประชาชนยังโง่อยู่ "
เขายังฝากด้วยว่า "นักโทษในเรือนจำก็คือ คน จากการที่ได้อยู่ในเรือนจำ มาเห็นว่า เมื่อรัฐบาลจะตัดงบประมาณ กรมราชทัณฑ์จะโดนก่อน ตอนที่เขาเป็นนักโทษในสมัยรัฐบาลสมชาย อาหารนักโทษตกวันละ 57 บาท แต่พอมาในยุคที่อภิสิทธิ์เป็นนายกก็เหลือ 48 บาท เห็นว่าถ้าใครมาเป็นรัฐบาล เวลาจะตัดงบประมาณ ควรตัดส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นก่อน"
No comments:
Post a Comment