Saturday, December 10, 2011

อ่านการเมืองไทยกับชาญวิทย์ เกษตรศิริ: (จะ) 80 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก

http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38265

อ่านการเมืองไทยกับชาญวิทย์ เกษตรศิริ: (จะ) 80 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สนทนานานาที่ Book Re:Public ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองโลก เพื่อนบ้านอาเซียน รัฐประหาร 19 ก.ย.49 และมาตรา 112

 

 

"ประวัติศาสตร์นี่มันสนุกมาก ถ้านอกเรื่องเยอะๆ นะ นอกตำรา...
ออกจากพระนเรศวรประกาศเอกราชได้ สนุกแน่" 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตอนหนึ่งในการเสวนา
ที่ร้านหนังสือ Book Re:Public

(9 ธ.ค.54) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ร่วมเสวนาในหัวข้อ "(จะ) 80 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก" (2475-2555) ที่ร้านหนังสือ Book Re: Public จ.เชียงใหม่ ดำเนินรายการโดยธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยชาญวิทย์ระบุว่า นักรัฐศาสตร์ไทยนั้นมีข้อจำกัดเพราะมองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างดีก็ถึงแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งจะครบ 80 ปีในปีหน้านี้ ขณะที่ชาญวิทย์มองว่า การย้อนดูประวัติศาสตร์นั้นควรย้อนกลับไปยาวๆ

ทั้งนี้ เขามองว่า ปี 1911 (2454) เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค.1911 เกิดการปฏิวัติซุนยัดเซ็น ราชวงศ์ชิงล่ม ประเทศจีนเปลี่ยน นับเป็นการปฏิวัติแรกของเอเชีย ซึ่ง 4 เดือนต่อมาในไทยก็เกิดเหตุการณ์กบฎ รศ.130 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นายทหารหนุ่มต้องการยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 6 โดยเมื่อคำนวณแล้วจะครบ 100 ปีของความพยายามที่จะเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

"ถ้าเราดูอย่างนี้ เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์ของสยามประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของระบบของโลกใหญ่" ชาญวิทย์กล่าวและว่า ถ้าจะดูการเมืองที่มีความพยายามสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยดูเพียง 2475 ไม่พอ ต้องดูกลับไปอีก จึงจะเห็นว่ามีสิ่งที่เรียกว่ากฎเกณฑ์บางอย่างของโลก โดยในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ของสิ่งที่เรียกว่า nation (ชาติ) ที่มาพร้อมแนวคิดเรื่องความเสมอภาค ไม่ใช่แนวดิ่งอีกต่อไป โดยเกิดทั้งการปฏิวัติอเมริกัน ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เรากลับพยายามบอกว่ามันไม่ใช่ ระบอบที่เรามี ไม่มีใครเหมือนและเรา unique

ผู้ดำเนินรายการชวนคุยว่า ไทยอธิบายว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก เป็นความพิเศษที่เทียบเคียงกับที่อื่นไม่ได้เลย ทั้งระบอบการปกครองและสถาบันกษัตริย์ เชื่อมโยงกับแนวคิดนี้ได้หรือไม่ ชาญวิทย์มองว่าวาทกรรมไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นนั้น ในด้านบวกทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง แต่ก็กลายเป็นปมเขื่อง ซึ่งพัฒนาไปเป็นการดูถูกคนอื่น ซึ่งนี่เป็นปัญหา

ราชาชาตินิยม-ชาตินิยมสู่การกู้ชาติ
ธนาพลกล่าวว่า เบเนดิกต์ แอนเดอร์สันเคยกล่าวว่าเพราะการปฏิวัติสยามไม่เคยแตกหักกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ด้วยผลพวงทางประวัติศาสตร์แบบนี้ ทำให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ชนชั้นนำ คือการประนีประนอม หรือที่อาจารย์เรียกว่าเกี๊ยะเซี๊ยะ บรรยากาศแบบนี้เป็นผลพวงของการที่เราไม่เคยแตกหักกับระบอบเก่าจริงหรือเปล่าหรือมีปัจจัยอะไร ชาญวิทย์กล่าวว่า ถูกส่วนหนึ่ง เพราะการไม่แตกหักทำให้อะไรบางอย่างของสังคมเก่ายังอยู่ อย่างไรก็ตาม เขามองว่า คำกล่าวนี้ของ อ.เบน นานมากแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่าสถานการณ์และวิธีคิดนั้นเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่ตัวเขาเองก็เปลี่ยนใจจากสิ่งที่เคยเขียนไปเยอะแล้ว อย่างไรก็ตาม เขามองว่าอีกส่วนหนึ่งนั้นเป็นความพยายามของผู้นำใหม่คือคณะราษฎรที่จะประนีประนอมกับระบอบเก่าในระดับหนึ่ง ซึ่งการประนีประนอมนั้น ระบอบใหม่ทำท่าว่าจะไปได้ดีพอสมควรในช่วงรัชกาลที่ 7-8 พร้อมชี้ว่าควรต้องดูบทบาทของการสร้างระบอบอำนาจนิยม การสร้างชาตินิยมเพื่อบดบังรัศมีของราชาชาตินิยม โดยเดิมราชาชาตินิยมแบบของรัชกาลที่ 5-6 นั้น มีจุดเน้นอยู่ที่ราชสำนัก ใครก็ตามที่จงรักภักดีถือเป็นคนไทย ขณะที่ชาตินิยมแบบจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้นเน้นที่ความเป็นชนชาติ เชื้อชาติไทย ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นเวอร์ชั่น hybrid หรือลูกผสม โดยยกตัวอย่างกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมที่ราชดำเนินประท้วงรัฐบาลไม่ว่า สมัคร สุนทรเวช หรือสมชาย ด้วยประเด็นเขาพระวิหาร ว่านี่คือลูกผสมที่สามารถร้องเพลงความฝันอันสูงสุดแล้วเปลี่ยนเป็นเพลงต้นตระกูลไทยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาญวิทย์มองว่า เวอร์ชั่นลูกผสมนี้ใช้การไม่ได้แล้ว สังเกตจากการที่สุวิทย์ คุณกิตติ วอล์กเอาท์ออกจากการประชุมมรดกโลกที่ปารีส รวมถึงขึ้นป้ายหาเสียงทวงคืนพระวิหาร แต่ก็ยังสอบตก นั่นแสดงว่าคนไม่เอา

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ทำไมประวัติศาสตร์ไทยจึงมองเพื่อนบ้านแบบที่ พม่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เขมรเลี้ยงไม่เชื่อง ลาวเป็นลูกน้องตลอดกาล มาเลเซียเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อการร้าย ชาญวิทย์มองว่า นี่เป็นผลผลิตของราชาชาตินิยมบวกกับอมาตยาชาตินิยม โดยประวัติศาสตร์เหล่านี้เขียนขึ้นในยุคที่รอบๆ ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ยุคหนึ่งคนเอเชียอาจไม่คิดว่าเราเป็นเอกราชได้ ทำให้เราเขียนโดยไม่สนใจเพื่อนบ้าน เพราะคิดว่าเขาไม่ได้อ่านหรือมีผลต่อเรา อย่างไรก็ตาม มาตอนนี้เขาอ่าน และเขาด่ากลับด้วย โดยชาญวิทย์ยกตัวอย่างว่า ก่อนหน้านี้ไปสอนหนังสือที่พนมเปญ ประเทศกัมพูชา เขาดูทีวีของไทย และหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษของไทยอย่างบางกอกโพสต์ก็หาซื้อได้ทั่วไป เขารู้เรื่องของเราดีมาก ขณะที่เราไม่รู้เรื่องของเขา ทั้งที่ต่อไปก็จะเกิดประชาคมอาเซียนแล้ว แต่เราเตรียมตัวไม่ทัน ไม่ได้สนใจเลย เราอยู่ในกรอบความเป็นไทย จนลืมดูรอบๆ บ้าน

ธนาพลถามว่า ชาญวิทย์เคยบอกว่ารัฐประหาร 2549 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้ายในรัชกาลนี้ แล้วในรัชกาลต่อไปจะเป็นอย่างไร ชาญวิทย์ตอบว่า รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ข้อถกเถียงของนักรัฐศาสตร์ว่ารัฐประหารเพื่อป้องกันการนองเลือดนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ และทหารก็รู้แล้วว่าไม่สามารถบริหารได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์นั้น พล.อ.สุรยุทธ์เดินทางไปเยอรมนี รัฐบาลของที่นั่นก็ไม่สามารถต้อนรับได้ เพราะมาจากรัฐประหาร แสดงให้เห็นแล้วว่าเขาไม่ยอมรับ หรือกรณีอากง และโจ กอร์ดอน (ผู้ถูกตัดสินความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสองรายล่าสุด) รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ซึ่งชาญวิทย์มองว่า อีลีท ชนชั้นนำของไทย ผู้ดีกรุงเทพฯ นั้นวิตกต่อเรื่องนี้อย่างมากว่าฝรั่งจะว่าอย่างไร ทั้งนี้ เขาเสริมว่าเราปิดประเทศไม่ได้ แม้แต่พม่ายังปิดไม่ได้เลย ฮิลลารี่ยังไปกอดกับอองซานซูจีแล้ว

ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลังรัฐประหาร มีการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ทั้งในงานวิชาการ และแบบชาวบ้าน รวมถึงในสื่ออินเทอร์เน็ต ความเปลี่ยนแปลงนี้บอกอะไรกับเรา สังคมไทย หรือชนชั้นนำ ชาญวิทย์กล่าวว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ผลของมันมหาศาล คนที่ทำก็นึกไม่ออก เพราะเป็นรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่เหตุการณ์ต่อๆ มาก็เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตเมื่อปี 53 ซึ่งอะไรหลายอย่างเลยไปแล้ว บางคนเล่นคำว่า อะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นมันทุเรศและเผลอๆ อาจจะ too late แล้ว สถานการณ์มันไปไกลจนเรียกได้ว่า ถ้าผู้ที่กุมอำนาจรัฐไม่ปรับ เปลี่ยน ปฏิรูป หลายอย่างจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้

"ถ้าท่านต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ และสันติสุขเพื่อชาติและราษฎรไทย ท่านต้องปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112" ชาญวิทย์กล่าว

No comments:

Post a Comment