ในประเทศ
ความคืบหน้าการสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพที่คาดว่าเสียชีวิตโดยฝีมือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดงช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องมายังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ดำเนินการตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน
ซึ่งตามกำหนดต้องสรุปเสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 ธันวาคมนี้ หลังพนักงานสอบสวนขอขยายเวลาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน เพื่อส่งให้ฝ่ายอัยการยื่นต่อศาลเปิดการไต่สวน
คดีดังกล่าวมาถึงจุดน่าสนใจอีกครั้ง
เมื่อ พ.ต.อ.สืบศักดิ์ พันธุ์สุระ รอง ผบก.น.6 หัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดที่ 3 ลงนามในหนังสือที่ ตช.0015.(บก.น.6) 01/9721 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2554 ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน
และหนังสือที่ ตช.0015.(บก.น.6) 01/9722 ถึง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องขอความร่วมมือมาให้ปากคำกรณีถูกกล่าวอ้างในเหตุการณ์
หนังสือทั้ง 2 ฉบับอ้างถึง หนังสือสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ที่ อส 0017.1/1264
มีเนื้อหาว่า ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 639/2554 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เรื่องแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน
กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหนังสือที่ ยธ 0800/2684 ลงวันที่ 19 กันยายน 2554 ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพจำนวน 13 ราย กลับคืนมาให้ บช.น. ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ซึ่งเป็นเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2553 โดยพนักงานอัยการต้องเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวน ทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพ โดยให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการ
คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดที่ 3 บก.น.6 มีความจำเป็นต้องถามปากคำเป็นพยาน เนื่องจากได้รับคำสั่งจากพนักงานอัยการตามอ้างถึง
ซึ่งเห็นว่ามีพยานบางปากอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น
การกระทำของเจ้าพนักงานปฏิบัติตามคำสั่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
จึงให้ประสานขอความร่วมมือ หากประสงค์จะชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมข้อมูลประกอบการชี้แจง (ถ้ามี) เพื่อให้สำนวนการชันสูตรพลิกศพปรากฏข้อเท็จจริงครบถ้วนสมบูรณ์ และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
จึงขอเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือ มาพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดที่ 3 ณ ห้องประชุมปารุสกวัน 1 บช.น.
เพื่อให้ปากคำในฐานะพยานผู้มีคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 2 ธันวาคม 2554
เป็นความคืบหน้าภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และ พ.อ.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ เสธ.ร.2 รอ. เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554
เป็นคำให้การเกี่ยวกับโครงสร้างการบังคับบัญชาในเหตุการณ์ กรณีทหารนำกำลังพลพร้อมอาวุธเข้ามาปฏิบัติการในเมืองหรือในเขตกรุงเทพมหานครว่า เกิดขึ้นเพราะมีคำสั่งพิเศษจาก ศอฉ.
ศอฉ. ซึ่งไม่ใช่องค์กรที่กำเนิดขึ้นมาเอง แต่มีขึ้นโดยคำสั่งของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศอฉ.
เป็นความคืบหน้าหลังกลุ่มนายทหารระดับพันเอก พันโท และชั้นประทวน จากกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ นำโดย พ.อ.ธรรมนูญ วิถี ผอ.ฝ่ายยุทธการ จำนวน 14 นาย
ที่คุมกำลังในการปฏิบัติภารกิจ "�ขอคืนพื้นที่" บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เดินทางเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน บช.น. เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554
รายงานข่าวระบุการให้ปากของเจ้าหน้าที่ทหารทั้ง 14 นาย ยังยืนยันเหมือนที่เคยให้การมาก่อนหน้านี้ รายละเอียดเป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ พ.อ.สรรเสริญ ให้การไว้ก่อนหน้าคือ ทหารปฏิบัติการตามคำสั่งจาก ศอฉ.
นอกจากนั้น พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนวันเดียวกับทหารทั้ง 14 นายเช่นกัน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดคำให้การ
พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชันสูตรพลิกศพทั้ง 16 สำนวนกล่าวแต่เพียงว่า พล.ต.วลิต ยืนยันตามคำให้การเดิม
หากอ่านจากหนังสือขอความร่วมมือนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมาให้ปากคำ ซึ่งเจาะจงเฉพาะแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
ถึงไม่ระบุรายละเอียด แต่น่าจะหมายถึงกรณี นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น
เนื่องจากนายฮิโรยูกิเป็นรายเดียวใน 16 ศพ ที่ถูกระบุการเสียชีวิตว่าถูกยิงบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
นอกจากนี้ ก่อนหนังสือเรียกจะไปถึงนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ระหว่างนั้นพนักงานสอบสวนได้ทยอยสรุปสำนวนชันสูตรพลิกศพ ส่งอัยการแล้ว 4 คดี คือ
1.คดี นายชาญณรงค์ พลศรีลา ถูกยิงเสียชีวิตหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถ.ราชปรารภ 2.คดี นายมานะ อาจราญ ถูกยิงเสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต
3.คดี เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ ถูกยิงในซอยโรงหนังโอเอ ถ.ราชปรารภ และ 4.คดี นายพัน คำกอง ถูกเสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่ราชประสงค์
สำหรับ 12 สำนวนที่เหลือพนักงานสอบสวนยืนยันสรุปได้ทันเส้นตาย 17 ธันวาคม นี้แน่นอน
รวมถึงคดีนายฮิโรยูกิ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
กล่าวถึงคดีนายฮิโรยูกิ ทางการญี่ปุ่นให้ความสำคัญติดตามสอบถามความคืบหน้าจากทางการไทยมาตลอด
ส่งตัวแทนสถานทูตเดินทางเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมืองหลายครั้งตั้งแต่เกิดเหตุในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ กระทั่งเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายยูซูเกะ มูราโมโตะ น้องชายนายฮิโรยูกิ ได้เดินทางจากญี่ปุ่นมาไทยเพื่อสอบถามความคืบหน้าคดี ทั้งยังเดินทางไปดูจุดเกิดเหตุพี่ชายถูกยิงเสียชีวิตหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาด้วย
ขณะที่ นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เพื่อสอบถามความหน้าคดีอีกครั้ง
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า คดีสำนวนนายฮิโรยูกิ เดิมพนักงานสอบสวนต้องส่งให้อัยการตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน แต่อัยการมีหนังสือสั่งให้ตำรวจสอบปากคำนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ให้การกับตำรวจว่า ปฏิบัติการเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นการทำตามคำสั่ง ศอฉ. พนักงานสอบสวนจึงนัดนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพมาให้ปากคำวันที่ 2 ธันวาคมนี้
หากทั้งสองมาให้ปากคำตามนัดหมายก็คาดว่าจะสรุปสำนวนส่งอัยการได้ในวันที่ 5-6 ธันวาคม และเมื่อสำนวนเข้าสู่การไต่สวนชั้นศาล ญาติผู้เสียชีวิตสามารถตั้งทนายความเข้าร่วมไต่สวนได้
อย่างไรก็ตาม จากคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 29 และ 30 พฤศจิกายน อ้างว่าตนเองและนายสุเทพ ยังไม่ได้รับหนังสือเรียกไปให้ปากคำของพนักงานสอบสวน แม้ทางตำรวจจะยืนยันได้ส่งหนังสือดังกล่าวทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษอีเอ็มเอส ลงทะเบียนวันที่ 27 พฤศจิกายนแล้วก็ตาม
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ที่บุคคลระดับอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปให้ปากคำในคดีการตายที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองอันเป็นเหตุให้มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
เริ่มต้นจากคดีช่างภาพชาวญี่ปุ่นเศษเสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์
การเข้าให้ปากคำของ "�อภิสิทธิ์-เทพเทือก"จะส่งผลสะเทือนไปถึงคดี 91 ศพอย่างไรหรือไม่
ต้องติดตามชนิดห้ามกะพริบตา
No comments:
Post a Comment