ฟังบรรยายวิชาแก้ ม.112 โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์
อ่านข้อเสนอฉบับเต็มของนิติราษฎร์เพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่นี่ พร้อมอรรถาธิบายจากวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แก้ทำไมและอย่างไร
วันที่ 15 ม.ค. 2555 ที่ห้องประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์อธิบายโดยละเอียดถึงหลักการและเหตุผลในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเขากล่าวว่าจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมาอยู่กันตรงนี้ ถ้าสภาฯ รับที่จะแก้ไขมาตราดังกล่าว เป้าหมายเบื้องต้นคือนำร่างฯ ฉบับนี้ไปถึงมือของประธานรัฐสภา และให้สภาฯ พิจารณาไปตามลำดับ เราไม่มีอำนาจแก้ไขกฎหมายเอง ที่ทำได้คือการรวบรวมรายชื่อ ระยะเวลาที่เราจะใช้เบื้องต้นคือ 112 วัน
ผลแห่งผลไม้พิษรัฐประหาร 2519
“จากนี้เราจะต้องประสบพบเจอบุคคลที่ไม่เห็นด้วย พรรคการเมืองหลายพรรคการมืองก็แสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วว่าจะไม่แก้ไขมาตรา 112” ตัวแทนนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์กล่าวและเท้าความถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2519 มีการล้อมปราบนักศึกษา ท้องสนามหลวง เป็นสถานที่ประหัตประหารนักศึกษา ในเวลานั้น นักศึกษาของหลายมหาวิทยาลัยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ วิทยุยานเกราะที่เป็นกระบอกเสียงภาครัฐได้ปลุกระดมให้ประชาชนเกลียดชังนักศึษาและนำไปสู่ความรุนแรง สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ผลพวงครั้งนั้นเกิดการรัฐประหาร และมีการออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมป.อาญา 112 การแก้ไขในคราวนั้นเป็นการแก้ไขกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำ 3 ปี ถึง 15 ปี หลังจากนั้นก็มีการเอากฎหมายฉบับนี้ไปใช้ เช่น คุณวีระ มุสิกพงศ์ หรือบุคคลที่ไม่ยืนขณะเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี และการใช้กฎหมายนี้รุนแรงมากขึ้น หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และปรากฏสถิติสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
ผมในฐานะนักเรียนเก่าเยอรมัน นึกไปถึงช่วงที่เยอรมนีปกครองโดยจักรพรรดิ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีการฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นฯ จำนวนมาก หลังสงครามสงบลง ก็มีการยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าวด้วย
ปัจจุบันเยอรมนีมีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดีเช่นกัน ซึ่งต่างจากคนทั่วไป แต่ในการขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีเอกสารให้ประธานาธิบดีลงนามสละสิทธิการใช้มาตราดังกล่าว หลายคนรู้ว่ากฎหมายแบบนี้ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ยิ่งเป็นอันตราต่อสถาบันที่กฎหมายต้องการคุ้มครองมากเท่านั้น
สำหรับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ พระราชินีและรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ได้มีปัญหาแค่โทษเกินกว่าเหตุ หรือเปิดโอกาสให้บุคคลใดๆ ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่ปัญหาลึกกว่านั้น เพราะในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ คือ เมื่อเกิดการร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษนั้น ในทางสังคมก็จะถูกรังเกียจ และอาจจะถูกตัดสินจากสังคมไปแล้ว ในการดำเนินคดีบ่อยครั้งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการประกันตัว มีกรณีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยศาลมักให้เหตุผลว่า บทบัญญัติในมาตรานี้กำหนดโทษไว้สูง และการกระทำดังกล่าวกระทบกระเทือนจิตใจพสกนิกรประชาชนชาวไทยเพราะเป็นการหมิ่นเบื้องสูง
สำหรับกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของศาล เขาจะสู้ว่าเขากระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
ครั้นถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล หากเขาจะต่อสู้ว่าการกระทำของเขาเป็นการพูดวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อให้ต่อสู้ในคดี ศาลก็จะไม่ยอมให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมทั้งการพิสูจน์ว่าแม้ที่กล่าวไปจะหมิ่นประมาทแต่ก็เป็นความจริง เป็นประโยชน์สาธารณะ แต่เขาก็ไม่มีสิทธิในการขอพิสูจน์ความจริงนี้ในชั้นศาล เพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ซึ่งต่างจากบุคคลธรรมดา ซึ่งระบบกฎหมายจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำการหมิ่นประมาทได้กล่าวไปด้วยความสุจริต หรือข้อความที่กล่าวนั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ไม่ใช่แค่ปัญหาตัวบทและการใช้ แต่คือปัญหาระดับอุดมการณ์
ปัญหาลำดับถัดไปคือ ปัญหาระดับอุดมการณ์ หลายคนยังเรียกว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่มีอยู่แล้ว นับแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเปิดดูคำอธิบายกฎหมายอาญาที่บรรดานักวิชาการเขียนอธิบายคือ ความผิดตามมาตรา 112 จะไม่เปิดโอกาสให้โต้แย้งว่าการพูดวิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นไปโดยสุจริตเพราะสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์
คำอธิบายเหล่านี้ฝังอยู่ในสำนึกของนักกฎหมาย ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องนี้เลย บรรดาองค์กรที่ปฏิบัติการตามกฎหมาย ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ไปถึงผู้พิพากษามีแนวโน้มในการตีความบทบัญญัติดังกล่าวไปในลักษณ์ที่กว้างและไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มที่จะตีความไม่สอดคล้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช นี่คืออุดมการณ์ที่กำกับบรรดาองค์การที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
“ทุกท่านที่มาร่วมรณรงค์แก้ไขมาตรานี้ สมมติว่ามีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นว่าสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา รับไปพิจารณาและจะไปแก้ไข ท่านก็อย่าดีใจว่าปัญหาของการใช้กฎหมายนี้จะได้รับการแก้ไข หรือแม้แต่การยกเลิกไปเลย ท่านก็อย่านึกไปว่าการปรับใช้กฎหมายจะปรับใช้ไปอย่างเท่าเทียมกันระหว่างการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์กับบุคคลธรรมดา ตราบเท่าที่อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ได้ฝังลงไปในกระบวนการตามกฎหมาย”
นี่จึงเป็นเพียงก้าวแรกที่จะไปปรับเปลี่ยน หลังจากรณรงค์เรื่องนี้แล้ว บรรดากฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญยังจะต้องมีการอภิปรายต่อไปอย่างกว้างขวางในสังคมไทย การนำเสนอกฎหมายนี้จึงเป็นเพียงก้าวแรกในการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่จบอยู่ที่การนำเสนอเรื่องต่อประธานรัฐสภาแล้วจบแค่นั้น แต่เป็นการพูดถึงการที่ระบอบกษัตริย์อยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยและในเวทีระหว่างประเทศ
สำหรับมาตรา 112 เราถูกปิดล้อมโดยสื่อมวลชนกระแสหลัก ว่าจะถูกป้ายสีว่าเป็นการกระทำที่ไม่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเรียนว่าที่สุดแล้วเรื่องแบบนี้ต้องการการอธิบาย การเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ยังอยู่ในกรอบของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร คือมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่เป็นการนำประเด็นนี้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะ และทำให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวางและตรงไปตรงมา และไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นความผิดตามาตรา 112 เสียเอง
ในการเสนอแก้ไขนี้ เสนออะไร และทำไมไม่เสนอยกเลิกไปเลย
วรเจตน์อธิบายว่า เหตุผลที่นิติราษฎร์เสนอในแนวทางแก้ไข ไม่ยกเลิก เพราะเป้าประสงค์หลักอยู่ที่การพยายามทำให้บทบัญญัติในเรื่องนี้ได้มาตรฐานสากล คือในบรรดาประเทศที่เป็นราชอาณาจักร พบว่าประเทศเหล่านั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มแรกไม่มีกฎหมายคุ้มครองพระเกียรติของกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาทเป็นพิเศษ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเคยมีกฎหมายลักษณะดังกล่าว แต่ยกเลิกไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะเดียวกันมีอีกหลายประเทศในยุโรป เช่น นอร์เวย์ สเปน มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ บางประเทศจำกัดไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ และผู้สำเร็จราชการ บางประเทศครอบคลุมถึงบรรดาพระราชโอรส แต่ประเทศเหล่านี้ไม่มีประเทศใดเลยที่กำหนดโทษเอาไว้สูงเท่าที่มีในประเทศไทย
เมื่อผลการศึกษาออกมาเป็นเช่นนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อทำให้บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นบทบัญญัติในหมวดความมั่นคงอีกต่อไป และเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามบทกฎหมายในประเทศที่มีบทบัญญัติลักษณะนี้ เราจึงเสนอหมวดใหม่ เพื่อค้มครองกษัตริย์ รัชทายาทและผู้แทนพระองค์
หลัก 2 ประการ ในการกำหนดโทษและความผิด
หนึ่ง ต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและได้มาตรฐานสากล
สอง ต้องอ้างอิงจากฐานความผิดที่บุคคลธรรมดากระทำต่อกัน คือเราจะไม่บัญญัติหลุดลอยไปจากกรณีที่บุคคลธรรมดากระทำต่อกัน โดยมุ่งคุ้มครองตัวบุคคล เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการจัดทำกฎหมาย ในหมวดที่ทำขึ้นใหม่จึงเสนอให้มีการแยกตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ออกจากการคุ้มครองตำแหน่งพระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นั่นหมายความว่า 4 ตำแหน่งนี้จะไม่อยู่ในกฎหมายมาตราเดียวกันอีกต่อไป
ในส่วนที่เกี่ยวกับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ เราเสนอให้แยกความผิดฐานหมิ่นประมาท ออกจากความผิดฐานดูหมิ่นและแสดงความอาฆาตมาดร้าย
ในแง่ของโทษที่กำหนดขึ้นใหม่ กำหนดทุกฐานความผิดไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ หมายความว่า ในการกระทำความผิดทุกฐานความผิด ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ ไม่สามารถอ้างต่อไปว่าลงโทษขั้นต่ำ 3 ปี บางกรณี 5 ปี ถ้าผิด 4 กระทงก็คูณเข้าไป เป็น 12 ปี หรือ 20 ปี
และกำหนดโทษขั้นสูงสุดเอาไว้เรากำหนดเฉพาะตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แตกต่างจากบุคคลธรรมดาเล็กน้อย คือบุคคลธรรมดา 1 ปี โทษสำหรับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ 2 ปี ส่วนพระราชินี รัชทายาท กำหนดไว้เท่ากับบุคคลธรรมดา
การกำหนดเหตุยกเว้นความผิด
แม้กระทำครองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความนั้นเป็นความจริง บุคคลนั้นไม่ต้องรับผิด แต่หากเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์และความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี ไม่เป็นเหตุยกเว้นความผิด
เสนอสำนักราชเลขาธิการผู้มีอำนาจกล่าวโทษ
ปัญหาปัจจุบันคือ บุคคลใดก็สามารถกล่าวโทษได้เพราะมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวดความมั่นคง เป็นอาญาแผ่นดิน
วรเจตน์เล่ากรณีที่เกิดขึ้นใน อบต. แห่งหนึ่ง ซึ่งมีการแข่งขันกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ขณะที่มีการเทิดพระเกียรติ บ้านของคู่กรณีไม่ได้ประดับธงสัญลักษณ์ มีการส่งจดหมายมาถามว่า จะสามารถแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ เพราะไม่ได้แสดงความดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่ใครจะเป็นคนรับรองว่าเมื่อไปแจ้งความแล้วตำรวจจะไม่รับแจ้ง
วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองมักจะกล้าวอ้างว่าบุคคลอื่นไม่จงรักภักดี นักการเมืองหลายคนที่ต้องการอภิปรายถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาเพราะเกรงจะถูกกล่าวโทษว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
“เพื่อขจัดการใช้กฎหมายแบบนี้ เราจะไม่ยอมให้บุคคลใดก็ตามสามารถแจ้งความดำเนินคดี ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ”
โดยวรเจตน์กล่าวว่ามีการเสนอหลายความเห็น บางส่วนเสนอให้อัยการ หรือการตั้งบุคคลคณะหนึ่งขึ้นมาดำเนินการ ในส่วนของนิติราษฎร์นั้นเสนอโดยมุ่งตรงไปยังหน่วยงานที่ควรทำหน้าที่โดยตรง คือ สำนักราชเลขาธิการ
แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าการเสนอเช่นนี้จะทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน แต่ยังยืนยันว่าต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการ เพราะหากปล่อยให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมากลั่นกรอง หรือปล่อยให้บุคคลอื่นดำเนินการ ก็จะไม่พ้นไปจากแรงกดดันทางการเมืองอยู่ดี เช่น รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วมีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ขึ้น แล้วคณะกรรมการตกอยู่ภายใต้การกดดัน สุดท้ายก็ไม่แก้ปัญหาที่ต้องการแก้ จึงต้องหาหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการเพราะทำหน้าที่เป็นเลขาธิการในพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ซึ่งการตัดสินใจที่ฟ้องร้องเป็นการตัดสินใจภายใน โดยสำนักราชเลขาฯ นั้น ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นการเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์กับสถาบันการเมือง
ในเรื่องนี้ คอป. ได้มีการเสนอขอแก้ไขมาตรา 112 เช่นกัน ใน 2 ประเด็น คือ ให้กลับไปใช้อัตราโทษก่อนการแก้ไขปี 2519 คือโทษไม่เกิน 7 ปี แต่นิติราษฎร์เห็นว่ายังไม่ได้ระดับมาตรฐานสากล
ประเด็นที่ 2 คอป. เสนอว่า ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษควรเป็นสำนักพระราชวัง ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว สำนักพระราชวังไม่ได้รับผิดชอบในด้านนิติการโดยตรง ขณะที่สำนักราชเลขาฯ มีกองนิติการ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ร่างนี้จะไปสู่สภาฯ แต่....
วรเจตน์ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 10,000 รายชื่อแน่นอน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีผู้แย้งแน่นอน คือ ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 8 ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ การเสนอนี้จะขัดแย้งกับมาตรา 8
วรเจตน์อธิบายว่า ไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะยังมีบทกำหนดโทษอยู่ เพียงแต่ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
อีกเหตุผลหนึ่งคือ การกำหนดในมาตรา 8 ว่าพระมหากษัตริย์จะล่วงละเมิดมิได้ องค์พระมหากษัตริย์ต้องไปพ้นจากการเมือง เพราะการเมืองมีคนรักและคนชัง จึงต้องทำให้รับกับระบอบประชาธิปไตยคือพระมหากษัตริย์นั้นอยู่เหนือการเมือง
ข้อโต้แย้งประการต่อมา จะมีข้อโต้แย้งว่า ในประมวลกฎหมายอาญาจะมีการคุ้มครองประมุขต่างประเทศฯ และโทษสูงกว่าที่นิติราษฎร์เสนอ วรเจตน์อธิบายว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์คือ เอาหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองประมุขของประเทศ ไปปรับแก้กับการคุ้มครองประมุขต่างประเทศไปในคราวเดียวกันซึ่งรัฐสภาทำได้อยู่แล้ว
“หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปว่าด้วยการดูหมิ่น หมิ่นประมาทในกฎหมายไทย แต่ในช่วงทางเดิน 112 วันต่อไป คงจะมีปัญหาบ้าง ก่อนที่เราจะทำร่างฯ นี้ออกมา เราได้ตรึกตรองว่าร่างฯ นี้ทำในกรอบที่จำกัดในกรอบรัฐธรรมนูญของเรา มีกฎเกณฑ์ที่ร้อยรัดอยู่ แต่เชื่อว่าข้อเสนอนั้นสอดรับกับบรรดากฎเกณฑ์ที่มีอยู่” และเชื่อว่า ต่อไปหากกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกันได้รับการแก้ไข ก็อาจจะมีการแก้ไขมาตรานี้อีก นิติราษฎร์จึงเสนอการแก้ไขภายใต้ข้อจำกัดอย่างรัดกุมที่สุด
วรเจตน์กล่าวถึงขั้นตอนต่อไป คือ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยให้สิทธิแก้บุคคลในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายซึ่งต้องตีความให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ โดยกำหนดให้ทำโดยประชาชนจำนวน 50,000 คน แต่บทบัญญัตินี้ถูกทับโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ซึ่งกำหนดไว้ 10,000 คน
“ที่เราต้องการคือ 10,000 คน เกินหนึ่งหมื่นคนคือสิ่งที่เราปรารถนา”
มาตรา 112 เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยตรง ประชาชนย่อมเสนอแก้ไขได้
วรเจตน์กล่าวต่อไปว่า อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า การเสนอกฎหมายต้องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วจะมีคนไปร้องให้ตีตกไป โดยเขาอธิบายว่า ร่างแก้ไขมาตรา 112 นี้เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพโดยตรง เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดยกเว้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และบทกำหนดโทษนั้นเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว
“เวลานี้ พรรคการเมืองทุกพรรคปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อย่างชัดเจน แต่หนทางยังอีกยาวไกล เขาอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่เปลี่ยนใจเราก็ต้องทำใจ เพราะร่างฯ ของเราก็จะไปตกเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา ผมเชื่อว่าสมาชิกสภามีผู้ที่มีจิตใจรักประชาธิปไตยไม่น้อย ในเวลานี้ที่เราต้องทำคือ การรณรงค์เรื่องนี้จะเป็นการนำเอาปัญหานี้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ ผมเชื่อว่า กิจกรรมที่เราทำต่อไปจะเป็นกิจกรรมที่จะได้รับความสนใจไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นกิจกรรมที่นานาชาติสนใจอย่างแน่นอน”
วรเจตน์ กล่าวและส่งข้อความถึงบรรดาผู้ที่ต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ว่าในมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ว่าผู้ใดกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ความเห็นต่างกันไม่เป็นไร เมื่อเราสู่อยู่ในกรอบของกฎหมาย ก็ขอให้คนที่เห็นต่างนั้นสู้อยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย”
และสุดท้าย วรเจตน์กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่าสิ่งที่กำลังทำคือการจุดความขัดแย้งว่า “ประเทศเราอ่อนไหวเหลือเกินกับความขัดแย้ง เราเสแสร้งกันเหลือเกินแล้ว ผมไม่อยากจะใช้คำที่มันรุนแรงไปกว่านี้ ขอความกรุณาเถิดว่าเลิกเสแสร้ง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยเป็นของธรรมดาเป็นของสามัญอย่างยิ่ง ขอเพียงให้คนที่เห็นต่างกันมีโอกาสพูด มีโอกาสเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปไล่เขา อย่าไปบอกให้เขาไปอยู่ที่อื่น อย่าไปบอกให้เขาต้องเปลี่ยนสัญชาติ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งปวง และกฎหมายที่เราเคารพนั้นก็เป็นกฎหมายที่ท่านเหล่านั้นรักษาอยู่”
วรเจตน์กล่าวต่อไปว่าสำหรับขั้นตอนจากนี้ไป กระบวนการที่จะดำเนินการต่อไปจะอยู่ในความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง ของ ครก. 112 ซึ่งจะทำงานและขับเคลื่อนต่อไป “คณะนิติราษฎร์เป็นเพียงหนึ่งใน ครก. 112 โดยจะให้คำแนะนำในประเด็นกฎหมาย ถ้าท่านให้ความสนับสนุนนิติราษฎร์ก็ขอให้สนับสนุน ครก. 112 ด้วย”
วรเจตน์กล่าวทิ้งท้าย โดยแสดงความคารวะต่อผู้ที่รณรงค์ในประเด็นปัญหามาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ว่ามีหลายคนที่ในระหว่างการต่อสู้ต้องเผชิญกับการถูกกล่าวหาเช่นนั้นด้วย เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งหลังจากนิติราษฎร์เสนอหลักการแก้ไขมาตรา 112 โดยนายสมยศได้รณรงค์ต่ออย่างแข็งขัน และต่อมาได้ถูกจับกุม ดำเนินคดีและจนบัดนี้ยังไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ กลุ่มสันติประชาธรรมที่ดำเนินการรณรงค์มาก่อนนิติราษฎร์ ยังมีนักวิชาการอื่นๆ ที่ได้ทำงานมาก่อน ถือว่าทั้งหมดมีส่วนในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น แต่วันนี้ ถึงเวลาที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นรูปธรรม หมดเวลาที่จะพูดอยู่ในห้อง แต่ต้องทำให้ประเด็นนี้เข้าสู่สาธารณะ
“ผมหวังว่านี่จะเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญที่สุดก้าวหนึ่งในการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในภาพรวมทั้งหมดในอนาคตในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ ในนามของนิติราษฎร์ ผมขออนุญาตขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกิจกรรมวันนี้และหวังว่าเราจะมีความสำเร็จในการรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป”
0000000
อ่านฉบับเต็ม ข้อเสนอนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
คณะนิติราษฎร์: นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ข้อเสนอ
เพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้
กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
ประเด็นที่ ๑
การดำรงอยู่ของมาตรา ๑๑๒
ข้อเสนอ
ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
เหตุผล
๑. มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
๒. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่างๆในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ ในลักษณะ ๑. ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ประเด็นที่ ๒
ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ข้อเสนอ
๑. เพิ่มเติมลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
๒. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ...
๓. แยกความผิดในลักษณะ... เป็น ๔ ฐานความผิด คือ
- ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
- ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
- ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เหตุผล
โดยสภาพของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ต่อบูรณภาพ และต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ประเด็นที่ ๓
ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง
ข้อเสนอ
แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้
มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา ... “ผู้ใดดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”
มาตรา ... “ผู้ใด ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”
เหตุผล
เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ
- ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๗)
- ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๘)
- ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๐๙)
- ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๑๐)
ประเด็นที่ ๔
อัตราโทษ
ข้อเสนอ
๑. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ
๒. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๒ ปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
๓. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๑ ปี สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
๔. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๑ ปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
๕. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
เหตุผล
๑. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว
๒. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และในกรณีที่ศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ไม่ควรลงโทษถึงขั้นจำคุก ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้ลงโทษปรับแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้
๓. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา แล้วแต่กรณี และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม
๔. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน
๕. โดยเหตุที่ลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท แตกต่างจากลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงสมควรแยกการกระทำความผิดทั้งสองลักษณะออกจากกันและกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน
ประเด็นที่ ๕
เหตุยกเว้นความผิด
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้
มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๕ รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา ๕๐ รับรองเสรีภาพในทางวิชาการ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา
ประเด็นที่ ๖
เหตุยกเว้นโทษ
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้
มาตรา ... “ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามลักษณะ... ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”
เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ
ประเด็นที่ ๗
ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ
ข้อเสนอ
๑.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
๒.ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เหตุผล
๑. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต
๒.โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ และมีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๔๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ มีกองนิติการทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วนพระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการ จึงสมควรให้สำนักราชเลขาธิการทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
หมายเหตุ ข้อเสนอนี้นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์ความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกรณีอื่นๆในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔
No comments:
Post a Comment