ต้องยอมรับว่าในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา (หรืออาจรวมทั้ง 5 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549)
คดี, ผู้ต้องหา และผู้ถูกตัดสินลงโทษว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด
ท่ามกลางกระแสร้อนแรงของความขัดแย้งเปราะบางทางการเมือง และการปะทะกันอย่างหนักหน่วงระหว่างชุด "คุณค่า-ความเชื่อ" อันแตกต่างหลากหลาย
คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า เราพึง "ป้องกัน" มิให้ "สถาบันสำคัญยิ่ง" ของประเทศ ถูกดึงลงมาใช้เป็น "เครื่องมือ" ที่ข้องเกี่ยวพัวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง
พวกเขาเห็นว่า จำนวนคดีจากกฎหมายอาญา ม.112 ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากจะทำให้ประเทศไทยถูกตั้งคำถามเรื่อง "หลักสิทธิมนุษยชน" แล้ว ยังกำลังแสดงให้เห็นถึง"กลไกการป้องกันสถาบัน" ซึ่งเริ่มขาดตกบกพร่อง
ขณะที่อีกหลายคน ยังคงยืนยันถึงจุดยืนในการ "พิทักษ์" สถาบันมิให้ถูกทำลาย โดยยืนกรานว่า กฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีปัญหาในตัวของมันเองแต่อย่างใดตามลักษณะเฉพาะที่ไม่มีใครเหมือนของสังคมไทย
บรรดาผู้ต้องหา-ผู้ถูกลงโทษซึ่งมีมากขึ้นต่างหาก ที่เป็นปัญหา
นำมาสู่ประเด็นวิวาทะเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ในทางรูปธรรม กระแสคลื่นความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องม.112 อาจสามารถถูกจำแนกแยกแยะออกได้มากกว่า 2 ประเภท
ผู้นำกองทัพ, นักการเมือง "รุ่นเก๋า" ส่วนใหญ่ และรอยัลลิสต์อาวุโส ผู้มากประสบการณ์-ความรู้ส่วนหนึ่ง แสดงท่าทีคัดค้านหัวชนฝาไม่ให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้
ด้วยชุดคำอธิบาย อาทิ
กฎหมายอยู่ของมันดีๆ จะไปแก้ทำไม?
กฎหมายอาญามีอยู่หลายร้อยมาตรา ทำไมจะมาแก้แค่มาตรา 112?
ใครที่มองว่ากฎหมายมาตรานี้รุนแรงไป ก็ให้ย้ายออกไปอยู่ต่างประเทศเสีย
นักวิชาการ-ภาคประชาสังคมกลุ่มใหญ่, คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ตลอดจนกลุ่มเครือข่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมบางเฉด กลับเสนอให้มีการปฏิรูป ม.112 ในแง่การบังคับใช้, การกล่าวโทษฟ้องร้องดำเนินคดี และบทลงโทษ
นักวิชาการคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม. 112 (ครก. 112) จะแถลงข้อเสนอและเริ่มดำเนินกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อประเด็นนี้อย่างชัดเจน ในวันที่ 15 มกราคม 2555
คณิต ณ นคร
คณะกรรมการคอป. ที่มี "คณิต ณ นคร" เป็นประธาน ก็เพิ่งส่งหนังสือด่วนไปยังนายกรัฐมนตรี ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ โดยเฉพาะในประเด็นบทลงโทษสูงสุด ซึ่งควรลดจากการจำคุกไม่เกิน 15 ปีในปัจจุบันมาเป็นไม่เกิน 7 ปี กระทั่งถูกต่อต้านเห็นค้านจากนักการเมืองอาวุโสฟากรัฐบาลเสียเอง ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรี "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ถึงอดีตนายกรัฐมนตรี "บรรหาร ศิลปอาชา"
"นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์", "ไชยันต์ ไชยพร" และ "คำนูณ สิทธิสมาน" ต่างก็แสดงความเห็นต่อสาธารณะว่า พวกเขาเห็นด้วยหรือยอมรับได้กับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นกฎหมายมาตรานี้
คล้ายคลึงกันกับจุดยืนของอดีตนายกรัฐมนตรี "อานันท์ ปันยารชุน" ที่เคยแสดงทัศนะต่อสื่อไทย-สื่อต่างประเทศ ว่ากฎหมายอาญาม.112 มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ และควรได้รับการปฏิรูป แต่ดูเหมือนเสียงของอดีตผู้นำประเทศ "ที่ดีที่สุดคนหนึ่ง"ในความเห็นของสื่อมวลชน-คนชั้นกลางกทม.จำนวนมากกลับไม่ถูกรับฟังมากนัก ดังสเตตัสเฟซบุ๊กของนักวิชาการจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้หนึ่ง ซึ่งบรรยายเอาไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า
"บ่ายวานนี้ ชาว TDRI จำนวนหนึ่งได้มีโอกาสไปเยี่ยมคารวะคุณอานันท์ ปันยารชุนในโอกาสขึ้นปีใหม่ ซึ่งท่านได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาที่เกิดจากมาตรา 112 และบ่นว่าความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไข ม.112 ให้สมเหตุสมผลมากขึ้น (ซึ่งท่านเองก็ได้เสนอเอาไว้ เช่นในรายการตอบโจทย์ทางไทยพีบีเอส) ได้รับการตอบสนองจากสื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ ค่อนข้างน้อย แต่กลับมีเสียงค้านออกมาจากหลายด้าน..."
อานันท์ ปันยารชุน
ทั้งยังมีนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองสาย "เสื้อแดง" บางกลุ่ม และนักวิชาการอย่าง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ที่เสนอให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรานี้ (อ่านทัศนะสมศักดิ์ต่อประเด็นดังกล่าวได้ที่หมายเหตุด้านล่าง)
แต่หากพิจารณาจากสภาพการเมืองในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้
"วิวาทะ 112" ที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะคงยังวนเวียนอยู่กับ 2 กระแสความคิดใหญ่ๆ
นั่นคือจะ "อนุรักษ์" หรือ "ปฏิรูป" กฎหมายมาตรานี้กันดี?
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิวาทะถกเถียงอันมีพลวัต
การออกหมายเรียก การจับกุมผู้ต้องหา และการตัดสินลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ดำเนินไปอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นเดียวกัน
ดา ตอร์ปิโด
มีทั้งผู้ถูกจับกุม-ลงโทษ ที่มีความข้องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น "ดา ตอร์ปิโด" "สุรชัย แซ่ดาน" และ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"
โจ กอร์ดอน
มีทั้งผู้ที่ถูกลงโทษเพราะแปล "หนังสือต้องห้าม" อย่าง "โจ กอร์ดอน"
มีทั้งนักวิชาการที่ถูกออกหมายเรียกเพราะแสดงความเห็นในประเด็นเรื่องสถาบัน อาทิสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ สุรพศ ทวีศักดิ์
แต่ที่กลายเป็นข้อถกเถียงแหลมคมในปลายปี 2554 ก็คือ กรณีคดี "อากงส่งเอสเอ็มเอส"
อากงและครอบครัว
เมื่อชายชราวัย 61 ปี ต้องถูกตัดสินลงโทษจำคุกรวม 20 ปี จากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
จนนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องประจักษ์พยานหลักฐานที่ชัดเจนของคดี, ปัญหาในเรื่องเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจากคำฟ้องของฝ่ายโจทก์ และสถานะของม.112
กรณี "อากง" ยังก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมบางส่วนตามมา
ตั้งแต่การเดินขบวน "อภยยาตรา" ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการต่อสู้เคลื่อนไหวในพม่า จนถึงกระแสและหนังสือภาพ "ฝ่ามืออากง" ที่ลุกลามออกจากโลกออนไลน์
"ฝ่ามืออากง" ในขบวน "อภยยาตรา"
การกระจายตัวของหน้ากาก "อากง", ข้อความคำว่า "อากง" บนฝ่ามือของผู้คน และการพูดคุยกันของชาวบ้านร้านช่องในเรื่องคดี "อากง"
ตลอดจนการดำรงอยู่ของ "อากง" อีกหลาย "อากง" ใน "ซอกหลืบแห่งการกระซิบกระซาบ" ซึ่งเดินทางไปไม่ถึงหูของสื่อเก่า/กระแสหลัก
อาจแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังรู้สึกหวั่นไหวและเกิดปริศนาเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งน่าจะนำไปสู่วิวาทะทางสังคม-การเมืองที่สำคัญยิ่งประเด็นหนึ่งในปี 2555
วิวาทะที่มิได้สัมพันธ์อยู่กับเรื่องตัวบทกฎหมายเพียงเท่านั้น
หากยังผูกพันอย่างลึกซึ้งอยู่กับความคิดอุดมการณ์ของผู้คนในสังคม
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
ดังที่ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" นักวิชาการแห่งคณะนิติราษฎร์ เคยเสนอเอาไว้ว่า
"112 โดยตัวของมันเอง มันมีปัญหาทั้งในระดับตัวบท และในระดับอุดมการณ์เบื้องหลังตัวบท คือแก้ตัวบทแล้ว ถ้าเกิดทัศนะของผู้พิพากษา ของคนตีความกฎหมาย ยังไม่ตีความตัวบทอันนี้ไปตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ถ้ายังตีความในกรอบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ ก็แก้ปัญหาได้ไม่หมดหรอก"
----------
หมายเหตุ (ประมวลความคิดเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิก ม.112 และการแสดงความเห็นคัดค้านท่าทีของ ครก.112 จากเฟซบุ๊ก "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล")
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ขอยืนยันอีกครั้งว่า ถ้าแอ๊คติวิสต์ธรรมดา เสนอให้ เลิก 112 ไปเยอะ ไปนานเป็นปีแล้ว
นักวิชาการ ควรต้องเสนอ ให้ เลิก 112 ได้เช่นกัน
ที่สำคัญ มันมีด้านกลับอยู่ด้วยว่า ตอนนี้ ต่อไป ถ้าแอ๊คติวิสต์ธรรมดาๆ จะเสนอให้เลิก จะลำบากขึ้นแล้ว เพราะนักวิชาการ ที่ "เสียงดัง" กว่ามาก ไปเสนอแค่ให้แก้เท่านั้น
เรื่อง 112 นั้น
ผมว่า มันเป็น sad irony (เรื่องตลกร้าย ที่เศร้า) ที่ใหญ่มากเหมือนกัน ว่า
ตอนนี้ กลายเป็นว่า นักวิชาการ มา "ดึง" ให้ข้อเสนอประชาธิปไตย ของคนระดับธรรมดาๆ (เลิก 112) กลับลงมา
ในแง่การ "ต่อสู้ทางความคิด" ทางการเมืองวัฒนธรรม ในระยะยาว
ผมว่า นี่เป็นอะไรที่ sad จริงๆ นะ
เรื่อง "นักวิชาการ" มา "ดึง" ให้ข้อเรียกร้องของแอ๊คติวิสต์ธรรมดาๆ ถอยกลับลงมาน่ะ
คือ ถ้านี่เป็นประเด็น "การปฏิบัติ" ได้เลยแน่ๆ เช่น ถ้าเสนอแบบ ครก.112 แล้ว ปฏิบัติให้เป็นจริงได้แน่ๆ เรื่องนี้ ก็อาจจะเถียงกันได้ว่า "ถ้าแก้ได้ อย่างนี้ ก็ยังดีกว่า ทำอะไร ไม่ได้เลย"
แต่ผมว่า เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอ "แก้" ของ ครก.112 แบบนี้ ก็ไม่มีทางปฏิบัติได้อยู่แล้ว ในขณะนี้
ดังนั้น เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องในเชิงการต่อสู้ทางความคิดอุดมการณ์ (ideology)
ซึ่งการที่ ครก.112 เสนอแบบนี้ มองในแง่ความคิดอุดมการณ์ มัน "ดึง" จากที่แอ๊คติวิสต์ ธรรมดาๆ เสนอไปจริงๆ
พวกแอ๊คติวิสต์ มวลชนธรรมดาๆ เขาเสนอให้ "เลิก" ไม่ใช่คิดในแง่ เทคนิค กฎหมายอะไร
แต่มาจาก "ไอเดีย" ใหญ่ ... ซึ่งเป็น ideology ที่สำคัญมากๆ และควรเป็นสิ่งที่ปัญญาชนนักวิชาการ ชู นำเสนอ และต่อสู้ทางความคิดในระยะยาว
แต่ตอนนี้ กลายเป็นว่า การเสนอแบบ ครก.112 นั้น คือ "ดึง" ไอเดียนี้ลงมา
สมมุติว่า กระแส "แก้" แบบ ครก.112 เกิด "อยู่นาน" คือ เป็นปี หรือมากกว่านั้น (พูดแบบไม่เกรงใจตรงๆ ว่า ผมหวังว่ากระแสแบบนี้จะตกไปเร็วๆ)
คราวนี้ ต่อไป ถ้าแอ๊คติวิสต์ธรรมดาจะชู "เลิก 112" จะทำได้ยากยิ่งขึ้นกว่าเดิมแล้ว
มัน sad irony ตรงนี้แหละ ผมว่า
ประเด็นนักวิชาการกลายมา "ดึง" กระแสในแง่ความคิดเรื่อง 112 ลงมา
มันเกี่ยวกับประเด็นที่ผมเคยพูดไปแล้วว่า
ปัญญาชน นักวิชาการ ผมว่า ต้อง "มองให้ยาว" คิดในแง่อนาคต โดยเฉพาะในประเด็น ความคิด อุดมการณ์
(ซึ่งอย่างที่เขียนในกระทู้ข้างล่าง เรื่อง 112 นี้ ยังไงก็ไม่ใช่เรื่องปฏิบัติได้อยู่แล้ว ที่เสนอ แก้ แบบ "ดี" หน่อยน่ะ คือ ไม่ใช่เสนอแค่แบบ คอป. คือกลับไปที่ 7 ปี อย่างนั้นน่ะ ในทางปฏิบัติ อาจจะพอมี "ปาฏิหาริย์" ได้ แต่แบบ ครก.112 นี้ ต้องการยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อีก ถ้าจะทำได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงเหลือเพียงเรื่อง "งานความคิด"มากกว่า)
...
ถ้าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถานการณ์ทางความคิด อุดมการณ์ เอื้ออำนวยยิ่งขึ้น เรามิต้องหาทางมา "เสนอใหม่" แล้วเริ่มผลักดันไอเดียกันใหม่หรือ?
การ "ประนีประนอมทางปฏิบัติ" อะไรทั้งหลายแหล่ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องนักการเมือง อะไรพวกนั้น อยู่แล้ว พวกนั้น "เก่ง" ทำเรื่องแบบนี้อยู่
แต่ปัญญาชน นักวิชาการ ควร ยืนยัน ในหลักการสูงสุด ที่ยืนยันได้ในขณะนั้น
ไม่ว่าจะถูก ประณาม ก่นด่า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม
ก็ท้าทายให้มาเถียงกัน ผลักดันกัน ในระยะยาว
ยิ่งความเป็นจริงที่ว่า เรื่องนี้ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่มีคนระดับธรรมดา (สมยศ, ฯลฯ) เสนอไปนานแล้วด้วย หาใช่อะไรที่ มัน "ไม่เคยปรากฏมาก่อน" "เสนอไม่ได้" อะไร แต่อย่างใดเลย
บางคนอาจจะหาว่าผม ไม่ realistic (มองโลกตามความเป็นจริง - มติชนออนไลน์) หรือ idealism (อุดมคตินิยม - มติชนออนไลน์) มากไป (มีคนหาอย่างนี้จริงๆ)
แต่ผมว่า ถ้าใครคิดว่า ข้อเสนอ แบบ ครก.112 จะทำให้เป็นจริงได้ ในสภาพอุดมการณ์...เช่นนี้
ผมว่ายิ่งไม่ realistic กว่าผม เป็นไหนๆ เรียกว่า เพ้อฝัน เลยล่ะ
แต่การ "ไม่ realistic" ของผมนี้ เป็นการ "ไม่ realistic" "อย่างจงใจ" อย่างรู้ตัว ว่าเรากำลังสู้ทางความคิด ทางอุดมการณ์ ซึ่งต้องการใช้เวลายาวนาน และเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องยืนยันให้เห็นว่า หลักการถูกต้องจริงๆ คืออะไร
ในทางกลับกัน การเสนอแบบ "ไม่ realistic" แบบ ครก.112 นั้น คือการเสียโอกาส ที่จะนำเสนอหลักการที่ถูกต้อง เสียโอกาส ที่จะ "สร้างหลักหมายทางความคิด" ไว้ เพื่อสู้ต่อไปยาวๆ
มิหนำซ้ำ ในทางความคิด ยัง "ดึง" สิ่งที่คนระดับธรรมดาๆ เขาเสนอไปก่อนหน้านี้ ลงมาเสียอีก
No comments:
Post a Comment