ระวังจะอยู่ไม่ถึงปี
- 07 มกราคม 2555 เวลา 11:34 น. |
- เปิดอ่าน 8,578 |
- ความคิดเห็น 17
สัมภาษณ์พิเศษ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" กับการเมืองไทยในปี55และจุดเสี่ยงที่สังคมไทยต้องเผชิญในอนาคต
โดย...สุภชาติ เล็บนาค
เข้าสู่ปีใหม่พร้อมๆ กับการเข้าสู่เดือนที่ 5 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ยังคงบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งและเคลื่อนไหวท่ามกลางกระแสรักและต้านสองขั้ว ขณะที่ “ผู้เล่น” และ “คู่ขัดแย้ง” ก็ยังคงเป็นหน้าเดิมๆ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า สังคมไทยจะขมึงเกลียวไปสู่ความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่าง “รัฐบาล” “คนเสื้อแดง” และ “ชนชั้นกลาง” “อำมาตย์” เหมือนเช่นที่ผ่านมาหรือไม่
ในฐานะนักคิด นักเขียน และนักประวัติศาสตร์คนสำคัญ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีมุมมองที่น่าสนใจสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา และสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง สำหรับปีหน้าและปีถัดๆ ไป รวมถึงอะไรคือจุดเสี่ยงของสังคมไทยที่จะต้องเผชิญในอนาคต
นิธิเองเคยให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์” ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เหตุที่พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงจำนวนมากเป็นประวัติการณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายและไม่ได้สะท้อนผ่าน “คนเสื้อแดง” จำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก “ชนชั้นกลาง” ที่ต้องการเลือกตั้งและมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น หลังจาก “ทหาร” หรือชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ยึดอำนาจการตัดสินใจของประชาชนด้วยการให้พรรคประชาธิปัตย์และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทน
“จนถึงนาทีนี้ จุดยืนของรัฐบาลไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลก่อนเลย ในแง่หนึ่งผมก็เห็นใจว่าเขาต้องทำทุกอย่างด้วยความระมัดระวัง การจะเข้ามาสู่สนามการเมือง คุณต้องเห็นเป้าหมายทางการเมืองคืออะไร การเอาแต่ไม่บุ่มบ่าม ไม่ทำอะไรของเขา ทำให้เป้าหมายเขาไม่ชัดเสียอย่าง และเหตุผลเหล่านี้จะยิ่งทำลายตัวเองลง เพราะแน่นอนคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เขาต้องการมากกว่านั้น” นิธิพูดถึงสิ่งที่เขาเคยวิเคราะห์เมื่อหลายเดือนก่อน
ก่อนที่นิธิจะขยายความต่อว่า เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนักอย่าง “การแก้รัฐธรรมนูญ” ก็ยังไม่สามารถทำได้ และไม่คึกคักเข้มแข็งอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่การเป็นรัฐบาลสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ง่ายมาก เนื่องจากมีเสียงในสภาเกินกว่าครึ่งหนึ่ง และคนในพรรคเองก็รณรงค์มาตลอดการเลือกตั้งว่าจะต้องนำบางมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับมาดูกันใหม่ แต่จนถึงขณะนี้กลับไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร
“ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด เขาต้องการมั่นใจว่าเสียงของเขาต้องถูกนับไปด้วย ไม่ใช่มาละเลยเสียงเขาง่ายๆ แต่น่าเศร้าที่รัฐบาลนี้ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมถึงต้องเรียกร้องรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมุมมองชนชั้นกลางล่างมันเปิดโอกาสให้คนที่ไม่โยงใยกับประชาชนเข้ามาแทรกแซงได้เยอะมาก ไม่ว่าจะชนะเลือกตั้งหรือไม่”
นอกจากนี้ การ “เกี้ยเซี้ย” กับกลุ่มชนชั้นนำอย่างทหารหรืออำนาจอื่นๆ จะยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องประสานกับกลุ่มอำนาจเดิมเหล่านี้หรือไม่ หรือกรอบการทำงานสามารถทำงานได้มากน้อยแค่ไหน หากลำพังเพียงแค่ตัวรัฐบาลเอง
“วันนี้คุณอาจจะไม่ปลด ผบ.ทบ.ก็พอยอมรับได้ แต่การที่คุณมาถอยฉากเรื่อง ‘พ.ร.บ.กลาโหม’ นั้นผมว่ามากเกินไป รัฐบาลต้องทุบโต๊ะ แล้วอาจจะคงสัมพันธภาพกับ ผบ.ทบ.ต่อไป แต่ไม่ใช่แหย่ขาออกจะเพื่อถนอมน้ำใจ หรือป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารก็ตาม ซึ่งผมบอกได้เลยว่า การซูฮกให้กับอำนาจดิบๆ เหล่านี้ไม่สามารถป้องกันรัฐประหารได้แน่นอน”
“ที่มากกว่านั้นก็คือการให้ รมว.ต่างประเทศ ดำเนินการเรื่องพาสปอร์ตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือให้ใครต่อใครออกมาพูดว่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกมาช่วยจะยิ่งทำให้รัฐบาลนี้เสียคะแนนไปกันใหญ่ มิหนำซ้ำ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังเปิดเผยตัวเต็มที่ว่าอยู่เบื้องหลังกระบวนการเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคาดการณ์ได้ว่าหากยังเป็นไปในรูปแบบนี้คือ เลือกประสานกับศัตรูเดิม ทิ้งคะแนนเสียงเก่า ทิ้งคนกลาง รัฐบาลจะประคองตัวได้ลำบากแน่นอน เผลอๆ อยู่ได้ไม่ถึงปีเสียด้วยซ้ำ”
“เวลานี้ก็มีเสียงสะท้อนออกมาผ่านอินเทอร์เน็ตมาแล้วว่า คนเสื้อแดงบางคนเขารู้สึกผิดหวังที่เสียงของเขาถูกละเลย บางคนถึงกับแต่งกลอนออกมาก็มี แต่ถามว่าหากเลือกตั้งใหม่เขาจะไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ไหม เขาก็คงไม่เลือก แต่สิ่งนี้สะท้อนออกมาว่าระบบของเรามันมีทางเลือกน้อยมาก” นิธิ กล่าว
ถึงกระนั้นเอง นิธิก็ยังมองไม่เห็นว่าในปีนี้จะมีเค้าลางของความรุนแรง หรือ “สงครามกลางเมือง” อย่างที่หลายฝ่ายทำนายไว้ เพราะขบวนการนำของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่าง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือแม้แต่ “เสื้อหลากสี” ยังคงแผ่วอยู่มาก และไร้ซึ่งสภาวะการนำ บวกกับไม่มีประเด็นอะไรสำหรับชุมนุมไล่รัฐบาล
“ถ้าออกมาไล่รัฐบาลอีกรอบคุณจะเอาอัตลักษณ์อะไรมาสร้างจุดร่วมกัน หากคุณจะบอกว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มคุณคือ รักเจ้า ผมคิดว่ากลุ่มเสื้อเหลืองก็ใช้จนมันหมดไปแล้ว หรือคุณจะบอกว่าไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ มันก็แผ่วลงๆ ไปเรื่อย เหลือแต่คนที่ถูกเรียกว่าเป็นสลิ่ม ที่ด่ารัฐบาลอยู่ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีมาก และผมเชื่อว่าก็มีเท่าๆ กับคนเสื้อแดง ในอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ ซึ่งสองกลุ่มนี้เขาไม่ออกมาปะทะกันโดยตรงหรอก” นิธิ กล่าว
แต่เงื่อนไขสำหรับการรบราฆ่าฟันในปีนี้ คงหนีไม่พ้นการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาล ที่จะทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงเดิมลุกฮือมากกว่า
“ถ้าเกิดการรัฐประหารถามว่าปะทะกันไหม ผมว่าเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบ เม.ย.-พ.ค. 2553 อีก ทีนี้รัฐประหารนี้มันเกิดขึ้นจากการเก็งผิดได้เสมอว่า ‘เฮ้ย...เพื่อไทยคะแนนเสียงตกแล้ว ทำได้แล้ว’ แล้ววิธีการเดียวที่จะล้มเขาก็คือการรัฐประหาร เพราะหากปล่อยให้เลือกตั้งอีก พรรคการเมืองอื่นมาแข่งกี่รอบ ก็แพ้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่คุณต้องทำความเข้าใจว่าการรัฐประหารมันมีแนวร่วมมุมกลับได้แน่นอน และจำนวนคนจะเยอะกว่าที่คุณเก็งไว้ด้วย ฉะนั้นถ้าจะปล่อยให้รัฐบาลล้มก็ต้องปล่อยให้ล้มด้วยตัวเอง ไม่ใช่วิธีรัฐประหาร” นิธิ กล่าว
...ส่วนกระแสการปรองดองที่จะเป็นแนวโน้มของปีหน้านั้น ก็อาจเป็นได้หากมองในแง่ดีสุดๆ ว่า การแก้รัฐธรรมนูญมีจุดมุ่งหมายหลักให้ชนชั้นกลางระดับล่างมีส่วนร่วมในการเมืองระดับชาติมากกว่านักการเมืองมากกว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และไม่เกี่ยวข้องกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับไทยหรือไม่ มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ความแตกแยกของสังคมไทยมันไม่ได้มีแค่ พ.ต.ท.ทักษิณติดคุกแล้วจบ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาแล้วจบ”
"แน่น่ล่ะ พ.ต.ท.ทักษิณจะยังคงเป็นตัวหลักของสังคมไทยในปีนี้ เพราะกลุ่มบ้านเลขที่ 111 จะได้รับการปลดล็อกในเดือน พ.ค. เมื่อถึงวันนั้นทั้งรัฐบาลนี้ และกลุ่ม 111 จะวิ่งเข้าไปหาเขากันหมด ทั้งที่เขาไม่ต้องรับการเลือกตั้ง หรือนั่งกดรีโมตอยู่ที่ต่างประเทศ กลุ่ม 111 ส่วนใหญ่ไม่มี สส.ในมือ มีแต่ชื่อเสียงอย่างเดียว ขณะที่ใน 111 ก็มีอีกหลายคนเหมือนกันที่มองหน้า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ติด เพราะฉะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะมากน้อยเพียงใด ผมก็ตอบไม่ได้ ตอบได้อย่างเดียวว่า หากต้องการอยู่ยาวๆ ต้องไม่ตอบสนองความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ 111 แต่ต้องดูที่ต้นทุนฐานเสียงที่คุณมีด้วย"นิธิ คาดการณ์
เมื่อมองไปถึงรัฐบาลแล้ว ก็ต้องถามถึงคู่ขัดแย้งที่สำคัญของรัฐบาลอย่างอำนาจอื่น ที่ถูกจับให้เป็นคู่ขัดแย้งของรัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดง อย่างกองทัพและสถาบันตุลาการว่า มีความเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ และต้องปรับตัวอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ไปอย่างราบรื่นที่สุด
“ที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นว่าสถาบันอย่างทหารนี่เขาปรับตัว กองทัพในสภาวะที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เราทำเป็นเหมือนว่าเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐ มองว่ามันละเอียดอ่อน คนสนใจประเด็นนี้น้อยเกินไป ทุกคนไปกลัวกองทัพโดยไม่มีเหตุผล สื่อในเมืองไทยหลอกตัวเองว่าพูดถึงกองทัพไม่ได้ เลยไม่ได้ศึกษาบทบาทของกองทัพในประเทศอื่นๆ อย่างตอนน้ำท่วม เราพูดถึงกองทัพเข้าไปช่วยเหลือประชาชน เสมือนว่าเป็นอีกรัฐหนึ่งเสียด้วยซ้ำ”
หรืออย่างสถาบันตุลาการนั้น นิธิก็มองว่ายังต้องปรับโครงสร้างอีกหลายส่วน ยกตัวอย่างเช่น อาจต้องมีคณะกรรมการระดับชาติในการประเมินคำพิพากษาต่างๆ ในรอบปี แล้วสามารถชี้ขาดได้ว่าตรงไหนผิดหรือถูกในทางกฎหมาย พร้อมกับพิมพ์เผยแพร่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ให้คนกลุ่มอื่นสามารถประเมิน ตรวจสอบ การทำงานของฝ่ายตุลาการ
“มันอยู่ที่โครงสร้างอีกแยะทีเดียว ที่ผ่านมาเราแยกอำนาจตุลาการให้พ้นจากคนในสังคมโดยสิ้นเชิง แต่ถ้ากองทัพฯ ตุลาการ ถ้าคุณให้อำนาจกับเขามากเกินไป มันก็เสียคนทั้งนั้นล่ะ”
ส่วนประเด็นการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ที่ถูกพูดถึงกันมากขณะนี้ ในมุมมองของนิธิคิดว่า มาตรา 112 กฎหมายจะทำอะไรจิตใจมนุษย์ไม่ได้ สิ่งที่ถือว่ากระทำความผิดถือเป็นการกระทำโดยร่างกาย เหมือนกับหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย บอกว่าใครผิดกฎหมายเพราะไม่จงรักภักดีนั้นไม่ได้ และยิ่งมีปฏิกิริยาออกมาจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา มีปฏิกิริยาออกมาจากสหประชาชาติ หรือสหภาพยุโรป ยิ่งน่าห่วงว่า รัฐบาลและสังคมไทยจะเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ได้ไปอีกนานหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลต้องตอบกับนานาชาติให้ได้ มากกว่าจะบอกว่าไม่ขอยุ่งเพียงอย่างเดียว
ปฏิรูปประเทศเงียบเชียบ "รัฐรวมศูนย์-แก้น้ำแหลว"
ในฐานะอดีตคณะกรรมการปฏิรูป ชุด “อานันท์ ปันยารชุน” ที่ยุบตัวเองไปตั้งแต่เดือน พ.ค. นิธิยอมรับว่าประเด็นสำคัญที่ถูกเสนอออกมา เช่น “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” เงียบเกินไป สาเหตุใหญ่เขาคิดว่ามาจากการที่พรรคการเมืองไม่สนใจจะนำข้อเสนอไปใช้ และต้องการจะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ “กระทรวงมหาดไทย” ตามเดิม เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนฐานทางการเมือง และค้ำจุนรัฐบาลส่วนกลางไว้ให้มั่นคง
นิธิ บอกว่า รูปแบบการปกครองแบบผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เป็นเจ้าของอำนาจทุกอย่างภายในจังหวัด ทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก แม้คนจะคิดว่าผู้ว่าฯ เป็นทุกสิ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถสั่งการหัวหน้าส่วนราชการภายในจังหวัดได้เลย เพราะทุกหน่วยงานรับคำสั่งตรงจากหน่วยงานต้นสังกัดของตนเองหมด ฉะนั้น บทบาทของผู้ว่าฯ ควรเป็นเพียงแค่หัวหน้าสาขาของกระทรวงมหาดไทยในแต่ละจังหวัดเท่านั้น
“ระบบมหาดไทยทุกวันนี้ ผู้ว่าฯ ก็แทบจะไม่มีบทบาทอะไรแล้ว อำนาจของเขาเป็นแค่สัญลักษณ์ งานการทุกกระทรวง ทบวง กรม ล้วนแต่มีสำนักงานตัวเองอยู่ในจังหวัดต่างๆ แทบทั้งนั้น เพราะสำนักงานขนส่ง สำนักงานสาธารณสุข หรืองานป่าไม้ ก็มีสาขาในแต่ละจังหวัดทั้งนั้น ถามว่าถ้าผู้ว่าฯ ในพื้นที่จะสั่งหน่วยงานในจังหวัดได้ไหม หากเรียกประชุมไป ถ้าอธิบดีเขาไม่เอาด้วย ผู้ว่าฯ จะทำอะไรเขาได้ล่ะ”
เขายกตัวอย่างเหตุการณ์มหาอุทกภัยที่ผ่านมาว่า หาก ผวจ.พิจิตร พิษณุโลก สามารถควบคุมสถานการณ์น้ำได้ รวมถึงประสานงานกันภายในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียง วิกฤตจะไม่เกิดมากขนาดนี้ และเมื่อส่วนกลางเข้ามาเป็นผู้จัดการด้วยรูปแบบของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ที่แม้จะมีการประชุมร่วมกับผู้ว่าฯ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง หน่วยงานที่ลงมือทำกลับเป็นกรมชลประทาน หรือหน่วยงานด้านน้ำที่เป็นผู้ลงมือทำมากกว่า ผู้ว่าฯ แทบไม่มีบทบาทอะไร
นิธิ บอกว่า ที่สะท้อนมากขึ้นอีกเมื่อประชาชนเดินขบวนไปปิดถนน กดดันผู้ว่าฯ เพื่อให้เปิดประตูระบายน้ำออกจากพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อำนาจสั่งการน้อยมาก จนสุดท้ายภาพที่สะท้อนออกมาคือการไปรื้อคันกั้นน้ำ หรือเปิดประตูระบายน้ำด้วยตนเอง โดยที่ผู้ว่าฯ ทำไม่ได้เลย ทั้งที่เคยจัดการได้ตั้งแต่น้ำท่วมครั้งก่อนๆ วิธีก็คือปล่อยให้คนปทุมธานีลอยคอกันไปถึงเดือน ม.ค. หรือเดือน ก.พ. แต่เมื่อเมืองขยายออกไป คนมีการศึกษามากขึ้น บทบาทของผู้ว่าฯ ก็ไม่ต่างกับหัวหน้าสำนักงานสาขาของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
นิธิยังวิพากษ์การจัดการน้ำของรัฐบาลกลางอีกว่า วิธีการจัดการน้ำของ ศปภ.นั้นบริหารไม่ดี ทำให้ภาระต้องไปตกอยู่กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อเป็นอย่างนี้ วิธีของ กทม.ก็คือใครจะเปียกก็เปียกไป แต่ กทม.ต้องแห้ง ซึ่งไม่ถูก ความจริงรัฐบาลหรือ กทม.ประกาศไปเลยว่า ทุกพื้นที่ กทม.จะท่วมระดับหัวเข่า คนกรุงก็น่าจะรับได้ คนปทุมธานีจะได้ไม่ต้องท่วมถึงหน้าอก
“ถามว่าการจัดการน้ำเนี่ยเป็นการเมืองหรือไม่ ผมจำได้ตั้งแต่ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 การจัดการน้ำท่วมมันก็เป็นรูปแบบนี้ คือปล่อยให้น้ำท่วมคนจน แล้วให้คนรวยแห้งไว้ เกิดขึ้นเป็นหลายสิบปี แต่คุณทำสิ่งนี้ได้ยากขึ้นตลอด คนที่เคยจนมันเริ่มรวยขึ้น เริ่มจะโวยวายได้ คนปทุมธานี คนนนทบุรี เขาถึงลุกออกมารื้อคันกั้นน้ำ ถามว่าถ้าเป็นชาวไร่ ชาวนาเขาทำไหม เขาก็อยู่ในน้ำต่อไปนั่นแหละ” นิธิ กล่าว
“ถ้าคุณจะบอกว่าเป็นผู้ว่าฯ หรือนายอำเภอที่นำถุงยังชีพ ข้าวห่อ ข้าวสาร สิ่งของเข้าไปช่วยเหลือ ก็ไม่ใช่อีกล่ะ ทุกวันนี้จังหวัดเอาไปแจกเขาก็ไม่รู้จะแจกที่ไหน เพราะไม่รู้ว่าบ้านไหนต้องการอะไร คนที่มีบทบาทมากกว่ากลับเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่รู้พื้นที่มากกว่า หรือขุดลอกคูคลองได้รวดเร็วกว่า เพราะส่วนหนึ่งก็คือคะแนนเสียงของเขา หากทำให้น้ำท่วมเขาก็มีปัญหา กลับกัน นายอำเภอหรือผู้ว่าฯ นั้นไม่ใช่ เขาเป็นคนของส่วนกลางที่ทำงานตามที่ส่วนกลางสั่งเพียงอย่างเดียว
“การรักษาการปกครองส่วนกลางไว้ มันแสดงให้เห็นว่านักการเมืองต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพวกมหาดไทยไว้ต่อไป เพราะถ้าไปทะเลาะกับมหาดไทยแล้วเสียตั้งแต่ต้น คะแนนเสียงก็หายหมด ซึ่งจุดนี้ไม่มีใครสามารถชี้นิ้วให้แก้ได้ นอกเสียจากประชาชนจะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วนะ แล้วต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องในที่สุด แต่จะกี่ปีนั้น ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน” นิธิ กล่าวทิ้งท้าย
No comments:
Post a Comment