Tuesday, March 15, 2011

จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ 'พื้นที่' สังคมไทย (ตอนที่ 1)

http://www.prachatai.com/journal/2011/03/33555

เสวนา: จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ 'พื้นที่' สังคมไทย (ตอนที่ 1)

เวทีเสวนาจากงานเครือข่ายฯ สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "ความรู้ท่วมหัวเอาตัว(สังคม)ไม่รอด" เก่งกิจตั้งคำถามเหตุใดสังคมวิทยาในไทยไม่นำเสนอภาพรวมของสังคม ขาดปัญญาชนสาธารณะรุ่นปัจจุบัน ด้านเกรียงศักดิ์บอกพื้นที่วิชาการกับพื้นที่ปฏิบัติการไม่มีสะพานเชื่อมกัน ระบบการเรียนอุดมศึกษาที่ผลิตซ้ำแต่ผู้สมยอมถูกกระทำ

 
ที่มาภาพ: identity chris is

 

วันที่ 13 มี.ค. 2554 ในงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "ท้าทายสังคมศาสตร์ไทย: ความรู้ท่วมหัว เอาตัว(สังคม)ไม่รอด" ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง “จากห้องเรียนสังคมศาสตร์ สู่ ‘พื้นที่’สังคมไทย” นำเสวนา โดย พฤกษ์ เถาถวิล, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร, วินัย บุญลือ ดำเนินรายการโดย อัจฉรา รักยุติธรรม

ก่อนการเสวนา ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามกับผู้ร่วมเสวนาว่าในฐานะที่ยังคงวนเวียนอยู่กับวงการสังคมศาสตร์เช่นนี้ มี "ความคาดหวัง" จากห้องเรียนสังคมศาสตร์อย่างไร มี "ความหวัง" จากห้องเรียนสังคมศาสตร์หรือไม่ โดยกล่าวถึงชื่องานเสวนา "ความรู้ท่วมหัวเอาตัว(สังคม)ไม่รอด" ว่าการเรียนสังคมศาสตร์สามารถสร้างความรู้เพื่อจะเป็นคำตอบของสังคมไทยได้หรือไม่ ห้องเรียนสังคมศาสตร์ช่วยสร้างสังคมทีดีขึ้นได้จริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังมากเกินไปหรือเปล่า


เก่งกิจ : ใยสังคมวิทยาไม่นำเสนอภาพรวมของสังคมไทย

ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวในการเสวนาโดยแยกเป็น 2 ประเด็นคือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาชนกับการเมือง 2) ประสบการณ์เกี่ยวกับห้องเรียนสังคมศาสตร์

ประเด็นเรื่องปัญญาชนกับการเมือง เก่งกิจกล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ปัญหาคือเราไม่มีปัญญาชนสาธารณะที่เป็นคนรุ่นปัจจุบัน เรากำลังพึ่งพาแต่ปัญญาชนสาธารณะในยุคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือยุคก่อนหน้านั้นเสียส่วนใหญ่

"ไม่ว่าเราจะอ้างอิงถึงอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์), สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูล แต่เรายังไม่เห็นว่าเรามีปัญญาชนสาธารณะที่เกิดขึ้นในยุคหลังคอมมิวนิสต์" เก่งกิจกล่าว

เก่งกิจพูดถึงงานสัมมนาเครือข่ายฯ ในวันที่ 12 มี.ค. ที่มีการจัดนำเสนอบทความแลกเปลี่ยนความรู้ ในห้องย่อยเกี่ยวกับอัตลักษณ์แล้วรู้สึกเครียดมาก

"ตกลงนักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยากำลังศึกษาอะไรอยู่ ผมเห็นทุกคนพูดถึงการต่อรองอัตลักษณ์ การช่วงชิงพื้นที่ การนิยามตัวตน ความสัมพันธ์ทางอำนาจ มีแต่ศัพท์พวกนี้เต็มไปหมด" เก่งกิจกล่าวและว่าเมื่อมาเวทีสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา สิ่งที่อยากจะฟังคือสังคมไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร นักรัฐศาสตร์อาจศึกษาในแง่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่ก็อยากรู้ว่านักสังคมวิทยาศึกษาสังคมไทยไปถึงไหนแล้วเราไม่ได้พูดถึงลักษณะสังคมไทยกันอย่างจริงจังในแวดวงมหาวิทยาลัย

เก่งกิจกล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาปัจจุบันคือ ปัญญาชนในยุคโพสท์คอมมิวนิสต์ในสังคมไทยแทบไม่ได้ผลิตองค์ความรู้เรื่องลักษณะของสังคมไทย เราแทบไม่มีงานวิจัยที่พูดถึงโครงสร้างทางชนชั้นในสังคม

"ผมโดนด่าว่าเป็นสารัตถนิยม (Essentialism) พยายามจะหาโครงสร้าง หาภาพรวม ซึ่งผมรู้สึกว่า แล้วไงล่ะ เรากำลังพูดถึงความหลากหลายเยอะแยะไปหมดโดยที่เราไม่เห็นว่าเรามีอะไรร่วมกัน เรามีแต่เรื่องการเมืองเรื่องความต่าง(Politics of Difference) แต่เราไม่มีเรื่องการเมืองที่พูดถึงความเหมือน พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง" เก่งกิจกล่าว

เก่งกิจกล่าวต่อว่า ดังนั้นเราจึงไม่เห็นปัญญาชนสาธารณะ หรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่จะกลายเป็นปัญญาชนสาธารณะในแง่บรรยากาศของการเมืองในยุคปัจจุบัน เพราะปัญญาชนเหล่านี้ไม่มีองค์ความรู้ว่าด้วยลักษณะสังคมไทย หรือไม่ได้สนใจเรื่องรัฐหรืออำนาจที่มีลักษณะเป็นทางการ มีเพียงการเน้นเรื่องชายขอบ เน้นเรื่องชนกลุ่มน้อย เน้นเรื่องชาติพันธุ์ ไม่ได้พูดถึงปัญหาแรงงานทั้งที่แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีแต่การพูดอะไรในเชิงภาพเล็กๆ ไปหมด

ต่อมาเก่งกิจจึงกล่าวโยงประเด็นดังกล่าวกับสังคมไทยในเรื่องการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดงกับกลุ่มที่พวกเขาเรียกว่า "อำมาตย์" โดยเล่าถึงประสบการณ์จากการเป็นนักกิจกรรมว่า นักกิจกรรมที่เข้าร่วมด้วยส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ตั้งใจเรียนหนังสือมากเท่าใด จึงตั้งคำถามว่าจิตสำนึกที่ก้าวหน้ามันเกิดขึ้นในห้องเรียนจริงหรือ คนรุ่น 14 ตุลาฯ-6 ตุลาฯ เกิดจิตสำนึกผ่านห้องเรียนจริงไหม

โดยส่วนตัวเก่งกิจเชื่อว่า การตื่นตัวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนสังคมศาสตร์ แต่เกิดขึ้นผ่านกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังวุ่นวาย ทำให้คนรู้สึกว่าการเมืองมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตเรา การเมืองนอกมหาวิทยาลัยเกี่ยวข้องกับความตื่นตัวทางการเมืองมากกว่า แต่คำถามคือเราจะเปลี่ยนนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมืองนี้ให้กลายมาเป็นนักปฏิบัติการทางการเมืองได้อย่างไร

เก่งกิจเสนอว่า องค์กรทางการเมืองคือหัวใจสำคัญของการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนนักศึกษาในห้องเรียนให้กลายเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมือง มีจิตสำนึกที่ก้าวหน้า เหตุที่ในยุค 14 ตุลาฯ - 6 ตุลาฯ มีนักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมืองมากมาจากตัวเชื่อมสำคัญคือองค์กรนักศึกษาที่ทำงานการเมืองเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งเข้ามาจัดตั้งเชื่อมโยงคนที่มีประเด็นการเมืองหรือความสนใจพื้นๆ เข้ากับทฤษฎีทางการเมืองหรืออะไรที่มันมากไปกว่ามหาวิทยาลัยธรรมดา ในปัจจุบันการที่มีความตื่นตัวทางการเมือง แต่นักศึกษาไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมนั่นเกิดมาจากการที่เราไม่มีองค์กรนักศึกษาที่มีลักษณะการจัดตั้งทางการเมือง มีการอภิปราย ถกเถียงแลกเปลี่ยน แม้กระทั่ง สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) เองก็ไม่ได้ทำงานในลักษณะนี้

ความย่ำแย่ของระบบอุดมศึกษาและระบอบอุปถัมภ์ในวงวิชาการ
ในประเด็นที่ 2 เก่งกิจพูดถึงประสบการณ์การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ว่าการที่ห้องเรียนมัน "ห่วย" หรือไม่สามารถสร้างอะไรได้ มาจากการที่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา "ห่วยแตกสิ้นดี" เขาบอกว่าเขาต้องสอน 6 วิชาใน 1 เทอม แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่มีการเพิ่มอัตราให้เนื่องจากอ้างว่าไม่มีงบประมาณหรืออ้างอย่างอื่น นอกจากนี้ยังต้องทำงานธุรการทุกประเภท

"ผมต้องทำตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ต้องไปเช็คที่ธนาคารว่านักศึกษาจ่ายค่าเล่าเรียนหรือยัง...นี่คือหน้าที่ของคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" เก่งกิจกล่าว

เก่งกิจกล่าวอีกว่าเงินเดือนอาจารย์ก็ต่ำ แม้จะจบปริญญาเอกก็ยังได้เดือนละแค่ 18,000 กว่าบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการไปซื้อหนังสือตำราหรือเตรียมความพร้อมทำงานวิชาการ

"ทุกวันนี้เราโทษว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยชอบออกสอนพิเศษ เอาเข้าจริงคือถ้าไม่สอนพิเศษแล้วจะกินอะไร" เก่งกิจกล่าว เขาบอกว่าที่กล่าวถึงจุดนี้เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าปัญหาอยู่ที่ตัวมหาวิทยาลัยมากกว่าตัวผู้สอน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ (Privatize) ไปแล้ว โดยเก่งกิจเสนอว่าเราจำเป็นต้องมีวิชาพื้นฐานร่วมกันในมหาวิทยาลัยคือวิชาจำพวกสังคมวิทยา สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์

นอกจากนี้ เก่งกิจยังได้กล่าวอีกว่าสิ่งที่เขาอึดอัดมากคือการมีระบบอาวุโสในแวดวงปัญญาชนที่เข้มข้นมาก เราเติบโตมาในบรรยากาศที่คนรอบตัวมีเครือข่ายระบอบอุปถัมภ์ทางวิชาการเต็มไปหมด เราจำเป็นต้องทำงานวิชาการที่อาจารย์เราอยากให้ทำ ซึ่งเป็นพลังที่บั่นทอนคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำงานวิชาการเพราะเราไม่มีทรัพยากรอะไรที่จะทำนอกจากจะเข้าไปสู่ระบบเครือข่าย ระบบอาวุโส ระบอบอุปถัมภ์ในวงการการศึกษา


เกรียงศักดิ์: พื้นที่นักกิจกรรมและพื้นที่นักวิชาการไม่มีสะพานเชื่อมกัน

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ออกตัวว่าสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ตนสอนอยู่เป็นสาขาวิชาที่อยู่ห่างจากสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาพอสมควร และจากประสบการณ์แล้วผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็มักจะทำให้ตนเองต่างจากคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการมีอายุในงานในมหาวิทยาลัยน้อยมาก ตนจึงไม่ใช่คนที่จะพูดเรื่องห้องเรียนสังคมศาสตร์ได้ดีที่สุด

เกรียงศักดิ์กล่าวว่าจากการที่ตนเคยมีประสบการณ์ทำงานในองค์กรภาคประชาชน (เอ็นจีโอ) มาก่อน เขารู้สึกอยู่ตลอดว่าทำไมไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่วิชาการ กับพื้นที่ภาคปฏิบัติการ

"ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาเลยว่า เอ็นจีโอก็ไม่อ่านหนังสือ พวกที่ทำงานเป็นหัวหน้าองค์กรรู้ประเด็นดีมาก แต่ไม่อ่านหนังสือหรอก ไม่รู้ว่าเขาไปถึงไหนพูดอะไรกันอยู่ ขณะที่นักวิชาการก็ทำตัวอยู่อีกฝั่งของถนนมองหากัน แต่ก็ไม่มีอะไรเชื่อมกัน"

เกรียงศักดิ์เล่าต่อว่าพอมาอยู่ในแวดวงวิชาการก็ยิ่งตระหนักว่าไม่มีสะพานเชื่อมระหว่างสองพื้นที่นี้

"สิ่งที่น่าหดหู่ใจคือ...คนที่อยู่ในสายวิชาการรู้สึกพึงพอใจที่ตัวเองตัดขาดจากพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งมันตอกย้ำปัญหาที่เกิดในห้องเรียนสังคมศาสตร์" เกรียงศักดิกล่าว


การศึกษาที่ผลิตซ้ำผู้สมยอมถูกกระทำ

เกรียงศักดิ์กล่าวถึงระบบการเรียนการสอนที่ทำลายความคิดวิพากษ์ของคน ว่าคือวิธีการสอนที่ตั้งอยู่บนวิธีคิดที่บอกว่า "ครูเป็นผู้รู้ แต่ผู้เรียนไม่รู้อะไรเลย" ซึ่งวิธีการเรียนการสอนแบบนี้เรียกว่าการสอนแบบ Banking conception/model หรือการเรียนการสอนแบบการฝากเงิน ซึ่งในห้องเรียนสังคมศาสตร์ก็มีการเรียนการสอนแบบนี้

"เป็นการสอนแบบที่อาจารย์ทุกท่านจะมีบทบาทเป็นผู้ฝากเงิน นักเรียนเป็นผู้รับฝาก สะสมไปเรื่อยๆ จนจบเทอมก็เอามาดูว่ารับฝากไปมากน้อยแค่ไหน" เกรียงศักดิ์ให้ความหมายของ Banking conception/model

เกรียงศักดิ์ บอกว่าการสอนแบบนี้ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่าหากอาจารย์คิด นักเรียนต้องคิดตาม นักเรียนต้องรับฟังอย่างเชื่องๆ ครูเป็นคนวางกฏนักเรียนเป็นคนทำตามกฏ และที่ชัดเจนคือครูเป็นคนเลือกเนื้อหาการสอนตั้งแต่ต้นเทอม

"อีกอย่างหนึ่งคือครูทำให้นักเรียนสับสนระหว่างอำนาจทางวิชาชีพกับอำนาจความรู้" เกรียงศักดิ์กล่าวและว่า "อาจารย์มักใช้อำนาจทางวิชาชีพแทนอำนาจความรู้ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองผิดอยู่ตลอด"

เกรียงศักดิ์มองว่าเมื่อมีการผลิตซ้ำสิ่งเหล่านี้มากๆ เข้า มันก็สนับสนุนการผลิตซ้ำการเป็นผู้กดกับผู้ถูกกดนอกห้องเรียน

"อยู่ในห้องเรียนแทนที่จะเป็นพื้นที่เสรีภาพทางความคิด เราก็ไปกดเขาอีก" เกรียงศักดิ์กล่าวและว่า "สุดท้ายเลยเป็นการทำลายความคิดวิพากษ์ของเด็ก ทำให้คนในสังคมไทยมีแต่คนที่สมยอมถูกกระทำ (Passive) มาก กลายเป็นคนนอกต่อความเป็นจริงทางสังคม"

เกรียงศักดิ์มองว่าลักษณะการเรียนการสอนเช่นนี้เป็นการผลิตคนเพียงแค่ไปเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ตอบโจทย์ทางสังคมศาสตร์ ซึ่งโดยส่วนตัวเขาคิดว่าการเรียนการสอนควรจะทำให้คนเป็นคน (Humanize)

"สังคมศาสตร์ควรจะเรียนแล้วคนต้องเป็นมนุษย์ เราออกไปแล้วเห็นกรรมกรในโรงงานแล้วคุณรู้สึกว่า 'เอ้ย! มันเหมือนกับที่เรียนมาเลย'" เกรียงศักดิ์กล่าว

ในประเด็นเรื่องนักศึกษาขาดส่วนร่วมทางการเมือง เกรียงศักดิ์กล่าวเสริมว่าตัวกิจกรรมนักศึกษาไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์นักกิจกรรม มีการนำระบบว้ากกลับมาใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำลายความเป็นมนุษย์ (Dehumanize) ที่นักศึกษานำมาใช้กับนักศึกษาด้วยกันเอง

เกรียงศักดิ์บอกว่า ตนพยายามขยับขยายพื้นที่โดยการสร้างกิจกรรมนอกห้องเรียน กิจกรรมที่ชวนให้ตั้งคำถาม เช่น การฉายภาพยนตร์ การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งช่วยขยับขยายให้เราไม่ฝากอะไรไว้ในห้องเรียนมาก ให้นอกเวลาเรียนเป็นห้องเรียนได้

เกรียงศักดิ์มองว่า ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังถูกตอกย้ำด้วย Discipline คือระเบียบ ที่พอมันมากเข้าก็ทำให้คนกลายเป็นหุ่นยนต์คิดเองไม่ได้ โดยเกรียงศักดิ์ได้ยกตัวอย่างบทความแปลของเจมส์ สกอตต์ (James Scott) ที่พูดถึงเรื่อง 'Discipline' ไว้ในช่วงต้นบทความ ซึ่ง Discipline แข็งๆ นี้มันทำให้นักวิชาการไม่อ่านงานสาขาอื่น

"อาจารย์เจมส์ สกอตต์ บอกว่างานที่มันเปลี่ยนแปลงโลกคืองานที่มีบทสนทนาระหว่างสาขากัน" เกรียงศักดิ์กล่าวและว่า "และถ้าคุณไปอ่านงานสาขาอื่นแล้วคุณไม่เคยไปยุ่งกับภาคปฏิบัติการเลย รวมถึงยังใช้การเรียนการสอนแบบทุกวันนี้ เราก็จะเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้"

 

 

สำหรับวิทยากรอีก 2 ท่าน "ประชาไท" จะนำเสนอต่อในตอนที่ 2

No comments:

Post a Comment